โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง เมื่อวันที่ 20 มกราคมปีนี้ และครบรอบ 100 วันของการดำรงตำแหน่งในวันนี้ (30 เมษายน)
ในการกล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ทรัมป์กล่าวว่า ยุคทองของอเมริกาได้เริ่มขึ้นแล้ว และเขาจะทำให้สหรัฐฯ กลับมารุ่งโรจน์และได้รับความเคารพอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมองว่า 100 วันแรกแห่งการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในด้านนโยบายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งรื้อรื้อระบบราชการและปรับโครงสร้างหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อ "อ่าวเม็กซิโก" เป็น "อ่าวอเมริกา" ขู่ผนวกมิตรใกล้ชิดสุดอย่างแคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เพิกเฉยต่อสถาบันระหว่างประเทศ หันหลังให้ยูเครน แต่กลับไปเข้าข้างรัสเซีย ไปจนถึงการรีดภาษีศุลกากรกับคู่ค้าทั่วโลก
และนี่คือส่วนหนึ่งของผลงานและเหตุการณ์ปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในช่วง 100 วันแรกของยุคทรัมป์ 2.0
- ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารมากถึง 142 ฉบับ
เอกสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ Federal Register และรายงาน American Presidency Project บ่งชี้ว่า ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารแล้ว 142 ฉบับนับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม
เฉพาะในสัปดาห์แรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารจำนวน 37 ฉบับ และในช่วงปลายเดือนมีนาคม เขาได้ออกคำสั่งฉบับที่ 100 ซึ่งทำลายสถิติของแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐฯ ที่ออกคำสั่ง 99 ฉบับภายในเวลา 100 วัน
ข้อมูลของ American Presidency Project บ่งชี้ว่า คำสั่งส่วนใหญ่ของทรัมป์คือนโยบายหลักที่เขาได้หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งได้แก่การลดขนาดของรัฐบาลกลาง นโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศ นโยบายการเข้าเมืองและความมั่นคงชายแดน นโยบายด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และนโยบายภาษีศุลกากร
อย่างไรก็ดี คำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงคำสั่งที่ระงับความช่วยเหลือต่างประเทศและห้ามทหารข้ามเพศรับราชการทหารนั้น ถูกศาลระงับชั่วคราวในขณะที่คดีความกำลังดำเนินอยู่ โดยศาลฎีกาจะรับฟังการโต้แย้งในเดือนพฤษภาคมเกี่ยวกับคำสั่งของเขาที่พยายามยกเลิกสิทธิพลเมืองโดยกำเนิด
-- ยกเลิกคำสั่งของอดีตปธน.ไบเดนกว่า 100 ฉบับ
การบริหารในช่วงแรกของทรัมป์นั้น หลายอย่างมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว คำสั่งฝ่ายบริหารสามารถถูกยกเลิกหรือแก้ไขโดยประธานาธิบดีคนใหม่
ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ได้ยกเลิกคำสั่งบริหารของไบเดน 78 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยก (DEI) จากนั้นทรัมป์ได้ยกเลิกคำสั่งของไบเดนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการจัดสรรสำมะโนประชากร
ข้อมูลของ American Presidency Project ระบุว่า นับถึงกลางเดือนเมษายน ทรัมป์ได้ยกเลิกคำสั่งของอดีตปธน.ไบเดนไปแล้ว 111 ฉบับ ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์อาจต้องการเอาคืนไบเดนก็เป็นได้ เพราะไบเดนเองก็เคยยกเลิกคำสั่งของรัฐบาลทรัมป์วาระแรกหลายฉบับเช่นกัน โดยนับได้ 76 คำสั่งในช่วงครบรอบ 100 วันแห่งการดำรงตำแหน่งของไบเดนเมื่อปี 2564
"ไม่มีประธานาธิบดีคนใดยกเลิกคำสั่งของผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าบ่อยเท่ากับที่ไบเดนยกเลิกคำสั่งของทรัมป์" แต่ "สถิติของไบเดนถูกทำลายอย่างง่ายดายในยุคทรัมป์ 2.0" รายงานระบุ พร้อมกับเสริมด้วยว่า การยกเลิกคำสั่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง "ความเปราะบางของการพึ่งพาคำสั่งของประธานาธิบดีในการกำหนดวัตถุประสงค์หลักของนโยบาย"
-- สั่งถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การอนามัยโลก และความตกลงปารีส
ในวันที่ 20 มกราคม ทรัมป์ได้ออกคำสั่งบริหารให้ถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นไปตามคำสัญญาในช่วงหาเสียง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแสดงความกังวลว่า การที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก WHO จะส่งผลกระทบต่อการรับมือกับโรคระบาดและความสัมพันธ์ทางการทูตทั่วโลกก็ตาม
ทรัมป์ระบุในคำสั่งดังกล่าวระบุว่า สหรัฐฯ ถอนตัว เนื่องจาก WHO ดำเนินการผิดพลาดในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และวิกฤตสุขภาพระดับโลกอื่น ๆ รวมถึงความล้มเหลวในการดำเนินการปฏิรูปที่จำเป็นเร่งด่วน และไม่สามารถแสดงถึงความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมของประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังระบุถึงการที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินสนับสนุนที่มากเกินไปอย่างไม่เป็นธรรมให้กับ WHO ด้วย
วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ยังได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงดังกล่าว โดยรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความพยายามของทั่วโลกในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ความตกลงปารีสซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2558 เป็นความพยายามของทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์และวิกฤตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการในเดือนก.ย. 2559
-- ลงนามคำสั่งล้างความผิดให้ผู้ต้องหาคดีบุกรัฐสภาปี 64
หนึ่งในภารกิจแรก ๆ ของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีคือการออกคำสั่งอภัยโทษอย่างเต็มรูปแบบและไม่มีเงื่อนไขให้กับทุกคนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับการบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 โดยคำสั่งนี้นำไปสู่การอภัยโทษให้กับผู้ต้องหาประมาณ 1,500 คน ซึ่งหลายสิบคนมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน
คำสั่งดังกล่าวยังลดโทษให้กับบุคคล 14 คนที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 มกราคม โดยทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม Oath Keepers และ Proud Boys กลุ่มหัวรุนแรงซึ่งเป็นหัวโจกในการวางแผนโจมตีอาคารรัฐสภาในวันดังกล่าว
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปในวันที่ 6 มกราคม 2564 กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ได้ก่อเหตุบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา โดยผู้บุกรุกเหล่านี้ได้ทำตามคำยุยงของทรัมป์ที่ให้เดินขบวนไปประท้วงการรับรองชัยชนะของโจ ไบเดน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บกว่า 140 นาย
-- ยุบ USAID - ปลดเจ้าหน้าที่รัฐหลายหมื่นคน พุ่งเป้าลดขนาดรัฐบาลกลาง
หนึ่งในเป้าหมายที่โดดเด่นของการนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีวาระที่สองของทรัมป์คือมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างตำแหน่งของรัฐบาลกลาง ด้วยการจัดตั้งกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ซึ่งนำโดยอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลา โดย DOGE ได้ยุบหน่วยงานหลายแห่งแบบเชิงรุก ให้สิทธิ์ตัวเองในการเข้าถึงระบบข้อมูลที่อ่อนไหวจำนวนมาก และวางแผนการปลดเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางหลายหมื่นคน
แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางจำนวน 75,000 คนยอมรับข้อเสนอเงินชดเชยให้ลาออกในโครงการ Fork in the Road ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจ้างพนักงานลาออก โดยเสนอจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 8 เดือนให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ
นอกจากนี้ ทรัมป์กำลังดำเนินการเพื่อยุบองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ซึ่งเป็นองค์การให้ความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ มานานกว่า 6 ทศวรรษ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการโจมตีหน่วยงานและอำนาจของรัฐสภา ซึ่งได้อนุมัติกฎหมายก่อตั้ง USAID และให้ทุนสนับสนุน
ทั้งนี้ USAID เป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปีงบประมาณ 2566 สหรัฐฯ ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือทั่วโลกมูลค่า 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลสุขภาพสตรีในพื้นที่ขัดแย้ง การเข้าถึงน้ำสะอาด การรักษาผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ ความมั่นคงด้านพลังงาน ไปจนถึงการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยในปี 2567 USAID ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สหประชาชาติ (UN) ติดตามผลคิดเป็น 42% ของทั้งหมด
-- ยื่นมือเป็นคนกลางเจรจายุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ทรัมป์ประกาศตั้งแต่ช่วงหาเสียงว่า การยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ของเขา และหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สหรัฐฯ ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพ โดยทรัมป์อ้างถึงความสัมพันธ์อันดีกับทั้งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี
ทรัมป์ได้เสนอแนวทางการเจรจาที่เน้นการประนีประนอมจากทั้งสองฝ่าย โดยอาจรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะของพื้นที่พิพาทในภูมิภาคไครเมีย ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลไบเดนที่ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ในการต่อสู้เพื่อเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน
อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มต้นเจรจาจริง ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับเซเลนสกีกลับเต็มไปด้วยความตึงเครียด โดยทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำยูเครนอย่างเปิดเผยในหลายโอกาส ทรัมป์กล่าวว่าเซเลนสกีไม่ยอมเจรจาอย่างจริงจังและพยายามดึงสหรัฐฯ ให้เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งมากเกินไป นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้แสดงความไม่พอใจต่อการที่ยูเครนเรียกร้องความช่วยเหลือทางการเงินและอาวุธอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ล่าสุดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวผ่านรายการ "Meet the Press" ของสถานี NBC ว่า รัฐบาลทรัมป์อาจล้มเลิกความพยายามในการไกล่เกลี่ยข้อตกลง หากรัสเซียและยูเครนไม่มีความคืบหน้าในทำให้การหยุดยิงเกิดขึ้น
-- สั่งรีดภาษีถ้วนหน้า-จุดชนวนสงครามการค้ากับจีน
วันที่ 2 เมษายนเป็นเหมือนวันฟ้าผ่า เมื่อทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานและระเบียบการค้าโลกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
ในวันดังกล่าว ทรัมป์ใช้ลานโรส การ์เดนที่ทำเนียบขาวในการจัดงานอีเวนต์ที่ชื่อว่า "Make America Wealthy Again" เพื่อประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ พร้อมระบุว่า "เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศของเราถูกปล้น ถูกรุกราน ถูกข่มขืนใจ และถูกทำลายโดยประเทศต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งจากมิตรและศัตรู"
นโยบายกำแพงภาษีดังกล่าวของทรัมป์ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นวงกว้าง โดยทรัมป์กำหนดภาษีต่อคู่ค้าสหรัฐฯ เกือบทุกประเทศ ไม่สนว่าเป็นมิตรหรือศัตรู แต่ไป ๆ มา ๆ ดูเหมือนว่าการต่อสู้บนสังเวียนการค้าครั้งนี้จะกลายเป็นการดวลกันแบบตัวต่อตัวระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีสินค้าจากทุกประเทศออกไปอีก 90 วัน แต่กลับยกเว้นจีนอยู่เพียงชาติเดียว แถมยังเก็บภาษีสูงขึ้นเป็น 145%
โดยในขณะที่หลายประเทศเร่งรีบติดต่อสหรัฐฯ เพื่อขอเจรจาลดหรือยกเลิกภาษี แต่การเจรจาการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจยังคงมีความไม่แน่นอน โดยทรัมป์เผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังหารือกับรัฐบาลจีนเพื่อบรรลุข้อตกลงเรื่องภาษีศุลกากร และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้โทรศัพท์ติดต่อเขาแล้ว แต่ถูกทางการจีนซัดกลับ กระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันว่า ปธน.สีไม่ได้หารือทางโทรศัพท์กับปธน.ทรัมป์ รวมทั้งระบุว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องยุติการข่มขู่และกดดัน หากต้องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภาษีศุลกากรผ่านการเจรจา โดยระบุว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามภาษีก่อน ดังนั้นสหรัฐฯ ควรแสวงหาการเจรจาบนพื้นฐานของความเสมอภาค การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน
-- ขู่ปลด "พาวเวล" พ้นประธานเฟด เคืองไม่ยอมลดดอกเบี้ย
ทรัมป์ไม่พอใจกับการดำเนินโยบายการเงินของเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มาโดยตลอด โดยนับตั้งแต่เขากลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในวาระสอง ทรัมป์เดินหน้ากดดันให้พาวเวลปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอ้างว่าการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงเป็นเพราะสหรัฐฯ เผชิญภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง
ทรัมป์ขุ่นเคืองใจมากขึ้นเมื่อพาวเวลกล่าวในงานเสวนาของสมาคมเศรษฐกิจแห่งชิคาโก (Economic Club of Chicago) เมื่อวันที่ 16 เมษายนว่า การที่รัฐบาลทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงเกินคาดนั้น อาจทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง อีกทั้งเตือนว่ามาตรการดังกล่าวของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อภารกิจ Dual Mandate ของเฟด โดยภารกิจดังกล่าวคือการทำให้การจ้างงานขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
กระทั่งในวันที่ 21 เมษายน ทรัมป์ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งผ่านการโพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม Truth Social ว่า เขาจะปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งประธานเฟดหากพาวเวลไม่ปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งคำขู่ครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กทรุดตัวลงเกือบ 1,000 จุด เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการกระทำของทรัมป์เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของเฟด
อย่างไรก็ดี หลังจากตลาดร่วงลงอย่างรุนแรงและหลายฝ่ายได้ส่งคำเตือนถึงผลกระทบของการปลดพาวเวล ทรัมป์ก็ยอมถอย โดยเขาประกาศว่าไม่มีเป้าหมายที่จะปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งประธานเฟดก่อนที่พาวเวลจะครบวาระในเดือนพ.ค. 2569 ซึ่งการเปลี่ยนท่าทีของทรัมป์ทำให้ดัชนีดาวโจนส์เด้งรับ และปิดตลาดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดในวันพุธที่ 23 เมษายน
-- ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดหนักสุดนับตั้งแต่ริชาร์ด นิกสัน นั่งตำแหน่งประธานาธิบดี
การดำรงตำแหน่งช่วง 100 วันแรกในสมัยที่ 2 ของทรัมป์ได้สร้างความเสียหายต่อตลาดหุ้นวอลล์สตรีทมากที่สุดนับตั้งแต่การเริ่มต้นการทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1970 โดยข้อมูลจาก CFRA Research ระบุว่า การดิ่งลง 7.9% ของดัชนี S&P500 นับตั้งแต่ทรัมป์สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. จนถึง ณ เวลาปิดตลาดในวันที่ 25 เม.ย. ถือเป็นผลงานที่ย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 100 วันแรก เมื่อนับย้อนกลับไปจนถึงการเริ่มต้นการทำงานในสมัยที่ 2 ของอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน
ในช่วง 100 วันแรกของอดีตประธานาธิบดีนิกสันในปีพ.ศ. 2516 นั้น ดัชนี S&P500 ร่วงลง 9.9% ขณะที่มาตรการที่อดีตปธน.นิกสันใช้ในการสกัดเงินเฟ้อได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะถดถอยในปีพ.ศ. 2516-2518
นอกจากนี้ CFRA Research ระบุว่า ข้อมูลในปีพ.ศ. 2487-2563 บ่งชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ดัชนี S&P 500 มักปรับตัวขึ้น 2.1% ในช่วงการทำงาน 100 วันแรกของประธานาธิบดีส่วนใหญ่
-- คะแนนนิยมทรัมป์ 100 วันแรกต่ำสุดในรอบ 80 ปี
เอบีซี นิวส์ (ABC News) เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) และอิปซอสส์ (Ipsos) ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่จำนวน 2,464 คนในระหว่างวันที่ 18-22 เมษายนพบว่า คะแนนนิยมช่วง 100 วันแรกของทรัมป์ลดลงระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนอื่น ๆ ในรอบ 80 ปี โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่พอใจผลงานของผู้นำประเทศ อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบาย ไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจ และมีกังวลว่าเศรษฐกิจจะเผชิญภาวะถดถอย
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 39% ที่เห็นชอบผลงานของทรัมป์ ซึ่งลดลง 6% นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 55% ไม่เห็นชอบผลงานของทรัมป์ ซึ่งถือเป็นสถิติที่แย่ที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบแปดทศวรรษที่ผ่านมา
ผลสำรวจยังบ่งชี้ด้วยว่า นโยบายหลัก ๆ ของทรัมป์ไม่ถูกใจชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 64% ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของทรัมป์ในการเก็บภาษีนำเข้า และ 71% เชื่อว่านโยบายภาษีของเขาจะทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 73% เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ย่ำแย่ และ 72% กังวลว่านโยบายเศรษฐกิจของเขาอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
แค่เพียง 100 วันหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ก็ทำโลกปั่นป่วนขนาดนี้ เราคงต้องรอดูกันว่าทิศทางของโลกจนถึงวันที่ทรัมป์ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีจะเป็นเช่นไรต่อไป