In Focusจับตาชะตาการเมือง "ทรัมป์" จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือไม่ หลังอดีต 2 ทีมงานใกล้ชิดรับผิดคดีฉาว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 29, 2018 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระแสคุกรุ่นเขย่าแวดวงการเมืองสหรัฐล่าสุด คงหนีไม่พ้นกรณีที่อดีต 2 ทีมงานใกล้ชิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมายหลายกระทงในวันเดียวกัน ตั้งแต่นายไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความของทรัมป์ ที่ออกมายอมสารภาพผิดในคดีอาญาถึง 8 คดี และนายพอล มานาฟอร์ต อดีตผู้จัดการทีมหาเสียงของรีพับลิกัน ที่ถูกศาลสหรัฐตัดสินจำคุกในคดีฉ้อโกง หนีภาษี และก่อกวนพยานในคดีที่รัสเซียอาจมีส่วนก้าวก่ายการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2559 จนทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า มรสุมลูกใหญ่ครั้งนี้จะส่งผลให้ปธน.ทรัมป์ต้องเข้าสู่กระบวนการ "Impeachment" หรือการถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐหรือไม่

  • "ไมเคิล โคเฮน - พอล มานาฟอร์ต" ตัวละครสำคัญผู้พา "ทรัมป์" ดิ่งเหว

สัปดาห์หายนะของโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังนายไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความคู่ใจของเขา และนายพอล มานาฟอร์ต ผู้จัดการแคมเปญหาเสียงของพรรครีพับลิกัน ได้ถูกดำเนินคดีอาญาในวันเดียวกัน จากการยื่นฟ้องของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษที่รับผิดชอบคดีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2559

นายพอล มานาฟอร์ต อดีตผู้จัดการทีมหาเสียงของทรัมป์ ถูกศาลรัฐเวอร์จิเนียตัดสินจำคุกในข้อหาพยายามก่อกวนพยานในคดีที่รัสเซียถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนก้าวก่ายการเลือกตั้งสหรัฐ อีกทั้งยังถูกยื่นฟ้องในข้อหาฟอกเงินและฉ้อโกงอีกหลายคดี ส่งผลให้นายมานาฟอร์ตถูกกักบริเวณ ติดอุปกรณ์ติดตามตัว และอาจจะต้องจำคุกอีกหลายสิบปี ซึ่งนายมานาฟอร์ตถือเป็นผู้ต้องหารายแรกที่ถูกดำเนินคดีจากการสืบสวนของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์

แต่วาระกรรมของทรัมป์ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากนั้นเพียงอีกไม่กี่นาที นายไมเคิล โคเฮน ก็ได้ออกมารับสารภาพกับศาลนิวยอร์กว่า เขาได้ทำความผิดคดีอาญา 8 คดี โดยมี 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนกฎหมายเงินทุนเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง ซ฿่งโคเฮนได้นำเงินไปจ่ายให้กับคาเรน แมคโดกัล อดีตนางแบบนิตยสารเพลย์บอย และสตอร์มี เดเนียลส์ ดาราหนังผู้ใหญ่ เพื่อเป็น "ค่าปิดปาก" ว่าทั้งสองสาวเคยมีสัมพันธ์สวาทกับทรัมป์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนที่สหรัฐจะเปิดฉากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 เพื่อเป็นการปกป้องภาพลักษณ์ให้กับว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันนั่นเอง

แน่นอนว่าการใช้เงินดังกล่าวเป็นการละเมิดกฏหมายเงินทุนเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของสหรัฐ ซึ่งห้ามไม่ให้มีการบริจาคหรือรับเงินบริจาคเงินเกิน 2,700 ดอลลาร์ต่อครั้ง โดยนายโคเฮนได้จัดตั้งบริษัท Essentail Consultants LLC ขึ้นมาบังหน้า เพื่อจ่ายเงินให้เดเนียลส์ถึง 130,000 ดอลลาร์ และได้ขอให้ National Enquirer จ่ายเงินให้กับคาเรน แมคโดกัลอีก 150,000 ดอลลาร์ แต่ฝ่ายทรัมป์ก็ได้ออกมาโต้แย้งว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับกองทุนเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งใด ๆ

ทว่า... เรื่องราวต่าง ๆ ยังไม่จบลงง่าย ๆ เพราะต่อมาในวันศุกร์ นายอัลเลน ไวส์เซลเบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของทรัมป์ ออแกร์ไนเซชั่น ซึ่งทำงานกับทรัมป์มายาวนานชนิดรู้ตื้นลึกหนาบางของทรัมป์เป็นอย่างดี ก็ได้รับสิทธิคุ้มครองจากพนักงานอัยการสหรัฐให้สามารถพูดถึงคดีของนายโคเฮนได้อย่างอิสระ ซึ่งถึงแม้ทีมทนายความของทรัมป์จะยืนยันว่าพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่หากสิทธิคุ้มครองดังกล่าวเปิดโอกาสให้นายไวส์เซลเบิร์กสามารถพูดสิ่งที่เขารู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการเงินของทรัมป์... ก็อาจเป็นข่าวใหญ่ได้ในสัปดาห์นี้เลยทีเดียว

คดีความในครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างที่ทรัมป์เคยรอดตัวมาแล้วหลายครั้ง ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า หากพรรคเดโมแครตสามารถชิงเสียงข้างมากได้ในการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 6 พ.ย.นี้ โอกาสที่จะมีการผลักดันกฎหมาย Impeachment เพื่อขับทรัมป์ออกจากตำแหน่ง... ก็คงจะมีอยู่ไม่น้อย

  • คดีทรัมป์เขย่าตลาดหุ้น… จริงหรือ ?

ทรัมป์เองก็คงรู้ตัวดีว่าตนเองตกที่นั่งลำบาก แต่นี่คือ "ทรัมป์" ชายผู้ไม่เคยยอมแพ้ใคร เขาจึงออกมาประกาศกร้าวหลังเกิดเรื่องราวกับคนใกล้ชิดว่า "ไล่ผมออกสิ แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น!"

"ผมจะบอกคุณให้นะ ถ้าผมถูกถอดออกจากตำแหน่งจริง ตลาดหุ้นจะต้องพังพินาศ คนอเมริกันจะต้องจนลงอีก แล้วคุณจะได้เห็นอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ตัวเองจะคาดไม่ถึงเลยทีเดียว"

แม้คำว่า Impeachment จะเข้ามากระทบหูนักลงทุนอยู่บ่อย ๆ ในช่วงนี้ และตลาดหุ้นก็อาจจะร่วงหนักจริงก่อนหน้านี้อย่างที่ทรัมป์ขู่ไว้ แต่คำว่า "พังนินาศ" ก็อาจจะฟังดูเกินจริงไปสักหน่อย

เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐนั่นแข็งแกร่งมาก แถมผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ก็กำลังเติบโตงอกงาม ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของรัฐบาลทรัมป์ และหากทรัมป์ต้องลงจากตำแหน่งจริง รองประธานาธิบดีอย่างนายไมค์ เพนซ์ ก็พร้อมที่จะเข้ามาซัพพอร์ตนโยบายเดิมของพรรครีพับลิกันในทันที ทำให้มีหลายคนพูดติดตลกว่า อาจจะดีกว่าทรัมป์เสียอีก เพราะปัญหาวุ่นวายเรื่องสงครามการค้าจะได้จบลงเสียที

ด้านนายเอ็ด ยาร์เดนี ประธานฝ่ายที่ปรึกษาด้านการลงทุนของ Yardeni Research กล่าวว่า "ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครมาแทนที่ปธน.ทรัมป์ได้ และผมก็ไม่คิดว่าตลาดหุ้นจะพังนินาศอย่างที่เขากล่าว"

ด้านวอลล์สตรีทก็ดูเหมือนจะไม่สะทกสะท้านกับดราม่าการเมืองครั้งใหญ่นี้ โดยเห็นได้ชัดเจนว่าตลาดมีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือเป็นเวลาเพียงหนึ่งวันหลังจากที่นายโคเฮนและนายมานาฟอร์ตรับสารภาพผิดกับศาล ซึ่งในขณะที่โลกการเมืองกำลังปั่นป่วนนั้น… นักลงทุนกลับอยู่กันอย่างชิล ชิล โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลดลงเพียง 88.69 จุด หรือ -0.34% เท่านั้นเอง

"ตลาดดูเหมือนจะไม่แคร์ข่าวนี้เท่าไร" นายอีเวน เฟนเซทธ์ หัวหน้ากลยุทธ์การตลาดของ Tigress Financial Intelligence กล่าว "ตลาดดูเหมือนว่าจะเพิกเฉยต่อสงครามน้ำลายของทรัมป์ กับความคิดเห็นไร้สาระของเขา"
  • แล้วทรัมป์จะถูกถอดถอนจริงหรือไม่ ?

คำถามนี้คงจะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจทุกคนมาทั้งสัปดาห์ ไม่เว้นแม้แต่ตัวทรัมป์เองที่มีชนักติดหลังอยู่หลายคดี

สื่อหลายเจ้าวิเคราะห์กันว่า หากพรรคเดโมแครตได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้งกลางเทอม โอกาสที่พรรคเดโมแครตจะใช้คดีนี้มาเป็นตัวผลักดันกฏหมาย Impeachment คงเป็นไปได้แน่นอน ถึงขนาดที่นายมิเชล คาปูโต อดีตที่ปรึกษาทีมหาเสียงของทรัมป์ออกมาเปิดใจกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า "นี่คือสิ่งที่พรรคเดโมแครตต้องการ เพื่อถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่ง"

นายคาปูโดกล่าวว่า "หากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งช่วงกลางเทอม คดีของนายโคเฮนก็เพียงพอที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันกฎหมาย Impeachment ตั้งแต่ไตรมาสแรก"

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังระบุอีกด้วยว่า เลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้จะเป็นตัวชี้ชะตาว่า บรรดาผู้ลงคะแนนเสียงจะสนับสนุนการ Impeachment หรือไม่ เพราะหากหากเสียงส่วนใหญ่โหวตให้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภา ก็แสดงว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการ Impeachment แต่หากเสียงส่วนใหญ่โหวตให้พรรคเดโมแครตเป็นผู้ชนะ ก็เห็นได้ชัดเจนว่า พวกเขาสนับสนุนให้มีการปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่งจริง ๆ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกี่ยวพันกับ Impeachment อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ทุกคนต่างก็รู้กันดีว่า พรรคเดโมแคตรอยากจะผลักทรัมป์ให้คว่ำลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีมากเพียงใด เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าทรัมป์ทำความผิดอยู่หลายคดี ซึ่งรวมถึงการเปิดช่องให้รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2559 โดยเมื่อปีที่แล้ว สมาชิกสภาคองเกรสจำนวน 58 รายได้สนับสนุนคำร้องของนายอัล กรีน ส.ส.จากพรรคเดโมแครตที่เสนอให้ถอดถอนปธน.ทรัมป์ออกจากตำแหน่งมาแล้วครั้งหนึ่ง

แต่กระนั้น ก็มีนักวิเคราะห์อีกฝั่งที่มองว่า โอกาสที่พรรคเดโมแครตจะเล่นงานทรัมป์คงมีต่ำกว่า 50% เพราะแม้แต่เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์จากพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นคู่กัดตลอดกาลของทรัมป์ กลับพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นในประเด็น Impeachment กับสื่อ เพราะเมื่อนักข่าวถามเขาว่า "พรรคเดโมแครตจะยกประเด็นเรื่อง Impeachment มาหารือกันหรือไม่" วอร์เรนกลับตอบเลี่ยงไปว่า "สิ่งที่สภาคองเกรสควรต้องทำ คือการสร้างหลักประกันว่าคุณมุลเลอร์จะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ปธน.ทรัมป์สามารถไล่เขาออกได้" ขณะที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "การถอดถอนปธน. ทรัมป์ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของชาวพรรคเดโมแครต"

แม้สัปดาห์ "หายนะ" ในชีวิตการเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เราก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นตัวชี้ชะตาว่า ทรัมป์จะ "อยู่" หรือ "ไป" อย่างที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้จริงหรือไม่ ...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ