มูลนิธิเกตส์บริจาค 4,000 ล้านบาทช่วยประเทศยากจนเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 20, 2021 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มูลนิธิเกตส์ออกแถลงการณ์ในวันนี้ ระบุว่า ทางมูลนิธิจะจัดสรรเงินจำนวน 120 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,000 ล้านบาทเพื่อช่วยให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านโควิด-19 ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค

แถลงการณ์ระบุว่า เงินดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนความพยายามในการพัฒนาและผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในรูปยาสามัญ

"คำสัญญาของมูลนิธิในวันนี้จะช่วยรับประกันว่าประชาชนมากขึ้นจากอีกหลายประเทศจะสามารถเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ โดยเรายังคงต้องการให้ผู้บริจาครายอื่นๆ ซึ่งรวมถึงมูลนิธิและรัฐบาลต่างๆ ออกมาดำเนินการเช่นกัน" นางเมลินดา เกตส์ ประธานร่วมของมูลนิธิเกตส์กล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิเกตส์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2543 ถือเป็นมูลนิธิเพื่อการกุศลของเอกชนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ และเป็นหนึ่งในมูลนิธิรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมูลนิธิเกตส์ได้บริจาคเงินราว 1.9 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 63,500 ล้านบาท นับตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่เมื่อวานนี้มีรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) มีโครงการที่จะช่วยให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงวัคซีนและยาต้านโควิด-19 โดย WHO จะจัดซื้อยาดังกล่าวในราคาเพียงคอร์สละ 10 ดอลลาร์ หรือราว 300 บาท

แม้ว่า WHO ไม่ได้ระบุโดยตรงถึงการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ แต่เอกสารระบุว่า โครงการ Access to COVID-19 Tools Accelerator (ACT-A) มีแผนที่จะจัดซื้อ "ยาที่ใช้รับประทานตัวใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง" รวมทั้งยาอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 จำนวน 28 ล้านคอร์ส ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า ขณะนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาเพียงตัวเดียวที่มีความโดดเด่นในประสิทธิภาพจากการทดลองระยะที่ 3 สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

โครงการ ACT-A กำลังเจรจากับบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ รวมทั้งเจรจากับผู้ผลิตยาสามัญแห่งอื่นๆเพื่อซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาคอร์สละ 10 ดอลลาร์ ซึ่งหากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ จะทำให้ WHO สามารถซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาถูก เมื่อเทียบกับที่รัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือราว 24,000 บาท โดยรัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส โดยใช้วงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

ก่อนหน้านี้ Harvard School of Public Health และ King's College Hospital ออกรายงานระบุว่า เมอร์คมีต้นทุนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์เพียง 17.74 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 600 บาท และจะสามารถลดต้นทุนเหลือเพียง 7.7 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส หรือราว 260 บาท หากผลิตยาโดยใช้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่เมอร์คได้คิดราคายาจากรัฐบาลสหรัฐสูงถึงคอร์สละ 700 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนถึง 40 เท่า

ทางด้านเมอร์คยังไม่ได้ออกมาชี้แจงต่อรายงานฉบับดังกล่าว แต่ได้ระบุก่อนหน้านี้ว่า ทางบริษัทมีแผนที่จะกำหนดราคายาโมลนูพิราเวียร์โดยอ้างอิงจากการจัดแบ่งกลุ่มประเทศต่างๆตามเกณฑ์รายได้ของธนาคารโลก เพื่อรับประกันการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์อย่างเท่าเทียมกันสำหรับประเทศต่างๆ และเมอร์คได้ทำข้อตกลงกับบริษัทยาอย่างน้อย 8 แห่งในอินเดียเพื่อผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาถูกสำหรับการจำหน่ายในอินเดียและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางจำนวนกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

ขณะนี้เมอร์คได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดรับประทานชนิดแรกในตลาดที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการ

ทางด้านคณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอก จะจัดการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.เพื่อหารือกันว่าจะให้การอนุมัติสำหรับการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 ในสหรัฐเป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งหากให้การอนุมัติ ก็จะเป็นการปูทางให้ FDA ทำการอนุมัติอย่างเป็นทางการต่อไป โดยที่ผ่านมา FDA มักมีมติสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาดังกล่าว แม้ว่าโดยหลักการแล้ว FDA ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการแต่อย่างใด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ