วิจัยพบยาโมลนูพิราเวียร์ทำให้โควิดกลายพันธุ์ และอาจแพร่กระจายได้

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 26, 2023 09:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (Nature) เผยแพร่การวิจัยเมื่อวันจันทร์ (25 ก.ย.) ระบุว่า ยาต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทเมอร์ค (Merck) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น สามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส และไวรัสนั้นสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้เป็นบางครั้ง โดยกรณีนี้ได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ยาดังกล่าวจะเร่งการวิวัฒนาการของโรคโควิด-19

การค้นพบนี้อาจนำไปสู่การเพิ่มการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์ในการรักษาของยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) หรือชื่อทางการค้าว่า ยาลาเกวริโอ (Lagevrio) ซึ่งเป็นหนึ่งในยาต้านโควิดชนิดแรก ๆ ที่แพทย์ทั่วโลกใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ทำให้ข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อโควิดเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้ไวรัสอ่อนแอลง หรือทำลายไวรัส และขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ในบางครั้งเชื้อโควิดรอดพ้นจากการรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ไปได้ ส่งผลให้ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์และแพร่กระจายไปยังผู้ป่วยรายอื่น ๆ

นักวิจัยในสหรัฐและสหราชอาณาจักรได้วิเคราะห์จีโนมของไวรัสโควิดโดยเฉพาะ 15 ล้านจีโนม เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการกลายพันธุ์อะไรเกิดขึ้น และเกิดขึ้นเมื่อใด โดยบรรดานักวิจัยพบว่า มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นในปี 2565 หลังจากที่มีการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในหลายประเทศ

การศึกษาพบว่า ไม่มีหลักฐานว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ก่อให้เกิดเชื้อโควิดที่แพร่กระจายได้มากขึ้น หรือทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น

ดร.ธีโอ แอนเดอร์สัน จากสถาบันฟรานซิส คริคในลอนดอน ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยดังกล่าวระบุบนเอ็กซ์หรือทวิตเตอร์ว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลที่ยังประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของยาโมลนูพิราเวียร์

ด้านโฆษกของเมอร์คไม่เห็นด้วยกับการศึกษาดังกล่าว โดยระบุว่านักวิจัยสันนิษฐานว่าการกลายพันธุ์ที่พวกเขาศึกษานั้นมีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ โดยไม่มีเอกสารที่เป็นหลักฐานพิสูจน์ในเรื่องการแพร่เชื้อ


แท็ก วารสาร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ