ผลวิจัยเผย เศรษฐกิจแย่ทำคนจีนลุกฮือประท้วงมากขึ้น โวยปัญหาแรงงาน-ที่อยู่อาศัย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 20, 2024 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟรีดอม เฮาส์ (Freedom House) องค์กรเคลื่อนไหวด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงานโครงการติดตามการประท้วงในจีน (China Dissent Monitor) ฉบับล่าสุด เผยว่ามีการประท้วง 952 ครั้ง ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดของปี 2566

รายงานระบุว่า 61% ของการประท้วงเกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงาน ส่วนอีก 17% เกี่ยวข้องกับปัญหาที่อยู่อาศัย

โครงการ China Dissent Monitor เริ่มต้นรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 โดยพบว่าประมาณ 18% ของการประท้วงเกิดขึ้นในมณฑลกว้างตุ้ง ซึ่งมากกว่ามณฑลอื่น ๆ ทั้งหมด โดยกวางตุ้งเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานการผลิตจำนวนมาก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แนวโน้มที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนได้ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างซบเซา ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอยู่ในระดับต่ำ แม้การประท้วงจะไม่ใช่เรื่องแปลกในจีน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการประท้วงขนาดเล็กและเกี่ยวข้องกับปัญหาในท้องถิ่น โดยประชาชนหวาดกลัวการถูกปราบปราม การเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และการควบคุมอย่างเข้มงวดบนอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำระดับสูงอย่างเปิดเผย และไม่กล้าท้าทายอำนาจของรัฐบาลอย่างจริงจัง

ในช่วงปลายปี 2565 จีนเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เนื่องจากประชาชนหมดความอดทนกับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อันเข้มงวดของรัฐบาล โดยผู้ประท้วงบางส่วนมุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนได้เริ่มยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ