In Focusส่องวิกฤติเวเนซุเอลา หนึ่งประเทศ สองผู้นำ ใครจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 30, 2019 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เวเนซุเอลา กลายเป็นที่สนใจของทั่วโลกขึ้นมาทันทีที่นายฮวน กุยโด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วัย 35 ปี ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการของประเทศ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา และจุดที่ทำให้เรื่องซึ่งน่าจะเป็นกิจภายใน กลายเป็นประเด็นร้อนแรงระดับโลก ก็คือการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ออกมารับรองการสถาปนาตัวเองของนายกุยโดหลังจากนั้นไม่นาน ก่อนที่จะตามมาด้วยอีกหลายประเทศ ขณะที่ประชาชนชาวเวเนซุเอลาเองก็ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ลาออกจากตำแหน่งและจัดการเลือกตั้งใหม่

ครั้งหนึ่งนั้น เวเนซุเอลาเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคละตินอเมริกา เนื่องจากทรัพยากรน้ำมันที่อุดมสมบูรณ์ โดยเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก แต่ใครเลยจะรู้ว่า เหตุการณ์จะพลิกผันไปได้ถึงเพียงนี้ เมื่อปัจจุบัน ชาวเวเนซุเอลาต้องจ่ายเงินถึง 1 ล้านโบลิวาร์ เพื่อซื้อกาแฟเพียงหนึ่งแก้ว ยังไม่ต้องพูดถึงสภาพเศรษฐกิจที่ผู้คนอดอยาก หิวโหย บ้านเมืองโกลาหล เกิดเหตุจลาจลไม่เว้นแต่ละวัน จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม และผลักดันให้ชาวเวเนซุเอลานับล้านคนตัดสินใจละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ายังต่างแดน ในฐานะผู้อพยพลี้ภัย

ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว เวเนซุเอลามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

อัตราเงินเฟ้อ 10,000,000% !

เค้าลางของวิกฤตการณ์ในเวเนซุเอลาเริ่มปรากฏ เมื่อน้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก และแทบจะเป็นแหล่งรายได้เดียวของประเทศ มีราคาตกต่ำลงมาก จากที่พุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2557 กลับดิ่งหนักลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ราว 26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2559 และปัจจุบันอยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเท่ากับว่า รายได้ของเวเนซุเอลาหดหายไปถึงครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือ รัฐบาลไม่มีงบประมาณมาใช้จ่ายในนโยบายประชานิยมอย่างที่เคยเป็นมา แม้รัฐบาลพยายามทู่ซี้อุดหนุนราคาอาหารให้ต่ำกว่าราคาที่แท้จริง แถมยังสั่งพิมพ์ธนบัตรใหม่ เพื่อเอาใจคนยากจน นอกจากนี้ ยังมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศถึง 34 ครั้ง นับจนถึงวันที่ 1 กันยายนปีที่แล้ว แต่ถึงกระนั้น มาตรการเหล่านี้ ตลอดจนมาตรการสิ้นหวังอื่นๆ กลับไม่สามารถช่วยประชากรผู้หิวโหยได้ การควบคุมราคาสินค้ากลายเป็นเรื่องยากขึ้นทุกที โดยราคาสินค้าจำเป็นพุ่งขึ้นสองเท่าในทุกๆ 19 วัน ส่วนค่าเงินโบลิวาร์ก็ร่วงลงอย่างมหาศาล โดยปัจจุบันต้องใช้เงินถึง 637 โบลิวาร์ จึงจะแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า อัตราการเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นแตะ 10,000,000% ในปีนี้!

สภาวะเศรษกิจดังที่กล่าวมาคงเพียงพอแล้วที่จะนำมาซึ่งการเดินขบวนเรียกร้องขับไล่นายมาดูโร

รัฐบาลสังคมนิยม จาก "ชาเวซ" ถึง "มาดูโร"

แม้บรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเมืองต่างชี้นิ้วไปที่ มาดูโร ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่กลายเป็นงูกินหางอยู่ในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน นักวิจารณ์ก็ยอมรับว่า ไม่ควรโยนความผิดไปให้นายมาดูโรแบกรับแต่เพียงผู้เดียว โดยอีกบุคคลหนึ่งที่ควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ก็คือ อดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ผู้ล่วงลับ

นายฮูโก ชาเวซ ชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลา เมื่อปี 2542 เขาปกครองประเทศด้วยนโยบายประชานิยม และเปลี่ยนเวเนซุเอลาจากประเทศเกษตรกรรม กลายเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมัน ซึ่งแรกๆ ก็เหมือนจะดูดี นายชาเวซได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของคนยาก แต่เมื่อเกิดวิกฤติราคาน้ำมันดิ่งนรก หายจะจึงเริ่มมาเยือนประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่ เพราะนายชาเวซตัดสินใจสะบั้นความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา และหันไปอวยรัสเซียและจีน ที่ให้เวเนซุเอลากู้เงินจำนวนมหาศาล การหาญไปต่อกรกับประเทศทุนนิยมรายใหญ่ของโลกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และเพิ่มความเป็นศัตรูกับบริษัทต่างชาติ เป็นสาเหตุให้บริษัทหลายแห่งต้องระงับหรือเลิกกิจการในเวเนซุเอลา ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นคนตกงาน ทั้งยังสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ

โดยก่อนที่นายชาเวซจะถึงแก่อสัญกรรมในปี 2556 เขาได้เลือกนายมาดูโรเป็นทายาทผู้สืบทอดการเมือง ซึ่งนายมาดูโรก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เขาเจริญรอยตามการปกครองของชาเวซ ส่งผลให้รัฐบาลสังคมนิยมของผู้นำทั้งสองเถลิงอำนาจมาถึง 2 ทศวรรษ

ชนวนเหตุของวิกฤติการเมืองรอบล่าสุด

สถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่เปราะบางของเวเนซุเอลาอย่างแยกไม่ออก และถูกมองว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้ประเทศอเมริกาใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันแห่งนี้ ยังคงอยู่ภายใต้วงล้อของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างดิ้นไม่หลุด

อันที่จริงแล้ว การชุมนุมประท้วงและเหตุจลาจลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากในเวเนซุเอลา โดยเหตุการณ์วุ่นว่ายต่างๆ ได้ปะทุขึ้นมาอยู่เนืองๆ แต่ที่จุดชนวนให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงครั้งล่าสุดจากคนในประเทศต่อนายมาดูโร ก็คือ การที่นายมาดูโรเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าไม่โปร่งใส เมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว

สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศว่า การเลือกตั้งเมื่อกลางปีที่แล้วไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ประธานาธิบดีมาดูโรเป็นผู้ปล้นอำนาจ และนั่นหมายความว่า ตำแหน่งประธานาธิบดียังว่างอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง นายฮวน กุยโด ประธานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วัย 35 ปี จึงได้ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. พร้อมให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

นอกจากนี้ นายกุยโดยังได้ระดมเสียงสนับสนุนเพื่อโค่นล้มมาดูโรออกจากอำนาจ พร้อมประกาศว่า เขาจะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายความมั่นคงที่เลิกสนับสนุนนายมาดูโร ขณะเดียวกัน นอกจากเสียงสนับสนุนจากในประเทศแล้ว หลังสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำรักษาการได้ไม่นาน นายกุยโดยังได้เสียงตอบรับจากนานาชาติอีกด้วย นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ซึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนกุยโดอย่างชัดเจน ตามมาด้วยอีกหลายประเทศพันธมิตรของสหรัฐ ที่ประกาศตัวยืนอยู่ฝั่งกุยโดเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีรัฐสภา รวมทั้งได้พี่ใหญ่อย่างสหรัฐหนุนหลัง แต่ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายนายมาดูโรเองก็ไม่ได้สิ้นไร้ไม่ตอก เพราะเขาก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญทั้งจากในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งรวมถึงพันธมิตรใหญ่อย่างรัสเซียและจีน

"มาดูโร" vs "กุยโด" ใครอยู่ข้างใคร

จนถึงวันนี้ เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่มีประธานาธิบดี 2 คนไปแล้ว และต่างฝ่ายต่างก็ได้รับเสียงสนับสนุน ส่วนใครจะอยู่ฝ่ายใคร ใครจะเลือกข้างใคร เราลองมาดูกัน

  • กองทัพ

เมื่อไม่นานมานี้ นายมาดูโรได้ประกาศเลื่อนขั้นทหาร 16,900 นาย เพื่อเป็นรางวัลให้กับความซื่อสัตย์จงรักภักดีที่ทหารเหล่านี้มีให้กับกองทัพ

กองทัพเวเนซุเอลาถูกมองว่าเป็นกระดูกสันหลังของรัฐบาลเวเนซุเอลา ซึ่งจนถึงตอนนี้ฝั่งกองทัพยังยืนยันที่จะอยู่เคียงข้างนายมาดูโร ดังเห็นได้จากนายวลาดิเมียร์ ปาดริโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทวีตข้อความสนับสนุนมาดูโรว่า ทหารของชาติจะไม่ยอมรับประธานาธิบดีที่ประกาศแต่งตั้งตนเองนอกวิถีกฎหมาย

ขณะที่ผู้บัญชาการสูงสุดก็เคยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแสดงการสนับสนุนนายมาดูโรอย่างชัดเจนมาแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ในคณะรัฐมนตรี 32 คนของรัฐบาลนายมาดูโนนั้น 9 คนในจำนวนนี้มาจากสายทหาร และต่างมีบทบาทสำคัญในองค์กรใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านกลาโหม มหาดไทย เกษตรกรรม และข่าวกรอง ตลอดจนมีอำนวจควบคุมสถานีโทรทัศน์ ธนาคาร โรงงานประกอบรถยนต์ รวมไปถึงรัฐวิสากิจน้ำมันอย่าง PDVSA ซึ่งทำรายได้จากการส่งออกน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 96% ของรายได้ทั้งหมดของเวเนซุเอลา

"เราไม่มีประธานาธิบดีคนอื่นนอกจากปธน.มาดูโร" นายมานูเอล เคเวโด ประธานบริษัท PDVSA และรัฐมนตรีน้ำมัน ซึ่งเป็นอดีตนายทหาร กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 ม.ค.

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า แรงสนับสนุนจากกองทัพเริ่มส่อแววสั่นคลอน เมื่อพันเอก โฮเซ่ ลูอิส ซิลวา ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเวเนซุเอลาประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เขาไม่ขอสนับสนุนนายมาดูโรอีกต่อไป และยอมรับนายกุยโดเป็นประธานาธิบดีตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ทั้งยังเรียกร้องให้เหล่าพี่น้องทหารหันมาสนับสนุนกุยโดอีกด้วย

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารยศต่ำลงมาบางราย เริ่มแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยได้มีทหารกลุ่มหนึ่งก่อเหตุขโมยอาวุธ ลักพาตัวเจ้าหน้าที่ และเรียกร้องให้มาดูโรออกจากตำแหน่ง แม้ทหารกลุ่มนี้จะถูกปราบปรามจากรัฐบาลแล้วก็ตาม

  • ตุลาการ

ศาลสูงสุดของเวเนซุเอลายังคงให้การหนุนหลังผู้นำสังคมนิยมรายนี้อย่างเหนียวแน่นเช่นกัน โดยศาลสูงได้ประกาศคำตัดสินเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้การกระทำใดๆ โดยรัฐสภา ซึ่งนำโดยนายกุยโด ถือเป็นโมฆะและไม่มีผลตามกฎหมาย

และล่าสุด ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งเวเนซุเอลา (TSJ) ยังได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้นายฮวน กุยโด ประธานสมัชชาแห่งชาติและผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งประกาศตัวขึ้นเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาล เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของนายกุยโดไว้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่คาราคัส ทาเร็ก วิลเลียม ซ้าบ หัวหน้าอัยการ ได้ออกมาเรียกร้องให้ศาลสูงสุดใช้มาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของนายกุยโด โดยนายซ้าบถือเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่อาวุโสของเวเนซุเอลาที่ภักดีต่อนายมาดูโร

อย่างไรก็ดี ในขณะที่นายมาดูโรมีฝ่ายตุลาการในประเทศหนุนหลัง นายกุยโดเองก็ได้รับการสนับสนุนจากศาลยุติธรรมพลัดถิ่น ซึ่งสมาชิกได้รับการแต่งตั้งจากสมัชชาแห่งชาติ โดยศาลสูงพลัดถิ่นของเวเนซุเอลาได้ขานรับเจตนารมณ์ของนายกุยโดที่อาสาเข้ามารับตำแหน่งปธน.เฉพาะกาลเพื่อผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นในประเทศ

  • ประชาคมโลก

สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศแรกที่ออกมาให้การยอมรับนายกุยโด ในฐานะประธานาธิบดีเวเนซุเอลา พร้อมระบุว่าจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและการทูตฟื้นฟูประชาธิปไตยในเวเนซุเอลาให้กลับคืนมา

ด้านรัฐบาลฝ่ายขวาหลายประเทศในลาตินอเมริกา ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย และอาร์เจนตินา ก็ออกมาให้การยอมรับนายกุยโดเช่นกัน

ขณะที่ประเทศฝั่งยุโรปอย่าง สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ ประกาศเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะให้การยอมรับนายกุยโดในฐานะประธานาธิบดีเวเนซุเอลา หากนายมาดูโรไม่ยอมประกาศเลือกตั้งภายใน 8 วัน เช่นเดียวกับ ออสเตรเลีย แคนาดา และอิสราเอล ที่ประสานเสียงให้การยอมรับผู้นำหนุ่มรายนี้

ตัดกลับมาที่ฝั่งนายมาดูโร แน่นอนว่าเขายังคงได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนฯ รวมทั้งเป็นผู้ปล่อยกู้รายสำคัญ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลเวเนฯ อยู่ถึงราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยทั้งสองประเทศได้ออกโรงวิจารณ์กรณีที่สหรัฐและชาติพันธมิตรแทรกแซงกิจการภายในของเวเนซุเอลา รวมทั้งขัดขวางความพยายามของสหรัฐที่ต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติรับรองสถานะผู้นำประเทศแก่นายกุยโด

ทั้งนี้ รัสเซียถือเป็นพันธมิตรรายสำคัญของเวเนซุเอลา โดยเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว รัสเซียได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด 2 ลำ และเจ้าหน้าที่ราว 100 นายไปยังกรุงการากัส เพื่อเข้าร่วมการซ้อมรบกับเวเนซุเอลา ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยกหูโทรศัพท์เพื่อแสดงการสนับสนุนนายมาดูโนในวิกฤติครั้งล่าสุด

นอกจากจีนและรัสเซียแล้ว ประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตุรกี คิวบา โบลิเวีย อุรุกวัย และเม็กซิโก ตลอดจนอิหร่าน และเกาหลีเหนือ ยังคงยืนยันให้การยอมรับตัวผู้นำวัย 56 ปีต่อไป เช่นเดียวกับประเทศยุโรปบางประเทศ เช่น กรีซ ที่เลือกข้างนายมาดูโร

(ยัง)ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

สถานการณ์ในเวเนซุเอลายังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงง่ายๆ หรือจบลงได้ในเร็ววันนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีแข็งกร้าวของนายมาดูโรที่ยังไม่ยอมอ่อนข้อแม้แต่น้อย ด้านกลุ่มผู้คัดค้านก็รังแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนและความรุนแรง

เวเนซุเอลากำลังจะกลายเป็นรัฐที่ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยนักวิเคราะห์มองว่า แม้ในที่สุดแล้ว มาดูโรตัดสินใจยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่ใครจะกล้ารับประกันว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะบริสุทธิ์ยุติธรรม ดังนั้น ณ ขณะนี้ ก็คงไม่มีการเลือกตั้งใดที่ดีพอจะยุติภาวะชะงักงัน และนำเวเนซุเอลาฝ่าทางตันออกไปได้

ขณะเดียวกันต้องจับตาว่า กองทัพเวเนซุเอลาจะกลายเป็น game changer ในสถานการณ์นี้หรือไม่ เพราะดังที่กล่าวมาแล้วว่า แม้จนถึงขณะนี้ผู้นำกองทัพและฝ่ายกลาโหมแสดงออกชัดเจนว่าเลือกข้างนายมาดูโร แต่สิ่งที่ต้องดูกันต่อไปก็คือ ทหารระดับล่างลงไปจะเข้ามามีบทบาทในเกมนี้อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ