In Focusเจาะไทม์ไลน์ "ไดมอนด์ พรินเซส" และ "เวสเตอร์ดัม" เมื่อเรือสำราญกลายเป็นจุดจบแห่งความสำราญ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 19, 2020 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ยังคงน่าวิตก เนื่องจากตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วโลกในขณะนี้สูงถึง 75,198 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งแตะ 2,005 รายทั่วโลก

แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในจีนหรือคิดเป็นสัดส่วน 98.65% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่สถานการณ์ล่าสุดก็ทำให้ทั่วโลกต้องขวัญผวา หลังจากที่ผู้โดยสารจากเรือสำราญทั้ง 2 ลำอย่าง "ไดมอนด์ พรินเซส" และ "เวสเตอร์ดัม" ที่มีจำนวนผู้โดยสารกว่า 4,000 คนนั้นกำลังจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองในประเทศต่าง ๆ ทำให้หลายฝ่ายอดกังวลไม่ได้ว่า อัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะขยายวงเพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องจากผู้โดยสารบนเรือสำราญดังกล่าวมาจากกว่า 40 ประเทศด้วยกัน

ในวันนี้ In Focus จึงขอพาทุกท่านไปเจาะไทม์ไลน์ของเรือสำราญดังกล่าว พร้อมจุดยืนในการรับมือของรัฐบาลญี่ปุ่นและกัมพูชา รวมถึงสภาพของธุรกิจเรือสำราญที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

  • เจาะไทม์ไลน์เรือสำราญ "ไดมอนด์ พรินเซส" และ "เวสเตอร์ดัม"

ไดมอนด์ พรินเซส

  • 4 กุมภาพันธ์ 2563 เรือสำราญไดมอนด์ พรินเซส จากบริษัทไดมอนด์ ครูซ ซึ่งมีผู้โดยสาร 2,666 คน และลูกเรืออีก 1,045 คน ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยทางการญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมเรือสำราญดังกล่าวในทันที หลังจากพบอดีตผู้โดยสารของเรือลำดังกล่าวติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นรายแรก ก่อนที่ตัวเลขผู้ป่วยบนเรือจะทยานสูงขึ้นแตะหลักร้อยราย
  • ผู้ป่วยทั้งหมดบนเรือถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาล ขณะที่ผู้โดยสารที่เหลือจะต้องถูกกักตัวบนเรือเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในวันนี้ (19 ก.พ.) โดยผู้โดยสารจะต้องอยู่แต่ในห้องพักของตนเอง และจะออกมายังดาดฟ้าเรือได้ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น
  • ด้านลูกเรือยังคงทำงานกันต่อไป โดยหนึ่งในลูกเรือได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า เธอกังวลใจมาก เพราะลูกเรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกกักตัวเช่นเดียวกับผู้โดยสาร
  • 13 กุมภาพันธ์ 2563 ญี่ปุ่นมีข้อกำหนดให้ผู้โดยสารที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวออกจากเรือก่อนได้ โดยผู้โดยสารกลุ่มนี้จะต้องผ่านการตรวจร่างกายและมีผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นลบ
  • 16 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลฮ่องกงได้เตรียมความพร้อมเพื่อส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำไปอพยพชาวฮ่องกงที่ถูกกักตัวอยู่บนเรือสำราญที่ญี่ปุ่นโดยเร็วที่สุด
  • สหรัฐได้ส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำของรัฐบาลจำนวน 2 ลำ ไปอพยพพลเมืองสหรัฐ โดยหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่า พลเมืองสหรัฐติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 44 ราย จากจำนวนผู้โดยสารชาวสหรัฐ 400 ราย
  • นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็ได้เตรียมตัวรับประชาชนจากเรือไดมอนด์ พรินเซส ด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย ฮ่องกง อิสราเอล แคนาดา และเกาหลีใต้
  • 18 กุมภาพันธ์ 2563 นายคัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้โดยสารทุกคนบนเรือไดมอนด์ พรินเซส แล้ว และจะเริ่มนำผู้โดยสารลงจากเรือได้ตั้งแต่วันนี้ โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้
  • ตัวเลขล่าสุดจากทางการญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสบนเรือไดมอนด์ พรินเซส อยู่ที่ 542 ราย ซึ่งถือว่าเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงที่สุดรองจากจีนแผ่นดินใหญ่

เรือสำราญเวสเตอร์ดัม

  • 16 มกราคม 2563 เรือสำราญเวสเตอร์ดัมของบริษัท ฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์ ซึ่งมีผู้โดยสารทั้งหมด 1,455 ราย เป็นชาวสหรัฐ 650 ราย และลูกเรืออีก 802 ราย ได้เดินทางออกจากสิงคโปร์
  • 1 กุมภาพันธ์ 2563 เรือเวสเตอร์ดัมได้เดินทางออกจากท่าเรือฮ่องกง
  • เรือสำราญลำนี้มีกำหนดสิ้นสุดการเดินทางที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ทางการญี่ปุ่นประกาศไม่อนุญาตให้เทียบท่า แม้ว่าในขณะนั้นจะมีการยืนยันจากทางเรือว่าไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 ก็ตาม
  • เรือเวสเตอร์ดัมยังคงรอนแรมขอความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียต่อไป ขณะที่ผู้โดยสารบนเรือเริ่มเกิดความตึงเครียด เมื่อทางการฟิลิปปินส์ กวม ไทย และไต้หวันไม่อนุญาตให้เรือลำดังกล่าวเทียบท่า
  • สำหรับประเทศไทยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ตัดสินใจไม่ให้เรือสำราญเวสเตอร์ดัมจอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยระบุว่า ทางการไทยได้พิจารณาทุกอย่างบนหลักมนุษยธรรมแล้ว แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของชีวิตประชาชนด้วย
  • 12 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลกัมพูชาประกาศอนุญาตให้เรือสำราญเวสเตอร์ดัมเข้าจอดเทียบท่า พร้อมอนุญาตให้ผู้โดยสารและลูกเรือขึ้นฝั่งได้
  • 13 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาระบุว่า ทุกคนไม่มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
  • 14 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้โดยสารบนเรือเริ่มขึ้นฝั่ง และเดินไปทางขึ้นรถไปยังสนามบินสีหนุวิลล์ เพื่อขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำไปยังกรุงพนมเปญ ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินเพื่อกลับประเทศ
  • 16 กุมภาพันธ์ 2563 ทางการมาเลเซียประกาศว่า พบหญิงชาวสหรัฐติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้โดยสารที่เพิ่งลงมาจากเรือเวสเตอร์ดัม และเดินทางต่อมายังมาเลเซียเพื่อเตรียมเดินทางกลับประเทศ
  • มาตรการรับมือที่แตกต่างของญี่ปุ่นและกัมพูชา

รัฐบาลญี่ปุ่นมีความเข้มงวดในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังจากพบว่ามีอดีตผู้โดยสารของเรือสำราญเป็นผู้ติดเชื้อ ทางการก็ได้เข้าควบคุมเรือสำราญโดยทันที และเร่งกักกันพื้นที่เพื่อตรวจสุขภาพทุกคนบนเรือ ก่อนที่จะสั่งห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติที่เคยมีประวัติการเดินทางไปยังมณฑลหูเป่ยของจีนเข้าประเทศ ไม่ว่าจะแสดงอาการป่วยหรือไม่ก็ตาม

ภาพที่เผยแพร่ลงบนโลกโซเชียลเผยให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของญี่ปุ่นใส่หน้ากากและชุดป้องกันโรคเต็มอัตราในการเข้าตรวจพื้นที่ ตอกย้ำถึงความเข้มงวดของภาครัฐในการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบ ความจริงจังของญี่ปุ่นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เนื่องจากรัฐบาลได้มอบไอโฟน 2,000 เครื่องให้กับผู้โดยสารในเรือ เพื่อใช้แอปพลิเคชันของกระทรวงสาธารณสุขในการติดต่อกับแพทย์ เภสัชกร และจิตแพทย์ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเทียนนอกญี่ปุ่นจะไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ ทำให้ทั่วโลกต่างชื่นชมกระบวนการทำงานของญี่ปุ่น ดังที่ผู้นำประเทศอย่างนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้ให้คำมั่นไว้ว่า "ชีวิตและสุขภาพของประชาชนต้องมาก่อน"

สำหรับเรือเวสเตอร์ดัมนั้น หลังจากที่ลอยลำอยู่กลางทะเลมาหลายวัน รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ประกาศอ้าแขนรับเรือสำราญลำนี้เข้าเทียบท่า โดยเน้นย้ำถึงเหตุผลด้านมนุษยธรรม ถึงขนาดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับออกปากขอบคุณกัมพูชาที่มีน้ำใจรับเรือเวสเตอร์ดัมซึ่งมีผู้โดยสารเป็นชาวสหรัฐมากถึง 650 คน หลังจากที่เรือเทียบท่าในวันวาเลนไทน์ สมเด็จฮุน เซน และคณะรัฐมนตรีได้เดินทางมาเป็นผู้ต้อนรับด้วยตนเอง ซึ่งผู้นำกัมพูชาได้มอบดอกกุหลาบแดงให้กับผู้โดยสารบนเรือ พร้อมจับมืออย่างเป็นกันเอง โดยไม่มีการสวมใส่เครื่องมือทางการแพทย์ใด ๆ เพื่อป้องกันตนเองแม้แต่ "หน้ากากอนามัย" โดยทางการกัมพูชาได้ยืนยันอย่างมั่นใจว่า ไม่มีผู้โดยสารบนเรือคนใดติดเชื้ออย่างแน่นอน

แต่ภายหลังจากนั้นเพียงไม่นาน ทางการมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ผู้โดยสารหญิงชาวสหรัฐวัย 83 ปีติดเชื้อไวรัสโคโรนา หลังจากที่เดินทางออกจากกัมพูชาเพื่อต่อเครื่องกลับประเทศ ด้วยเหตุนี้ มาเลเซียจึงได้ตัดสินใจประกาศไม่ให้ผู้โดยสารที่เหลือเข้าประเทศเด็ดขาด เนื่องจากถือว่ากลุ่มคนดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามตามมาถึงประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดบนเรือสำราญ และทำให้นานาชาติเริ่มไม่มั่นใจว่า กัมพูชาได้ตรวจสุขภาพของผู้โดยสารและลูกเรือ 2,257 คนอย่างละเอียดรอบคอบแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ ความหละหลวมเหล่านี้ยังทำให้ทั่วโลกต้องวิตกกังวล เนื่องจากขณะนี้ผู้โดยสารกว่าครึ่งได้เดินทางกลับประเทศของตนเองแล้ว ส่งผลให้โอกาสที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกมีสูงขึ้นกว่าเดิม

  • เรือสำราญพร้อมใจเลี่ยงเส้นทางเอเชีย หนีโควิด-19

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการเรือสำราญหลายรายได้ตัดสินใจเลี่ยงการให้บริการในเอเชีย ขณะที่บางส่วนเลือกปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ จากเดิมที่มีกำหนดเทียบท่าที่จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์

ด้านรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียก็ประกาศห้ามเรือสำราญเทียบท่าด้วยเช่นกัน เนื่องจากวิตกกังวลว่าเรือสำราญจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นดี เพราะการแพร่เชื้อจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้ง่ายในพื้นที่ปิด โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เรือสำราญหรูแอนเธม ออฟ เดอะ ซี จากบริษัทรอยัล แคริบเบียน อินเตอร์เนชัลเนล ก็ออกเดินทางช้ากว่ากำหนดถึง 2 วัน เนื่องจากต้องตรวจสุขภาพผู้โดยสารที่มีประวัติการเดินทางไปจีนมาก่อน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา บริษัท รอยัล แคริบเบียน ครูซส์ ได้ยกเลิกบริการเรือสำราญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 18 ทริป คิดมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 136 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยกเลิกการเดินทาง 8 ทริปในจีน พร้อมเตือนว่าอุตสาหกรรมเรือสำราญจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แน่นอน โดยนายริชาร์ด เฟน ซีอีโอรอยัล แคริบเบียน ครูซส์ ให้ความเห็นว่า ทุกองค์กรควรแสดงความรับผิดชอบ และต้องยึดถือแนวทางด้านความปลอดภัยอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการออกข้อบังคับในการโดยสารเรือ หรือการเปลี่ยนกำหนดการเดินทาง

ด้านบริษัท คาร์นิวัล คอร์ป เจ้าของพรินเซส ครูซส์ และฮอลแลนด์ อเมริกา ไลน์ ได้ออกมายอมรับว่า ทางบริษัทอาจได้รับผลกระทบการจากแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงแรก เนื่องจากมีการยกเลิกการให้บริการในจีนและเอเชียเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยอดจองตั๋วเรือสำราญทั่วโลกก็ลดลงตามไปด้วย แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขที่แน่ชัดได้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบวันต่อวัน แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า หากคาร์นิวัล คอร์ป จะต้องยกเลิกการให้บริการในเอเชียทั้งหมดจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ มูลค่าความเสียหายก็อาจสูงถึง 445 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.4 พันล้านบาทเลยทีเดียว

ด้วยสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องงัดกลยุทธ์มาดึงดูดลูกค้ากันอย่างหนัก โดยเอเจนซีบางแห่งได้เลือกโน้มน้าวให้ผู้โดยสารเปลี่ยนเส้นทางการท่องเที่ยวหรือปรับเปลี่ยนเวลาใหม่ แต่การตัดสินใจเช่นนี้ก็ยิ่งเป็นการสร้างความบอบช้ำให้กับภาคการท่องเที่ยวของเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงแม้เอเชียจะมีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของอุตสาหกรรมเรือสำราญโลก แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามองสำหรับบริษัทเรือสำราญที่ต้องการรุกขยายกิจการในระดับโลก เนื่องจากในจำนวนผู้โดยสาร 28.5 ล้านคน มีผู้โดยสาร 2.5 ล้านคนที่มาจากจีน ขณะที่ซิกเนเจอร์ ทราเวล เน็กเวิร์ก ซึ่งเป็นเครือข่ายเอเจนซีท่องเที่ยวรายใหญ่ ประเมินว่า อุปสงค์เรือสำราญลดลง 10%-15% เทียบรายปีในเดือนกุมภาพันธ์

ด้วยเหตุนี้ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จึงเป็นเสมือนฝันร้ายของวงการเรือสำราญ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่ถือว่าเป็นไฮซีชั่นที่มียอดจองตั๋วสูงสุดในรอบปีของธุรกิจ เราก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ