In Focusส่องเส้นทางความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน พิสูจน์วาทะ "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 28, 2018 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแบบเทกระจาด นำโดยดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดดิ่งลงกว่า 700 จุดในวันพฤหัสบดี (22 มี.ค.) และทรุดต่อลงไปอีกกว่า 400 จุดในวันศุกร์ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายได้สร้างความกังวลไปทั่วหัวระแหงว่า โลกกำลังจะเกิดสงครามการค้า

อย่างไรก็ดี หากลองมองย้อนดูเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ตึงเครียดที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด สองบิ๊กแห่งโลกตะวันตกและตะวันออก เจ้าของสมญานาม "พญาอินทรีย์" และ "พญามังกร" นั้น ได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งดีและร้าย ผ่านทั้งช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้า และการหันหน้าเข้าหากันหลายต่อหลายครั้งตลอดเส้นทางความสัมพันธ์กว่ากึ่งศตวรรษ

จากศัตรู สู่มิตร

จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกานั้นย้อนกลับไปตั้งแต่ที่ เหมา เจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ขณะที่รัฐบาลสหรัฐกลับเลือกที่จะถือหางรัฐบาลจีนคณะชาติของนายเจียง ไคเชก ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนต้องอพยพพร้อมกองพลนับพันนายไปตั้งรัฐบาลที่ไต้หวัน

ในช่วงเวลานั้น สหรัฐและจีนตั้งตัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกันอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงสงครามเกาหลี ปี 1950 ที่สหรัฐสนับสนุนเกาหลีใต้ แต่จีนอุ้มเกาหลีเหนือ หรือเหตุการณ์ที่ชาวทิเบตลุกฮือขึ้นก่อจลาจลต่อต้านการปกครองของจีนในปี 1959 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้องค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ต้องลี้ภัยไปอินเดีย ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกมาประณามรัฐบาลปักกิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อจีนและสหภาพโซเวียตที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในช่วงทศวรรษที่ 1950 กลับมีเรื่องกินแหนงแคลงใจ และเริ่มมีความเห็นไม่ลงรอยกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องอุดมการณ์และรูปแบบการพัฒนาประเทศ หนึ่งในนั้นรวมถึงการที่ประธานเหมาวางนโยบาย "ก้าวกระโดดไกล" (Great Leap Forward) มุ่งนำจีนไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางอุตสาหกรรม ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับโซเวียตเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การเรียกคณะที่ปรึกษาที่เคยส่งไปช่วยจีนให้เดินทางกลับประเทศ ขณะที่จีนเองก็เริ่มไม่อยากอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ส่งผลให้จีนหันไปจับมือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมกันจำกัดอิทธิพลของโซเวียต

โดยในเดือนเมษายน 1971 ทีมกีฬาปิงปองของสหรัฐกลายเป็นคณะผู้แทนจากสหรัฐคณะแรกที่ได้รับคำเชิญให้เดินทางเยือนประเทศจีนในรอบกว่า 20 ปี การเดินทางเยือนจีนของทีมปิงปองสหรัฐในครั้งนั้นได้นำไปสู่การฟื้นฟูสัมพันธภาพจีน-สหรัฐให้กลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากที่สองประเทศได้ตัดความสัมพันธ์กันมายาวนานกว่าสองทศวรรษ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของคำว่า "การทูตปิงปอง" ("Pingpong Diplomacy") และนับเป็นการปูทางไปสู่การเดินทางเยือนจีนครั้งแรกของผู้นำสหรัฐในเวลาต่อมา

ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เป็นผู้นำสหรัฐคนแรกที่ได้ก้าวเท้าแตะแผ่นดินจีนในปี 1972 และในการเยือนครั้งนั้น ประธานาธิบดีนิกสันและนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Communique) ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ร่วมฉบับแรกระหว่างสองประเทศ ซึ่งหลักใหญ่ใจความของแถลงการณ์ฉบับนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกายอมรับในนโยบาย "จีนเดียว" (One China) หรือมีจีนประเทศเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1979 จีนและสหรัฐภายใต้การนำของ จิมมี่ คาร์เตอร์ ก็ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ในระดับเอกอัครราชทูต โดยสหรัฐอเมริกาประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างสิ้นเชิง ยกเลิกสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน (U.S.-Taiwan Mutual Defense Treaty) และถอนทหารที่เหลือออกจากไต้หวัน

จากนั้นในวันที่ 28 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 รองนายกรัฐมนตรี เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของประธานาธิบดี นับเป็นผู้นำจีนคนแรกที่ได้เดินทางเยือนสหรัฐ และถือเป็นการเปิดบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ

ความสัมพันธ์ลุ่ม ๆ ดอน ๆ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จีนและสหรัฐได้ฟื้นฟูสัมพันธไมตรีและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกันแล้ว แต่ใช่ว่าเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะราบรื่น เพราะจนแล้วจนรอดก็ยังมีปัญหาแก้ไม่ตกที่ทำให้สองประเทศไม่สามารถวางตัวเป็น "มิตร" กันได้อย่างสนิทใจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทวิภาคีอย่างเรื่องไต้หวัน ค่าเงินหยวน ช่องว่างทางการค้า ไปจนถึงปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่าง เกาหลีเหนือ การแผ่อิทธิพลในทะเลจีนใต้ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน

โดยความสัมพันธ์จีน-สหรัฐกลับสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้งในระหว่างปี 1989-1996 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ที่จีนใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 1989 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน เหตุการณ์นี้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก และนำไปสู่รอยร้าวในความสัมพันธ์ที่กำลังทำท่าว่าจะไปได้สวยระหว่างจีนและสหรัฐ โดยสหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรจีน ซึ่งรวมถึงการระงับการขายอาวุธและการส่งออกอื่น ๆ ให้แก่จีน แถมสหรัฐยังได้หันไปยกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งรวมถึงการขายเครื่องบินรบ F-16 จำนวน 150 ลำให้กับไต้หวัน ซึ่งยิ่งบาดลึกความสัมพันธ์จีน-สหรัฐให้ยิ่งเข้าหน้ากันไม่ติดมากยิ่งขึ้น

ในปี 1993 สหรัฐเริ่มใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจกดดันรัฐบาลจีนในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ต่อมาในเดือนมีนาคม 1996 ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศมาถึงจุดเดือด เมื่อจีนทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามช่องแคบไต้หวัน ก่อนที่ไต้หวันจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่งผลให้สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวนสองลำและเรือรบอื่น ๆ ไปลอยลำยังบริเวณดังกล่าวเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือหากจีนเปิดฉากสงครามขึ้น

แต่สถานการณ์เริ่มพลิกไปในทางที่ดี เมื่อความสัมพันธ์ที่ใกล้แตกร้าวได้รับการเยียวยา โดยในวันที่ 27 ตุลาคม 1997 ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิง เดินทางเยือนสหรัฐ ตามคำเชิญของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งในครั้งนั้น ผู้นำจีนได้พบปะกับวุฒิสมาชิกสหรัฐกว่า 30 ราย และได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งผู้นำจีนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขความแตกต่างและปรับปรุงความสัมพันธ์จีน-สหรัฐให้ดีขึ้น

ต่อมา บิล คลินตัน ได้จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนจีนภายหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน โดยประธานาธิบดี บิล คลินตัน พร้อมนางฮิลลารี ภริยา และเชลซี บุตรสาว ได้เดินทางเยือนจีนในระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 1998

ความสัมพันธ์ที่ทำท่าว่าจะดีมีอันต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐชนเข้ากับเครื่องบินจีนเหนือทะเลจีนใต้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2001 เป็นเหตุให้นักบินจีนเสียชีวิต ขณะเครื่องบินสหรัฐจำเป็นต้องลงจอดที่เกาะไหหลำโดยไม่มีการขออนุญาต ด้านจีนกล่าวหาสหรัฐว่าบังคับเครื่องบินของตนเข้าชนเครื่องบินของจีน ซึ่งเหตุพิพาทดังกล่าวนำไปสู่การกักตัวลูกเรือชาวอเมริกัน 24 คนเป็นเวลา 9 วัน

อย่างไรก็ดี ในที่สุดก็มีเรื่องที่ดึงจีนและสหรัฐให้หันหน้าเข้าหากัน โดยในเดือนตุลาคม 2001 ผู้นำจีนและสหรัฐประสานเสียงสนับสนุนการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิง และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้จัดแถลงข่าวร่วมกันในเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2001 ในระหว่างการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งบุชได้แสดงความชื่นชมจีนที่สนับสนุนความพยายามของสหรัฐในการปราบปรามการก่อการร้าย หลังเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน ขณะเดียวกัน ผู้นำทั้งสองยังได้ประกาศส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์

แย่งชิงความเป็นหนึ่ง

แต่แล้วเมื่อจีนรุกคืบสู่ความเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ทำให้สหรัฐซึ่งเคยเป็นพี่ใหญ่มาตลอดนั้นยอมไม่ได้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้ลงนามใน U.S.-China Relations Act เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2000 ซึ่งนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศกลับสู่ภาวะปกติอย่างถาวร พร้อมปูทางให้จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 โดยในระหว่างปี 1980-2004 นั้น การค้าระหว่างจีนขยายตัวขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์ เป็น 2.31 แสนล้านดอลลาร์ และในปี 2006 จีนได้แซงหน้าเม็กซิโกขึ้นเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ รองจากแคนาดา

ต่อมาในเดือนกันยายน 2008 จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ราว 6 แสนล้านดอลลาร์ จากนั้นเดือนสิงหาคม 2010 จีนก็แซงหน้าญี่ปุ่นอีกครั้งขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่า 1.33 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ของปี 2010 สูงกว่าญี่ปุ่นซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจที่ 1.28 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนั้นอยู่เล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จีนจะเดินหน้าเขี่ยสหรัฐลงจากบัลลังก์เศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกภายในปี 2027 จากการวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์

ความกลัวว่าจีนจะแผ่ขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ส่งผลให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามาประกาศนโยบาย "ปักหมุดเอเชีย" (Pivot to Asia) เพื่อต่อกรกับจีน โดยสหรัฐหวังว่าจะหวนกลับมารุกคืบแผ่ขยายอิทธิพลสู่โลกตะวันออกอีกครั้ง หลังนิ่งนอนใจปล่อยให้จีนวางตนเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้มานาน และในการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ในเดือนพฤศจิกายน 2011 ปธน.โอบามาประกาศว่า สหรัฐและอีก 8 ชาติ ได้บรรลุความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิกฟิก (TPP) ซึ่งสร้างความไม่พอใจและเรียกเสียงวิจารณ์จากจีน

อย่างไรก็ดี ในปี 2012 ดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะกลับมาดีขึ้น ภายใต้การนำของผู้นำจีนคนใหม่อย่าง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยปธน.โอบามาและปธน.สีได้จุดประกายความหวังใหม่ถึงการคลี่คลายความตึงเครียดบนเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ผู้นำทั้งสองต่างผลัดกันเดินทางเยือนประเทศของอีกฝ่าย พร้อมให้คำมั่นว่า จะร่วมมือกันแก้ไขประเด็นความขัดแย้งต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งประเด็นระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับโลก

ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐในยุคของ "ทรัมป์"

แต่พอรัฐบาลผลัดใบ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐก็กลับมาถูกเมฆหมอกปกคลุมอีกครั้ง เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งทำเนียบขาว โดยนายทรัมป์ได้รับโทรศัพท์จากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ผู้นำหญิงแห่งไต้หวัน ที่โทรไปแสดงความยินดีที่เขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปลายปี 2016 ซึ่งการกระทำของทรัมป์ครั้งนั้นถือว่าแหวกธรรมเนียมการทูตที่สหรัฐยึดถือมาหลายสิบปี และทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าสหรัฐจะยังคงเคารพในหลักการ "จีนเดียว" อยู่หรือไม่

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐภายใต้การคุมบังเหียนของทรัมป์นั้น อาจเปรียบได้กลับการนั่งรถไฟเหาะตีลังกา โดยหลังจากที่เริ่มต้นไม่ดีนัก แต่หลังจากนั้น ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ให้การต้อนรับปธน.สี จิ้นผิง ณ รีสอร์ทส่วนตัว มาร์-อา-ลาโก ในรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2017 ซึ่งเป็นการพบปะกันครั้งแรกของผู้นำทั้งสอง โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกัน ปธน.ทรัมป์ได้ออกมาเปิดเผยว่าการเยือนสหรัฐของผู้นำจีนนั้นสิ้นสุดลงด้วยดีและคืบหน้าไปมาก โดยจีนตกลงเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐในหลายทาง สอดคล้องกับความเห็นของสี จิ้นผิง ที่ระบุว่า จีนและสหรัฐต่างเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อไปในอนาคต

จากนั้นถึงคราวผู้นำสหรัฐเดินทางเยือนจีน ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2017 ซึ่งปธน.สีและทางการจีนก็ได้เปิดพระราชวังต้องห้ามต้อนรับผู้นำสหรัฐและคณะอย่างยิ่งใหญ่

อะไร ๆ กำลังจะไปได้ดีอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบ และยังไม่ทันได้พักหายใจหายคอ ทรัมป์ก็สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลกอีกครั้งว่าโลกอาจจะเกิดสงครามการค้าขึ้น เมื่อเขาได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยระบุว่าเป็นการลงโทษจีนที่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ

ด้านรัฐบาลจีนไม่ยอมนิ่งเฉย ออกมาตอบโต้ด้วยการประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์ โดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวกับนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐว่า จีนพร้อมใช้มาตรการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ล่าสุดสถานการณ์เริ่มพลิกอีกครั้ง เมื่อนางหัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 26 มีนาคมนี้ว่า จีนพร้อมเปิดการเจรจากับสหรัฐเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่า ท่าทีที่อ่อนลงของจีนนั้นจะเรียกความเห็นใจจากทรัมป์ได้หรือไม่

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์สหรัฐและจีนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น จะเรียกว่า "ศัตรู" ก็ไม่ใช่ "มิตร" ก็ไม่เชิง ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร" ในเกมการเมือง โดยเฉพาะในเวทีการเมืองระดับโลก ที่มีสองผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกตะวันตกและตะวันออกคานอำนาจกันอยู่เช่นนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ