In Focusอนาคตการเมืองกัมพูชาหลัง "สมเด็จฮุน เซน" คว้าชัยเลือกตั้งอีกสมัย สู่การปกครองแบบพรรคเดียวเบ็ดเสร็จ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 1, 2018 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า "พรรคประชาชนกัมพูชา" หรือ CPP ของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา คว้าชัยชนะอย่างถล่มถลายจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาคมนานาชาติถึงความไม่ชอบธรรม เนื่องจากปราศจากพรรคการเมืองคู่แข่งหลักลงชิงชัย ยังไม่รวมถึงการดำเนินมาตรการที่ไม่ชอบมาพากล สร้างความได้เปรียบให้กับพรรครัฐบาลในการเลือกตั้ง In Focus สัปดาห์นี้จึงได้หยิบยกประเด็นผลการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาครั้งนี้มานำเสนอ เพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางอนาคตการเมืองกัมพูชาที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียว

  • กวาดที่เรียบทุกที่นั่งในสภา

พรรคประชาชนกัมพูชาหรือ CPP ของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 ประกาศชัยชนะเหนือศึกการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าสามารถกวาดเรียบทั้งหมด 125 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนนเสียง 77.5% ก่อนหน้าที่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะเปิดเผยในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

ผู้นำกัมพูชาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวหลังเสร็จสิ้นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ไร้คู่แข่งหลักและถูกคัดค้านจากสหภาพยุโรปหรืออียูและรัฐบาลสหรัฐ โดยระบุว่า "เพื่อนร่วมชาติกัมพูชาลงมติเลือกเส้นทางประชาธิปไตยและได้ใช้สิทธิ์ออกเสียงของตนเองแล้ว"

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้เดินทางออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 82.71% จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านคน แต่กลุ่มเคลื่อนไหวระบุว่า บรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงในชนบทและกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานถูกกดดันให้ออกไปเลือกตั้ง จึงทำให้รายงานตัวเลขผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวนมากเกินกว่าความเป็นจริงอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชาหรือ NEC ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเสียมากถึง 594,843 ใบ หรือประมาณ 9% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีพ.ศ. 2556 ที่พบบัตรเสียจำนวน 108,085 ใบ หรือคิดเป็น 1.6% เท่านั้น ซึ่งอาจถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังเงียบต่อต้านรัฐบาลของประชาชนที่ต้องขมขื่นจากระบอบการปกครองในกัมพูชา

แต่ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรค CPP เหนือการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลทำให้ประเทศกัมพูชา เข้าสู่ระบอบบการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวอย่างเบ็ดเสร็จ และเปิดทางให้สมเด็จฮุน เซน บริหารประเทศต่อออกไปอีก 5 ปี โดยไม่มีขั้วตรงข้ามทางการเมืองทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบเนื้อหาการทำงานของรัฐบาลอย่างแท้จริง แม้จะมีอีก 19 พรรคการเมืองเล็กที่ร่วมลงชิงชัยและได้รับที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนหนึ่งก็ตาม

  • ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดคนหนึ่งของโลก แม้ว่าจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและนำพาประเทศสู่สันติภาพ หลังกัมพูชาบอบช้ำอย่างหนักในช่วงที่ปกครองด้วยระบอบเขมรแดง แต่ผู้นำรายนี้ยังถูกมองว่าเป็นผู้นำเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย ยังไม่รวมถึงความพยายามในการใช้หน่วยงานรัฐเป็นเครื่องมือกำจัดคู่แข่งทางการเมืองและผู้เห็นต่าง ด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ยังปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รัฐบาลภายใต้การนำของสมเด็จฮุน เซน ได้สั่งปิดสำนักข่าว สถานีวิทยุราว 32 แห่งทั่วประเทศที่นำเสนอรายงานวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชา รวมถึง สถานีวิทยุ Radio Free Asia พร้อมเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากหนังสือพิมพ์เดอะ แคมโบเดีย เดลี หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษเป็นจำนวนเงิน 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ต้องปิดตัวลงในที่สุด

รัฐบาลกัมพูชายังใช้อำนาจในทางที่มิชอบในการกวาดล้างขั้วตรงข้ามทางการเมือง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีการจับกุมนายเขม โสกา ผู้นำคนใหม่ของพรรค CNRP เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ด้วยข้อหากบฎ จากการกล่าวหาว่าร่วมมือกับสหรัฐในการล้มล้างรัฐบาล ส่งผลให้ในเวลาต่อมาบรรดานักการเมืองอาวุโสฝ่ายตรงข้ามจำนวนมากต่างลี้ภัยออกนอกประเทศ เพื่อความปลอดภัย

และหลังจากนั้นเพียง 2 เดือน ศาลสูงกัมพูชามีคำตัดสินยุบพรรค CNRP และมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคจำนวน 118 คน ห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมืองเป็นเวลานาน 5 ปี ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการปูทางให้พรรครัฐบาลกัมพูชาคว้าชัยชนะในศึกการเลือกตั้งทั่วไปปี 2561 ที่เพิ่งปิดฉากลงไม่กี่วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี พรรค CPP ของสมเด็จฮุนเซน เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นภายใน 60 วันแล้ว โดยโฆษกของพรรคระบุว่า พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชาจะทรงโปรดเกล้าให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกใหม่ทั้งหมดเข้าประชุมสภาภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้งแล้ว

*ประชาธิปไตยกัมพูชาตายแล้ว?

ขณะที่นักวิจารณ์หลายรายระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ถือเป็นก้าวถอยหลังของประชาธิปไตยในกัมพูชา หลังศาลสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชาหรือ CNRP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก และการดำเนินคดีนายสม รังสี อดีตผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญ จนทำให้ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2558

นายสม รังสี อดีตผู้นำพรรค CNRP เปิดเผยว่า "ชัยชนะในการเลือกตั้งซึ่งปราศจากการแข่งขันถือเป็นชัยชนะที่กลวงโบ๋สำหรับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน อดีตผู้บัญชาการเขมรแดงที่ปกครองกัมพูชาถึง 33 ปี" และ "ผลการเลือกตั้งของการเลือกตั้งจอมปลอม ที่จัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวนั้นเป็นการทรยศต่อเจตจำนงของประชาชน"

ก่อนหน้านี้ นายสม รังสี และบรรดาผู้นำพรรค CNRP เรียกร้องให้ประชาชนชาวกัมพูชาคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยการรณรงค์ผ่านโครงการ "Clean Finger" รวมถึงการนอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ออกไปลงคะแนนเสียง เนื่องจากฝ่ายค้านกัมพูชามองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ขาดความโปร่งใสและไร้ความน่าเชื่อถือ

ด้านรองประธานพรรค CNRP แถลงเรียกร้องให้นานาชาติปฎิเสธผลการเลือกตั้ง โดยระบุว่า "วันที่ 29 กรกฎาคมถือเป็นวันแห่งการสูญสิ้นประชาธิปไตยในกัมพูชา และเป็นวันแห่งความมืดหม่นครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์ของประเทศ" และ "ประชาคมระหว่างประเทศควรที่จะปฏิเสธผลการเลือกตั้งที่พรรค CPP และคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศออกมาด้วย"

  • เผชิญแรงต้านจากทุกสารทิศ

หลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาเป็นที่ปรากฎแน่ชัด รัฐบาลนานาประเทศต่างออกมาประณามกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทำเนียบขาวของสหรัฐที่ออกแถลงการณ์ระบุว่า ผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาที่ปราศจากความบริสุทธิ์ยุติธรรม และไม่ปรากฎถึงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนกัมพูชา ทั้งยังเป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยมลทิน จากการขาดพรรคฝ่ายค้านหลัก รวมถึงย้ำเตือนถึงภาวะเสื่อมถอยในระบอบประชาธิปไตยของกัมพูชา และมองว่าเป็นบ่อนทำลายความสำเร็จของบทบาทส่งเสริมการประนีประนอมทางการเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา นับตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส เมื่อปี 2534

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐกำลังเล็งพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อตอบโต้การเลือกตั้งและการถดถอยของสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตยในกัมพูชา ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจรวมถึงการขยายข้อจำกัดวีซ่าที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 แก่เจ้าหน้าที่ทางการเมืองของกัมพูชาเพิ่มเติม

ด้านสหภาพยุโรปหรืออียู เล็งพิจารณาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อกัมพูชาเพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นชอบต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนรัฐบาลออสเตรเลียแสดงความเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าว โดยนางจูลี่ บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียแสดงความเป็นกังวลว่า พรรคการเมือง กลุ่มประชาสังคมและสื่อมวลชนจะถูกปิดกั้นจากการปฎิบัติหน้าที่อย่างอิสระเสรี และประเทศกัมพูชาจะถอยกลับไปสู่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเมื่อกว่า 25 ปีก่อน

นอกจากนี้รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียยังระบุด้วยว่า "รัฐบาลออสเตรเลียผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนกัมพูชาไม่อาจลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนของตนได้อย่างเสรี" และออสเตรเลียจะกระตุ้นให้กัมพูชาเปิดทางสู่การถกเถียงทางการเมืองอย่างเสรีและเปิดเผย โดยปราศจากความรุนแรงและการข่มขู่คุกคาม เช่นเดียวกับแคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นและปฏิเสธที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ดี โฆษกพรรค CPP ออกมาตอบโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติว่า แถลงการณ์ของทำเนียบขาวถือเป็นความพยายามที่จะข่มขู่กัมพูชา และเป็นการต่อต้านชาวกัมพูชาที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการตัดสินชะตาของตัวเอง

  • ความหวังของประชาชน

ด้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกัมพูชาบางส่วนได้แสดงจุดยืนต้องการให้สถานการณ์ของประเทศหลังการเลือกตั้งยังคงธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และหวังว่า ทุกฝ่ายจะเคารพผลการเลือกตั้งที่ปรากฎออกมา โดยชาวกัมพูชารายหนึ่งเปิดเผยว่า ไม่อยากเห็นการประท้วงหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส่วนผู้สนับสนุนพรรค CPP อีกรายกล่าวว่า พรรครัฐบาลนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างนับไม่ถ้วน ทั้ง การพัฒนาถนน สะพาน โรงเรียน โรงพยาบาลและระบบชลประทานสำหรับประเทศ ตนเชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของพรรค CPP ประเทศจะสงบสุขและพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม

สอดคล้องกับผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปไตยกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาล ยังเห็นพ้องว่าสันติภาพถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ดี ชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่นเดียวกับคนขับรถรับจ้างอีกรายที่กล่าวว่า กัมพูชาได้รัฐบาลภายใต้การนำสมเด็จฮุน เซน มาปกครองประเทศอีกครั้ง

  • แรงหนุนเพียงหนึ่งเดียว

แม้จะเผชิญกับกระแสต่อต้านและการไม่ยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่กัมพูชากลับได้แรงสนับสนุนจากจีน ซึ่งปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จด้วยพรรคการเมืองเดียวเช่นกัน ผ่านการช่วยเหลือและเงินสนับสนุนมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับทดแทนงบประมาณการเลือกตั้งของชาติตะวันตกที่ปฎิเสธความช่วยเหลือครั้งนี้

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและมอบเงินกู้ยืมแก่กัมพูชามูลค่ามหาศาลผ่านกรอบความร่วมมือทวิภาคีและความริเริ่มหนึ่งแถบและเส้นทางหรือ BRI นอกจากนี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนยังออกแถลงการณ์ชื่นชมการเลือกตั้งของกัมพูชาว่าประสบความสำเร็จ และแสดงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาเป็นเรื่องภายในของกัมพูชา พร้อมหวังว่าประชาคมระหว่างประเทศจะมอบความช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ต่อกัมพูชา เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป

  • ความท้าทายของอนาคตกัมพูชาหลังยุคสมเด็จฮุน เซน?

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายแสดงความเป็นกังวลว่า แม้พรรค CPP จะก้าวขึ้นมาบริหารประเทศต่อไปอีก 5 ปี แต่รัฐบาลจะยังคงต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างที่สำคัญในประเทศจากปัญหาความไม่เสมอภาคของรายได้และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ท่ามกลางการจับตาสถานการณ์ของประเทศในยุคหลังสมเด็จฮุน เซนว่าจะดำเนินต่อไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าจะเอนเอียงเข้าหารัฐบาลจีนและออกห่างจากชาติตะวันตก เหมือนเช่นในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซนหรือไม่ อย่างไรก็ดีความวิตกกังวลล่วงหน้าเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นจริงก็เป็นได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้นำกัมพูชาพยายามที่จะรักษาอำนาจของตัวเองผ่านพันธมิตรทางการเมืองและครอบครัว รวมถึงขยายอิทธิพลในหน่วยงานรัฐ ทั้ง ตำรวจ ทหารและสื่อสารมวลชน พร้อมวางตัวบุตรชายในตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างอาณาจักรทางการเมืองและสืบทอดอำนาจต่อไปในอนาคตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ