ผู้เชี่ยวชาญเตือนประชากรสูงอายุของจีนอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหนัก

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 13, 2021 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า นายเรย์มอนด์ หยัง นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (ANZ) ได้ประกาศเตือนว่า ประชากรสูงอายุของจีนที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกในอนาคต เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต้องพึ่งพาจีนซึ่งมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างมาก

ผลการสำรวจสำมะโนประชากรระดับชาติครั้งที่ 7 ของจีนซึ่งจัดทำ 1 ครั้งในรอบ 10 ปีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ระบุว่า จีนมีประชากร 1.41 พันล้านคน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493-2502

"แนวโน้มอัตราการพึ่งพิงของวัยสูงอายุมีแต่จะเพิ่มขึ้น คำเตือนนี้ไม่ใช่สำหรับจีนเพียงประเทศเดียว แต่ทั่วโลกก็ควรจับตามองเช่นกัน เนื่องจากจีนเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน" และ "ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะสูญเสียประชากรแรงงานถึง 70 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก" นายหยังให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี

นายหยังกล่าวเสริมว่า ตลาดการเงินก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาอัตราการออมที่สูงของประชากรจีนได้ช่วยหนุนให้ตลาดทั่วโลกขยายตัวมาโดยตลอด ทั้งนี้ ประชากรจีนมีอัตราการออมที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากนิยมนำเงินออมส่วนเกินไปลงทุนเพิ่มเติม หรือเก็บเงินบางส่วนไว้ในกองทุนบำเหน็จบำนาญ

ผลการสำรวจสำมะโนประชากรยังระบุด้วยว่า อัตราการเกิดยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวลง 15% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การแก้ปัญหาประชากรสูงอายุของจีนนั้น นอกจากการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวเมื่อหลายปีที่แล้ว ยังจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการให้กำเนิดบุตรมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงและประชากรมีอายุมากขึ้น ทั้งนี้ จีนประสบปัญหาคล้ายกับประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจอื่นๆ คือราคาบ้านพักอาศัยและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาที่สูง จนส่งผลให้ประชากรวัยหนุ่มสาวของจีนต้องการมีบุตรน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ