ภูมิภาคเอเชียใต้กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลก หลังเกิดเหตุกราดยิงในดินแดนแคชเมียร์ฝั่งอินเดียเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ส่งผลให้นักท่องเที่ยว 26 รายเสียชีวิต ถือเป็นเหตุโจมตีพลเรือนที่รุนแรงที่สุดในอินเดียในรอบเกือบ 20 ปี
เจ้าหน้าที่และผู้รอดชีวิตเผยว่า กลุ่มคนร้ายได้คัดแยกเหยื่อที่เป็นชายออกมา ก่อนสอบถามชื่อ แล้วพุ่งเป้าสังหารชาวฮินดูด้วยการลงมือยิงในระยะประชิด โดยตำรวจอินเดียระบุว่า ในบรรดาผู้ก่อเหตุนั้น 2 รายเป็นชาวปากีสถานและเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถาน ซึ่งมุ่งก่อความไม่สงบในแคชเมียร์ ดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลปากีสถานปฏิเสธความเกี่ยวข้องใด ๆ พร้อมเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่เป็นกลาง
ทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านต่างใช้มาตรการตอบโต้กันอย่างดุเดือดหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอินเดียประกาศระงับการบังคับใช้สนธิสัญญาแม่น้ำสินธุฉบับสำคัญ ส่วนปากีสถานได้สั่งปิดน่านฟ้าห้ามเครื่องบินพาณิชย์ของอินเดียผ่าน
มูลเหตุแห่งความขัดแย้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่อินเดีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู กล่าวหาปากีสถาน ซึ่งเป็นรัฐอิสลาม ว่าให้การสนับสนุนทางการเงินและส่งเสริมกลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์ ดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ทั้งสองชาติต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งหมดแต่ปกครองจริงอยู่เพียงบางส่วน ขณะที่ปากีสถานยืนกรานว่า ตนให้เพียงการสนับสนุนทางการทูตและให้กำลังใจแก่ข้อเรียกร้องของชาวแคชเมียร์ในการกำหนดอนาคตตนเองเท่านั้น
*7 พ.ค. 2568 อินเดียเปิดฉากตอบโต้ ปากีสถานสอยเครื่องบินอินเดียร่วง
หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ทำให้เกิดความกังวลว่าอินเดียจะออกมาตอบโต้เมื่อใด โดยเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ปากีสถานเปิดเผยว่ามี "ข่าวกรองที่น่าเชื่อถือ" ว่า อินเดียเตรียมเคลื่อนไหวทางทหารต่อปากีสถานภายใน "24-36 ชั่วโมงข้างหน้า" แต่เมื่อพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้วยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นจากฝั่งอินเดีย
อย่างไรก็ดี ล่าสุดในวันนี้ รัฐบาลอินเดียออกมายืนยันแล้วว่า อินเดียได้ส่งเครื่องบินรบโจมตี "ค่ายฝึกผู้ก่อการร้าย" ที่ตั้งอยู่ในแคชเมียร์ฝั่งที่ปากีสถานควบคุม รวม 9 แห่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้กำกับดูแลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ด้วยตนเอง
ปฏิบัติการครั้งนี้มีชื่อว่า "ปฏิบัติการซินดูร์" (Operation Sindoor) ซึ่งอุทิศให้กับเหล่าสตรีที่สูญเสียสามีจากเหตุกราดยิงดังกล่าว โดยซินดูร์คือผงแป้งสีแดงที่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วในศาสนาฮินดูนิยมทาบริเวณรอยแสกผมบนศีรษะ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าผู้หญิงคนนั้นแต่งงานแล้ว และเป็นสิ่งที่แสดงถึงความผูกพันและการอุทิศตนให้กับสามี
ด้านฝ่ายประชาสัมพันธ์กองทัพปากีสถานได้ออกแถลงการณ์วันนี้ว่า การโจมตีจากอินเดียส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 8 คน รวมถึงเด็ก 1 คน บาดเจ็บอีก 35 คน และสูญหายอีก 2 คน โดยกองทัพอากาศปากีสถานก็ได้ยิงเครื่องบินรบของอินเดียร่วงไปหลายลำเพื่อตอบโต้การที่อินเดียยิงขีปนาวุธใส่พื้นที่ในปากีสถาน ขณะที่รัฐบาลปากีสถานประณามการกระทำของอินเดียว่าเป็นการรุกรานโดยไม่มีเหตุอันสมควร และเป็นการละเมิดอธิปไตยของปากีสถานอย่างชัดเจน
*เทียบหมัดต่อหมัด แสนยานุภาพอินเดีย VS ปากีสถาน ใครเหนือกว่ากัน
ก่อนหน้าที่อินเดียจะเปิดฉากโจมตีในวันนี้ รัฐบาลปากีสถานเคยประกาศกร้าวว่าจะตอบโต้ "อย่างแน่นอนและเด็ดขาด" ต่อปฏิบัติการทางทหารใด ๆ จากฝ่ายอินเดีย นอกจากนี้ อิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ก็เคยออกมาเตือนว่า ปากีสถานพร้อมตอบโต้อินเดีย "อย่างสมน้ำสมเนื้อ"
จากการจัดอันดับกำลังทหาร 145 ประเทศทั่วโลก อินเดียมีความได้เปรียบเหนือปากีสถานอย่างมีนัยสำคัญ โดยแสนยานุภาพทางทหารของอินเดียอยู่ในอันดับที่ 4 จากการจัดอันดับโกลบอล ไฟร์พาวเวอร์ (Global Firepower) ประจำปีนี้ ในขณะที่ปากีสถานอยู่ในอันดับที่ 12
ขณะเดียวกัน นิตยสารมิลิทารี วอตช์ (Military Watch) จัดให้อินเดียเป็นกำลังทหารระดับ 2 (Tier 2) และปากีสถานอยู่ในระดับ 3 (Tier 3) ส่วนในด้านงบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อป้องกันประเทศนั้น อินเดียใช้จ่ายมากกว่าปากีสถานเกือบ 9 เท่า
ด้านกำลังพลนั้น อินเดียมีบุคลากรฝ่ายทหารประมาณ 5,137,550 คน เทียบกับของปากีสถาน 1,704,000 คน และมีกำลังพลประจำการ 1,455,550 คน เทียบกับของปากีสถาน 654,000 คน นอกจากนี้ อินเดียยังมีจำนวนเหนือกว่าในทุกเหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก (2,197,117 คน เทียบกับ 1,311,500 คน) กองทัพอากาศ (310,575 คน เทียบกับ 78,128 คน) และกองทัพเรือ (142,252 คน เทียบกับ 124,800 คน)
ยุทโธปกรณ์ทางทหารของอินเดียก็มีจำนวนมากกว่าปากีสถานอย่างชัดเจน เหนือกว่าทั้งในแง่จำนวนเรือรบ (293 ลำ เทียบกับ 121 ลำ) อากาศยาน (2,229 ลำ เทียบกับ 1,399 ลำ) รถถัง (3,982 คัน เทียบกับ 2,687 คัน) ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อินเดียมีข้อได้เปรียบทางทหารเหนือปากีสถานแทบทุกด้านในการทำสงครามแบบดั้งเดิม
*เชื่อไม่น่าลุกลามเป็นวงกว้าง เหตุภูมิศาสตร์ไม่เอื้อ แถมต้องรับมือหลายทาง
แม้จะมีความแตกต่างด้านกำลังทหารอย่างชัดเจน และเมื่อดูจากตัวเลขก็ดูจะเข้าทางอินเดียมากกว่าหากต้องทำสงครามกับปากีสถานจริง ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามเต็มรูปแบบระหว่างสองประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์นี้มีน้อยมาก
เหตุผลหนึ่งเพราะภูมิประเทศในแถบแคชเมียร์นั้นเป็นเทือกเขาสูงชัน ยากต่อการปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ โดยการที่อินเดียโจมตีปากีสถานในวันนี้ ดูเหมือนจะเป็นเพราะรัฐบาลอินเดียถูกกดดันให้ต้องออกมาตอบโต้สักรูปแบบหนึ่งมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อดูจากแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมอินเดียหลังการโจมตีทางอากาศวันนี้ ซึ่งระบุว่า "ปฏิบัติการของเรามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และไม่มีเจตนายกระดับความขัดแย้ง เราไม่ได้โจมตีฐานทัพของปากีสถานแต่อย่างใด อินเดียแสดงความยับยั้งชั่งใจอย่างมากในการเลือกเป้าหมายและวิธีการปฏิบัติการ"
อีกประเด็นสำคัญคือ อินเดียไม่ได้มีข้อพิพาทกับปากีสถานเพียงประเทศเดียว โดยอินเดียต้องแบ่งกำลังทหารจำนวนมากไปประจำการที่ชายแดนทางเหนือติดจีน ซึ่งก็มีข้อพิพาทเรื่องพื้นที่กับอินเดียเช่นกัน ขณะที่ปากีสถานก็มุ่งความสนใจไปที่ชายแดนติดอัฟกานิสถานมากกว่า
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า กองทัพอินเดียใหญ่กว่าก็จริง แต่อินเดียต้องป้องกันทั้งจีนและปากีสถาน ทำให้อินเดียเสียเปรียบเชิงยุทธศาสตร์ ดังนั้น แม้อาจเกิดการปะทะเล็ก ๆ แต่โอกาสที่จะลุกลามเป็นสงครามใหญ่ยังคงน้อยมาก
*หวั่นกลายเป็นสงครามตัวแทนของชาติมหาอำนาจ
ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 2 ประเทศนี้ เพราะถูกมองว่าอาจกลายเป็นสงครามตัวแทนของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กับจีนได้ เพราะที่ผ่านมานั้น สหรัฐฯ ถูกมองว่าหนุนหลังอินเดียเพื่อคานอำนาจจีน ส่วนจีนก็ถูกมองว่าเป็นพี่ใหญ่ของปากีสถาน
หลายฝ่ายกังวลว่า ข้อพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานอาจกลายเป็นสงครามตัวแทน ในลักษณะที่เคยเกิดขึ้นในสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ถูกมองว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ซึ่งหนุนหลังยูเครน
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองในแง่ดีว่า ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานไม่น่ากลายเป็นสงครามตัวแทนสหรัฐ-จีนได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ช่วยสกัดกั้นโอกาสที่จะเกิดสงครามตัวแทนแบบยูเครน ไม่ว่าจะเป็นการที่ทั้งอินเดียและปากีสถานมีอาวุธนิวเคลียร์ ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นโดยเฉพาะระหว่างจีนกับอินเดีย และการที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนไม่อยากรับมือกับปัญหาหลายด้านพร้อมกัน เพราะสหรัฐฯ เองก็มีปัญหามากมายอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเข้าไปมีบทบาทในการพยายามหาทางออกทางการทูตให้กับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในกาซา
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ มหาอำนาจทั้งสองน่าจะเลือกวิธีแทรกแซงทางอ้อมมากกว่า เช่น สหรัฐฯ อาจช่วยอินเดียผ่านทางการทูต แชร์ข้อมูลข่าวกรอง กดดันทางเศรษฐกิจต่อปากีสถาน และส่งกองเรือรบแสดงแสนยานุภาพ ฝั่งจีนก็น่าจะช่วยปากีสถานผ่านการเจรจาทางการทูต ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และอาจส่งทหารไปประจำการตามแนวชายแดนจีน-อินเดีย แต่ก็ไม่น่าจะปะทะกับทหารอินเดียโดยตรง
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถานน่าจะเป็น "วิกฤตที่ควบคุมได้" มากกว่าจะลุกลามเป็นสงครามเต็มรูปแบบ ทั้งสหรัฐฯ และจีนน่าจะเน้นรักษาอิทธิพลในภูมิภาคด้วยการช่วยเหลือทางอ้อมอย่างระมัดระวัง พร้อมกับทำงานผ่านองค์กรอย่างสหประชาชาติ (UN) และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) เพื่อช่วยให้เกิดการหยุดยิง
*นานาประเทศวอนอินเดีย-ปากีสถานเจรจาโดยเร็ว
ประชาคมโลกได้ออกมาแสดงความกังวลและเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศยุติความรุนแรงโดยเร็ว โดยอันโตนิโอ กุเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า "โลกไม่สามารถแบกรับการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถานได้" พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เรียกเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานว่าเป็น "เรื่องที่น่าเสียดาย" และ "ผมได้แต่หวังว่าเรื่องนี้จะจบลงโดยเร็ว" ขณะที่มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุผ่านเอ็กซ์ (X) ว่า เขากำลัง "จับตาสถานการณ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างใกล้ชิด" พร้อมเสริมว่า วอชิงตันจะยังคงทำงานร่วมกับทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ "เพื่อหาทางออกอย่างสันติ"
ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์ว่า ปฏิบัติการทางทหารของอินเดียเป็นเรื่องน่าเสียใจ และจีนกังวลต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเรียกร้องให้อินเดียและปากีสถานใช้ความยับยั้งชั่งใจ และงดเว้นจากการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ยุ่งยากยิ่งขึ้น และเสริมว่า อินเดียและปากีสถานจะเป็นเพื่อนบ้านกันเสมอ เช่นเดียวกับที่เป็นเพื่อนบ้านของจีน พร้อมย้ำว่าจีนต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า แม้สถานการณ์จะตึงเครียด แต่ทั้งสองประเทศน่าจะไม่ต้องการให้เหตุการณ์บานปลายจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่ต่างก็มีปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไข ในยุคที่ทั่วโลกต่างหาทางรับมือกับมาตรการภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ การที่อินเดียเลือกโจมตีเฉพาะเป้าหมายที่อ้างว่าเป็นค่ายผู้ก่อการร้าย แทนที่จะโจมตีฐานทัพทหารของปากีสถานโดยตรง ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะจำกัดขอบเขตของความขัดแย้งด้วย
ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาคมโลกจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหาทางยุติความขัดแย้งโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นในภูมิภาคที่มีประชากรรวมกันเกือบ 2 พันล้านคนนี้