In Focusเจาะลึกเลือกตั้งรัฐสภายุโรป จับตาขวาจัดมาแรงป่วนนโยบาย EU

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 20, 2019 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐสภายุโรปจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพ.ค.นี้ แต่ที่ผ่านมามีน้อยคนนักที่จะรู้จักรัฐสภาแห่งนี้ แม้ว่าองค์กรดังกล่าวมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของยุโรป

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งในปีนี้ ได้รับความสนใจมากกว่าในอดีต เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า พรรคการเมืองกลุ่มขวาจัดของยุโรปจะขึ้นมายุติการครองอำนาจของกลุ่มพรรคการเมืองกระแสหลัก ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี

นอกจากนี้ การแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป

In Focus สัปดาห์นี้จะมาทำความรู้จักรัฐสภายุโรป และความสำคัญของการเลือกตั้งต่อชาวยุโรป รวมทั้งนักลงทุนในตลาด

*ความเป็นมาของการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป

ชาวยุโรปจากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) มีสิทธิที่จะเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติเข้าไปเป็นตัวแทนในรัฐสภายุโรปนับตั้งแต่ปี 2522 โดยรัฐสภายุโรปมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 751 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่งสมัยละ 5 ปี ขณะที่การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 23-26 พ.ค.

ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการเสนอกฎหมาย ก่อนที่ตัวแทนของ EU จะมีการหารือกัน และให้การอนุมัติในการประชุมคณะมนตรียุโรป และหลังจากนั้น รัฐสภายุโรปก็จะทำการลงมติต่อข้อเสนอดังกล่าว

สมาชิกรัฐสภายุโรปส่วนใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคการเมืองเก่าแก่ในแต่ละประเทศของ EU เช่น พรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ

นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภายุโรปเหล่านี้ยังรวมกลุ่มกันข้ามประเทศตามจุดยืนทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม เช่น สมาชิกจากพรรคเสรีนิยมจากชาติต่างๆใน EU จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ALDE (The Alliance of Liberals and Democrats for Europe group)

ขณะนี้ รัฐสภายุโรปมีกลุ่มการเมืองขนาดใหญ่จำนวน 10 กลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเลือกสรรประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU

ก่อนหน้านี้ EU ได้ใช้กระบวนการ Spitzenkandidat คัดสรรประธาน EC ในปี 2557 ซึ่งส่งผลให้นายนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ได้รับเลือกเป็นประธาน EC ในปีดังกล่าว

อย่างไรก็ดี EU กำลังหารือกันในขณะนี้ว่าจะมีการใช้กระบวนการ Spitzenkandidat ในการคัดเลือกประธาน EC ในปีนี้หรือไม่

*Brexit กระทบเลือกตั้งรัฐสภายุโรป

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit กำลังทำให้การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปมีความไม่แน่นอนตามไปด้วย

รัฐสภาอังกฤษลงคะแนนเสียงท่วมท้นในสัปดาห์ที่แล้ว เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวออกไปจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค. โดยสมาชิกสภาสามัญชนของอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียง 412-202 เสียง เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเส้นตาย Brexit ออกไป 3 เดือน หรือจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. แต่ข้อเรียกร้องนี้จะต้องได้รับฉันทามติจากสมาชิกทั้ง 27 ชาติของ EU ในการประชุมสุดยอดวันที่ 21-22 มี.ค.

นายเกรเกอร์ ชูสเตอร์สชิทซ์ นักการทูตจากออสเตรีย กล่าวว่า อังกฤษจะต้องเข้าร่วมการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป หากมีการแยกตัวจาก EU หลังวันที่ 1 ก.ค.

"เราจะต้องรอดูว่าอังกฤษจะยื่นข้อเสนออะไร ซึ่งหากอังกฤษต้องการที่จะแยกตัวจาก EU หลังวันที่ 1 ก.ค. อังกฤษก็จะต้องเข้าร่วมการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในเดือนพ.ค." นายชูสเตอร์สชิทซ์กล่าว

ทั้งนี้ นางเมย์มีกำหนดเดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ในสัปดาห์นี้เพื่อขอการอนุมัติจาก EU ในการขยายเวลาเส้นตาย Brexit จากกำหนดเดิมในวันที่ 29 มี.ค.

ผู้นำ EU หลายคนกล่าวก่อนหน้านี้ว่า อังกฤษจะต้องแยกตัวออกจาก EU ก่อนที่รัฐสภายุโรปจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพ.ค. มิฉะนั้นอังกฤษจะต้องเข้าร่วมการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐสภายุโรปชุดใหม่ประสบปัญหาเป็นโมฆะ เนื่องจากมีการเลือกตั้งที่ผิดกฎระเบียบ

นอกจากนี้ นายชูสเตอร์สชิทซ์ยังกล่าวว่า EU ควรใช้ไม้แข็งกับอังกฤษ หลังจากที่มีท่าทีอ่อนเกินไป ซึ่งทำให้อังกฤษใช้เวลานานเกินไปในการหารือปัญหา Brexit ภายในประเทศ ขณะที่มีการเจรจาเรื่องดังกล่าวน้อยเกินไปกับทาง EU

*จับตากลุ่มขวาจัดพลิกบทบาทป่วนการเมืองยุโรป

จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์พบว่า พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ซึ่งมีนโยบายต่อต้านการรับผู้อพยพ จะได้เก้าอี้เพิ่มขึ้นมากที่สุดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปครั้งนี้ ส่วนพรรคกลางซ้ายจะเป็นพรรคการเมืองที่ประสบความพ่ายแพ้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฎชัดในการเลือกตั้งในประเทศต่างๆภายใน EU ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากชาวยุโรปมองว่าพรรคกลางซ้ายไม่สามารถทำตามหลักการของพรรค โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยคาดว่าพรรคกลางซ้ายจะสูญเสียเก้าอี้ราว 6% ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่พรรคกลางขวาจะสูญเสียเก้าอี้ 2%

นายอัลเบอร์โต อเลมานโน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายยุโรป กล่าวว่า รัฐสภายุโรปชุดใหม่จะไม่มีเสียงข้างมากที่ชัดเจน ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความยากลำบากมากขึ้นในการออกกฎหมายในยุโรป

*ผลสำรวจชี้กลุ่มอนุรักษ์นิยม-สังคมนิยมสูญเสียเสียงข้างมาก

ผลสำรวจบ่งชี้ว่า พรรคการเมืองกระแสหลัก 2 กลุ่มในยุโรป คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มสังคมนิยมจะสูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากที่พรรคการเมือง 2 กลุ่มดังกล่าวมักสามารถผลักดันทิศทางการกำหนดนโยบายภายในรัฐสภายุโรป เนื่องจากมีเสียงสนับสนุนที่เพียงพอในการอนุมัติกฎหมายในรัฐสภา แต่ความได้เปรียบของทั้ง 2 กลุ่มนี้จะหมดไปหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวจะต้องจับมือกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ

"ความท้าทายอยู่ที่ว่ากลุ่มการเมืองกระแสหลักมากกว่า 2 กลุ่มในยุโรปจะสามารถประนีประนอมกันได้หรือไม่" นายฟลอเรียน เฮนซ์ นักเศรษฐศาสตร์ยูโรโซนของบริษัทเบเรนเบิร์ก กล่าว

รายงานจากคณะมนตรียุโรประบุว่า พรรคการเมืองกลุ่มต่อต้านยุโรปมีแนวโน้มชิงส่วนแบ่งในรัฐสภายุโรปได้ถึง 1 ใน 3 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงและการป้องกันประเทศของยุโรป ซึ่งในที่สุดจะสร้างความบาดหมาง และทำลาย EU ได้ในที่สุด

รายงานระบุว่า พรรคการเมืองดังกล่าวจะจับมือกันเพื่อระงับความร่วมมือของ EU เช่น อาจหาทางยุติการคว่ำบาตรรัสเซีย

นายอเลมานโน กล่าวว่า "โดยรวมแล้ว จะมีความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในยุโรปมากขึ้น"

*การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่สำคัญใน EU

การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในครั้งนี้จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำขององค์กรที่สำคัญใน EU หลายตำแหน่ง ซึ่งได้แก่ ประธานรัฐสภายุโรป ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และประธานคณะมนตรียุโรป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการแต่งตั้งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คนใหม่ ขณะที่นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB คนปัจจุบัน มีกำหนดสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนต.ค.นี้

*จับตาจุดยืนนโยบายการเงินของประธาน ECB คนใหม่

สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจต่อการเลือกตั้งรัฐสภาในครั้งนี้คือ จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากน้อยเพียงใด และใครจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรของ EU

นอกจากนี้ นักลงทุนต้องการเห็นทิศทางการเมืองภายใต้รัฐสภายุโรปชุดใหม่ และสิ่งสำคัญคือ การแต่งตั้งประธาน ECB คนใหม่จะส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินของ ECB หรือไม่ ขณะที่มีความวิตกว่า ประธาน ECB คนใหม่อาจมีจุดยืนนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่านายดรากี โดยจะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยูโรโซน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น และตลาดการเงินทั่วโลก

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนจึงต้องจับตา และเตรียมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งดังกล่าว ไม่ว่าทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ