In Focus70 ปีแห่งความรุ่งโรจน์ของ "พญามังกรจีน" กับความท้าทายที่รออยู่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 2, 2019 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวานนี้ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน จีนได้ใช้โอกาสนี้แสดงแสนยานุภาพทางทหารแบบจัดเต็มให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ โดยมีการสวนสนามของทหารมากถึง 15,000 นาย รวมถึงการจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์สุดล้ำ เช่น โดรนความเร็วเหนือเสียง, จรวดต่อต้านเรือรบ YJ-18/18A, ขีปนาวุธชนิดยิงจากเรือดำน้ำ JL-2, ขีปนาวุธ DF-17 ติดเครื่องร่อนความเร็วเสียง และขีปนาวุธข้ามทวีป DF-41 พิสัยทำการไกลถึง 15,000 กิโลเมตร ซึ่งยุทโธปกรณ์เหล่านี้ล้วนผลิตเองในประเทศ นับเป็นการประกาศศักดามหาอำนาจแห่งโลกใหม่อย่างสมศักดิ์ศรี

มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ

ความแข็งแกร่งของจีนทุกวันนี้เป็นผลพวงมาจากเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูอย่างต่อเนื่องตลอด 40 ปี นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี "เติ้งเสี่ยวผิง" ประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 2521 โดยในช่วงปี 2522-2561 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จีนขยายตัวเฉลี่ย 9.4% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกที่ระดับ 2.9% ขณะที่ GDP ต่อหัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 200 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2522 เป็น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 และจีนยังแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นแท่นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกในปี 2553

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการพัฒนาชนบท จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรกว่า 800 ล้านคนในชนบทให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยจีนตั้งเป้าว่าจะทำให้ผู้ยากไร้ 95% หลุดพ้นจากความยากจนภายในสิ้นปีนี้ และจะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในสิ้นปี 2563

นอกจากนี้ จีนยังสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและเปิดกว้างสำหรับต่างชาติ ส่งผลให้จำนวนบริษัทในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดเฉลี่ย 16.9% ต่อปีในช่วงปี 2555-2560 ขณะที่ธนาคารโลกรายงานว่า จีนรั้งอันดับ 46 ของโลกในบรรดาประเทศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจในปี 2561 กระโดดขึ้นมา 32 อันดับจากปีก่อนหน้า

ในระยะแรกจีนให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีการเร่งสร้างถนน สะพาน และตึกระฟ้ามากมาย แต่ในระยะหลังจีนเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น รถไฟความเร็วสูง ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และเครือข่าย 5G เป็นต้น รวมถึงการเน้นการเติบโตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

การพัฒนาจากประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก สู่การเป็นมหาอำนาจทุกด้านภายในระยะเวลา 40 ปีหลังเปิดประเทศ เรียกได้ว่าเป็นความหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ว่า "มีขึ้นย่อมมีลง" เป็นสัจธรรมที่ไม่อาจหลีกหนีได้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จาก 14.23% ในปี 2550 สู่ระดับ 6.6% ในปี 2561 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อไปอีก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่จีนต้องรับมือ

ศึกใน-ศึกนอก

ในการกล่าวสุนทรพจน์เฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศเจตนารมณ์ที่จะรวมชาติเป็นหนึ่งเดียว โดยยึดมั่นในแผนรวมชาติอย่างสันติ และหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ตลอดจนรักษาความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งเป็นสองเขตบริหารพิเศษภายใต้อธิปไตยของจีน ส่วนนโยบายต่อไต้หวันนั้น จีนจะพัฒนาความสัมพันธ์ในแนวทางสันติวิธี และจะเดินหน้ารวมชาติจีนเป็นหนึ่งเดียวให้สำเร็จ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับมาเก๊าค่อนข้างราบรื่น ชุยไซออน ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษมาเก๊า กล่าวในงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ในช่วงเวลา 20 ปีหลังจากที่มาเก๊าได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ มาเก๊าได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีน ซึ่งมีส่วนช่วยให้มาเก๊าเติบโตอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ นอกจากนี้ มาเก๊ายังประสบความสำเร็จในการนำหลักการหนึ่งประเทศสองระบบมาปฏิบัติจริง

ในทางตรงกันข้าม ฮ่องกงกลับกำลังท้าทายหลักการหนึ่งประเทศสองระบบ เริ่มจากการชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อที่จะหลุดพ้นจากกรงเล็บมังกร ความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนานกว่า 4 เดือนกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนในปี 2540 และในวันที่จีนเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ กลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงก็อาศัยโอกาสนี้ออกมาประท้วง โดยมีการทำลายทรัพย์สิน บุกทำลายอาคารของรัฐบาล ปล้นสะดมร้านค้า วางเพลิง เผาธงชาติจีน และทำร้ายตำรวจ จนเกิดการปะทะกันในหลายจุด และในที่สุดตำรวจต้องใช้กระสุนจริงยิงเข้าใส่ผู้ประท้วงรายหนึ่งเพื่อป้องกันตัว

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันก็ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ชูนโยบาย "ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน" ส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องกดดันด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งตัดช่องทางการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ เพิ่มการซ้อมรบ แย่งชิงพันธมิตรทางการทูต และเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อไต้หวัน ขณะที่ผู้นำจีนยืนยันว่าไต้หวันต้องถูกรวมเข้ากับจีนภายใต้การปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ และในวาระครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลไต้หวันได้ออกมาประณามจีนว่าเป็น "รัฐเผด็จการ" และเป็นภัยคุกคามสันติภาพ พร้อมกับยืนยันว่าไต้หวันจะไม่มีวันยอมรับนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบอย่างฮ่องกงและมาเก๊าโดยเด็ดขาด

นอกจากศึกในที่ยืดเยื้อแล้ว จีนยังเผชิญกับศึกนอกที่ไม่มีวี่แววว่าจะจบลงง่ายๆ นั่นคือการทำสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา การขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาและการเจรจาการค้าที่ล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง ตลอดจนโวหารป่วนบรรยากาศการเจรจาของประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งสองฝ่ายรวมถึงทั่วโลก ทั้งนี้ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นการเจรจาครั้งที่ 13 แล้ว นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเตือนว่าการงัดข้อกันของสองมหาอำนาจอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่

แม้ว่า จะมีความท้าทายมากมายที่ต้องรับมือ แต่เมื่อพิจารณาจากแสนยานุภาพของจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การทหาร ฯลฯ เชื่อว่าจีน จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ในที่สุด ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศกร้าวในวาระครอบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า "ไม่มีอำนาจใดสามารถสั่นคลอนชาติจีนอันยิ่งใหญ่ และไม่มีอำนาจใดสามารถหยุดยั้งความเจริญก้าวหน้าของชาวจีนและชาติจีนได้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ