In Focusเจาะลึกฮ่องกงประท้วงเดือดต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ชนวนเหตุการลุกฮือครั้งประวัติศาสตร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 19, 2019 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์ในฮ่องกงเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) หลังเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่มาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเพื่อคัดค้านการผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่เริ่มทยอยเดินทางกลับ เหลือเพียงนักเคลื่อนไหวไม่กี่คนที่ยังปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณที่ทำการรัฐบาลฮ่องกง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า การประท้วงดังกล่าวได้จบสิ้นลงแล้ว เพราะข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง 2 ข้อ ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งได้แก่ การยกเลิกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน และ การเรียกร้องให้นางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ลาออกจากตำแหน่ง เรายังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร

In Focus สัปดาห์นี้ เราจะพาไปหาคำตอบว่า เหตุใดชาวฮ่องกงจำนวนนับล้านคนถึงลุกฮือออกมาเดินขบวนประท้วงคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับนี้ และสถานการณ์การเมืองในฮ่องกงจะดำเนินต่อไปอย่างไร หลังนางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ออกมาประกาศว่า รัฐบาลของเธอได้ตัดสินใจระงับการผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว และ เธอจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระในอีก 3 ปีข้างหน้า

*ไทม์ไลน์การประท้วงในฮ่องกงเพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

9 มิ.ย. – ชาวฮ่องกงนับล้านคนออกมารวมตัวกันเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนในใจกลางฮ่องกง และชุมนุมกันที่หน้าอาคารสภานิติบัญญัติ เพื่อคัดค้านรัฐบาลฮ่องกงในการผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

12 มิ.ย. – การนัดชุมนุมประท้วงใหญ่อีกรอบ เพื่อขัดขวางสภานิติบัญญัติฮ่องกงในการพิจารณากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในวาระ 2 ซึ่งการประท้วงลุกลามรุนแรงถึงขั้นเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนต้องเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 72 คน

15 มิ.ย. -- นางแคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ออกมาแถลงระงับการพิจารณากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ยังไม่ได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

16 มิ.ย. – กลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงจำนวนกว่า 2 ล้านคนออกมารวมตัวกันอีกครั้งที่บริเวณสวนสาธารณะวิกตอเรีย เพื่อเริ่มการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ตามที่ได้นัดหมายกันไว้ โดยได้ยกระดับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกกฏหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และเรียกร้องให้นางแคร์รี ลัม ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของฮ่องกงในรอบ 30 ปี หรือนับตั้งแต่สหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540

17 มิ.ย. -- กลุ่มผู้ประท้วงได้ยินยอมย้ายจุดประท้วงจากย่านศูนย์กลางธุรกิจของฮ่องกงไปรวมตัวกันใกล้กับอุทยานแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่ทำการของรัฐบาลและอาคารสภานิติบัญญัติ เพื่อให้ตำรวจสามารถเปิดการจราจรได้ตามปกติ

-- นายโจชัว หว่อง แกนนำกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยชาวฮ่องกงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ โดยนายหว่องเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ "ปฏิวัติร่ม" เมื่อปี 2557 โดยหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว นายหว่องก็ได้ออกมาเรียกร้องให้นางแคร์รี ลัม ลาออกจากตำแหน่งด้วย

18 มิ.ย. – นางแคร์รี ลัม ออกมากล่าวขอโทษประชาชนฮ่องกงสำหรับความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ขณะที่นางลัมยืนยันว่า เธอจะไม่ลาออก และ จะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระในวันที่ 1 ก.ค. 2565 แม้กลุ่มผู้ประท้วงจะเรียกร้องให้นางลัมลาออกจากตำแหน่งก็ตาม

*กฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ชนวนประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ฮ่องกง

สำหรับกฎหมายที่เป็นประเด็นประท้วงในฮ่องกงนั้น เป็นกฎหมายว่าด้วยผู้กระทำผิดที่หลบหนี และการช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกันในคดีอาชญากรรม โดยรัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับจีน และเขตอำนาจอื่นๆ ที่ไม่มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง

การเสนอร่างกฎหมายนี้มีที่มาจากคดีที่ชายหนุ่มชาวฮ่องกงคนหนึ่งสังหารแฟนสาวของเขาขณะไปเที่ยวไต้หวัน และหนีกลับมายังฮ่องกง ต่อมาทางการฮ่องกงจับกุมชายดังกล่าวได้ และเขาได้ถูกตัดสินโทษแค่ในคดีฟอกเงิน ขณะที่ทางการฮ่องกงไม่สามารถส่งตัวชายดังกล่าวกลับไปยังไต้หวันเพื่อดำเนินคดีที่นั่นได้ เพียงเพราะว่าไต้หวันและฮ่องกงไม่มีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ดังนั้น ทางการฮ่องกงจึงมีเหตุผลว่า จำเป็นจะต้องมีกฎหมายใหม่นี้เพื่อไม่ให้ฮ่องกงกลายเป็นที่กบดานสำหรับการหลบซ่อนตัวของเหล่าอาชญากร

*ทำไมคนฮ่องกงนับล้านถึงต้องออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ชาวฮ่องกงวิตกกังวลว่า กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลจีนสามารถดำเนินการใดๆ กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยทางการเมืองกับจีน และจะทำให้ไต้หวันและมาเก๊า สามารถร้องขอให้ฮ่องกงส่งตัวใครก็ได้ด้วยการตั้งข้อหาว่าก่อคดีในพื้นที่ของไต้หวันและมาเก๊า ซึ่งผู้ประท้วงเป็นห่วงว่า อาจจะหมายถึงผู้ที่ต่อต้านจีนนั่นเอง

คนฮ่องกงยังกังวลด้วยว่า กฎหมายนี้จะอนุญาตให้มีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยหรืออาชญากรไปยังจีน โดยที่ไม่มีการรับรองว่า ผู้ถูกดำเนินคดีจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ในการตั้งข้อกล่าวหา ตลอดไปจนถึงขั้นตอนของการดำเนินคดี

นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกทางการจีนหมายหัวเอาไว้แล้ว ก็อาจจะโดนตั้งข้อกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และถูกดำเนินคดีอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ทำงานด้านสังคม มนุษยธรรม และสื่อมวลชน

*วิเคราะห์มุมมองของจีนและสหรัฐต่อการประท้วงในฮ่องกง

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่า การประท้วงในฮ่องกงยิ่งทำให้ทั่วโลกหันมาจับตาจีนในยามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไม่ต้องการถูกเพ่งเล็งในเชิงลบ โดยนายบอนนี แกลเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการอำนาจจีน ศูนย์ยุทธศาสตร์นานาชาติศึกษาในสหรัฐ มีความเห็นว่า ประธานาธิบดีสียังคงต้องการให้การเจรจาการค้ากับสหรัฐกลับมาเดินหน้าต่อไป จึงไม่อยากให้ประเด็นการค้าถูกเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องอื่นๆ ในเวลานี้

จีนเองพยายามกันตัวเองจากวิกฤตการเมืองของฮ่องกง โดยยืนยันว่า กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ชาวฮ่องกงมองว่า เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการแผ่อิทธิพลที่มากขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น แท้จริงแล้วเป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลฮ่องกงเอง และจีนยังพยายามสร้างภาพว่า การประท้วงที่รุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็น "การก่อจลาจล" ที่มีต่างชาติหนุนหลัง

ฌอง-ปิแอร์ คาเบสแตน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮ่องกง แบปติสต์ บ่งชี้ว่า การระงับกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเอาไว้ก่อนนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เกรงว่า การประท้วงรุนแรงอาจจะส่งผลย้อนกลับไปที่จีน

บิลล์ บิชอป ผู้เผยแพร่จดหมายข่าวชิโนซิสม์ ไชน่า มองว่า แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนักหน่วง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม แต่ต่อจากนี้ไป จีนคงจะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการควบคุมฮ่องกงอย่างลับๆ

หวา โป นักวิเคราะห์การเมืองในปักกิ่ง เชื่อว่า ปธน.สีจะไม่ยอมอ่อนข้อง่ายๆ เพียงแต่จะรอเวลาให้มวลชนในฮ่องกงสงบลง ก่อนจะหันไปเล่นงานแกนนำหัวแข็งบางคน โดยหวา โป ตั้งข้อสังเกตว่า การผลักดันกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นแค่ถูกชะลอเอาไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้ยกเลิก

ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยังคงร้อนระอุ ก็ยิ่งทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ในฮ่องกง เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะหากกฎหมายนี้ผ่านออกมา จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งก็ไม่มีสิ่งใดที่จะรับประกันได้ โดยเฉพาะในขณะที่สถานการณ์ของจีนและสหรัฐยังคงมีความอึมครึมอยู่ จีนเองก็พยายามเข้ามามีบทบาทในฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายฝ่ายกังวลต่อท่าทีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือภาคธุรกิจ

ด้านทางการสหรัฐนั้น ได้ออกมาสนับสนุนผู้ประท้วงชาวฮ่องกงที่เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยระบุว่า ชาวฮ่องกงเดินขบวนประท้วง เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง

นายมอร์แกน ออร์ทากัส โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า การเดินขบวนประท้วงเป็นไปอย่างสงบในฮ่องกง ก็เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารเกาะฮ่องกงลาออก และให้ทางการยกเลิกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เขากล่าวว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรวมตัวกัน และสหรัฐก็จะยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงตอบสนองความต้องการของประชาชน

ด้านนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจหยิบยกเรื่องการประท้วงที่ฮ่องกงขึ้นมาหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน นอกรอบการประชุมซัมมิตกลุ่ม G20 ที่นครโอซากาของญี่ปุ่นในวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้

*สถานการณ์ในฮ่องกงหลังจากนี้จะลงเอยอย่างไร

ทางการฮ่องกงได้ยอมอ่อนข้อต่อกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้ประกาศระงับการพิจารณากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว แต่กลุ่มผู้ประท้วงก็ยังคงยึดมั่นในแนวทางการเรียกร้องเดิม คือ ต้องการให้รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกกฎหมายดังกล่าวไปเลย และนางแคร์รี ลัม ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ออกมายืนยันสนับสนุนให้ นางแคร์รี ลัม นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงต่อไป โดยไม่สนใจกระแสเรียกร้องจากผู้ชุมนุมให้เธอลาออก

นายลู่ กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.ว่า รัฐบาลจีนยังคงให้การสนับสนุนนางแคร์รี ลัม เป็นผู้ว่าการเกาะฮ่องกงต่อไป รวมทั้งสนับสนุนความพยายามของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่จะดำเนินการตามหลักกฎหมาย

แม้สถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงจะคลี่คลายลงแล้ว แต่เราก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไรและเมื่อใด และในอนาคต จีนจะเข้ามามีบทบาทได้หรือไม่กับการเมืองอันเสรีของฮ่องกง

ความอิสระในระบบยุติธรรมถือเป็นมรดกตกทอดอันมีค่าที่ฮ่องกงได้รับมาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และทำให้บริษัทข้ามชาติเกือบ 1,400 แห่งเข้าไปตั้งสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง การรักษาระบบยุติธรรมที่อิสระดังกล่าวไว้ พร้อมกับหลักการอื่นๆ ในการปกครองตัวเอง เป็นหัวใจของข้อตกลงที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี 2540

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สิ่งที่ฮ่องกงกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้นับเป็นความเสี่ยงโดยตรงต่อภาคธุรกิจ โดยความกังวลหลักๆก็คือ กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้ จะทำให้นักธรุกิจต่างชาติที่อยู่ในฮ่องกงเผชิญกับระบบยุติธรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของจีน เพราะภายใต้ร่างกฎหมายใหม่นี้ บรรดานักธุรกิจเกรงว่า พวกเขาจะถูกทางการจีนจับตัวไปดำเนินคดีด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะเป็นการบ่อนทำลายระบบกฎหมายกึ่งปกครองตัวเองของฮ่องกง

AbouThai ผู้ให้บริการด้านความงามจากประเทศไทย ซึ่งมีสาขา 13 แห่งทั่วเกาะฮ่องกง ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า "เราหาเงินที่เสียไปกลับคืนมาใหม่ได้ แต่ถ้าเราเสียฮ่องกงไปแล้ว เราจะไม่สามารถเอากลับคืนมาได้อีก"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ