In Focusตลาดการเงินสุดเซอร์ไพร์ส หลังเฟดหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% หวังอุ้มเศรษฐกิจพ้นไวรัสมรณะ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 4, 2020 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่ำคืนของวันอังคารที่ 3 มี.ค.ตามเวลาประเทศไทย นักลงทุนทั่วโลกต่างประหลาดใจกันถ้วนหน้า เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% โดยให้เหตุผลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้สร้างความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เฟดตัดสินใจใช้ยาแรงเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

การปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อคืนนี้ เกิดขึ้นก่อนที่การประชุมตามกำหนดการของเฟดจะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค. และถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการเงิน

ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นหลังจากเฟดตัดสินใจทุบอัตราดอกเบี้ยรวดเดียว 0.50% ก็คือ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงกว่า 700 จุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่า การที่เฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยฉุกเฉินในครั้งนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า เฟดมีความวิตกกังวลอย่างมากต่อผลกระทบของไวรัสโควิด-19 จนไม่อาจรอจนถึงวันประชุมตามกำหนดการได้ ... คำถามที่ตามมาก็คือ เฟดเห็นความเสียหายมากน้อยเพียงใดในระบบเศรษฐกิจ? ผลกระทบเหล่านี้จะเกิดขึ้นนานเพียงใด? และเฟดมั่นใจได้อย่างไรว่า ยาแรงที่ว่านี้จะสามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้อย่างราบคาบ? และหากไวรัสมรณะตัวนี้เกิดดื้อยาและตายช้ากว่าที่คิดไว้ เฟดจะยังเหลือเครื่องมืออะไรในการพิชิตโควิด-19?

  • ประมวลความเห็นนักวิเคราะห์ หลังเฟดเปิดปฏิบัติการหั่นดอกเบี้ยก่อนวันประชุม

นักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทได้ออกมาแสดงทัศนะอันหลากหลายหลังจากเฟดหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อคืนนี้ โดยไมค์ ลาเบลลา นักวิเคราะห์จากบริษัท คิวเอส อินเวสเตอร์ส กล่าวว่า นโยบายการเงินอาจจะไม่ได้ช่วยเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 เพราะแม้ว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะส่งผลดีต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่เมื่อการแพร่ระบาดเข้าสู่ช่วงวิกฤต ความไม่แน่นอนและความผันผวนก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปีเตอร์ เคนนี ผู้ก่อตั้งบริษัท สตราเทจิก บอร์ด โซลูชั่นส์ ในรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า การที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำว่า เฟดมีความกังวลอย่างมากว่าไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

"โดยปกติแล้ว ตลาดหุ้นมักจะขานรับข่าวการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ครั้งนี้ ตลาดตั้งคำถามมากมายว่า ... แล้วเฟดจะทำยังไงต่อ?" นายเคนนีกล่าว

ขณะที่อาร์ท โฮแกน นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์เนชันแนล กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีคำถามเกิดขึ้นในหมู่นักลงทุนว่า มาตรการกระตุ้นทางการเงินหรือแม้แต่การกระตุ้นด้านการคลังนั้น จะสามารถเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่สินค้าขาดแคลนเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสได้ทำให้โรงงานต้องถูกชัตดาวน์ ขณะที่การเดินทางและการขนส่งต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมีมุมมองในด้านบวกต่อปฏิบัติการฟ้าผ่าของเฟดในครั้งนี้ โดยโทนี แฟรตโต นักวิเคราะห์จากฮามิลตัน เพลส สตราเทจีส์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยฝ่ายกิจการสาธารณะในสมัยรัฐบาลของอดีตปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวว่า การที่เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อคืนนี้ ถือเป็นสิ่งที่เฟดควรต้องทำ เพราะเฟดไม่อาจรอจนถึงการประชุมตามกำหนดในวันที่ 17-19 มี.ค.ได้ นอกจากนี้ นายแฟรตโตเชื่อว่า เจตนารมณ์ของเฟดคือการทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าเฟดไม่เคยอยู่นิ่งเฉยในยามที่บ้านเมืองเผชิญวิกฤตการณ์

"เฟดไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ในช่วงที่เศรษฐกิจถูกกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และคงเป็นไปไม่ได้ที่เฟดจะรอจนถึงการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ การตัดสินใจในเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก" นายแฟรตโตกล่าว
  • จับตาปฏิกริยาตลาดหุ้นทั่วโลกวันนี้ หลังนักลงทุนเริ่มคลายอาการแพนิค

หลังความตื่นตระหนกจากการหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟดได้ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืน ตลาดหุ้นบางแห่งในเอเชีย ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นโตเกียวและฮ่องกง กลับเริ่มเคลื่อนตัวในแดนบวก นั่นอาจเป็นเพราะ เมื่อฝุ่นเริ่มจาง ภาพก็เริ่มชัด และเปิดทางให้นักลงทุนเริ่มทบทวนหรือชั่งน้ำหนักในจุดยืนของเฟด รวมทั้งความตั้งใจของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกที่ต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยกันไปแล้วเมื่อวานนี้ เช่น ธนาคารกลางออสเตรเลียและมาเลเซีย จนถึงธนาคารกลางฮ่องกงที่เปิดเช้าวันใหม่ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% เช่นกัน

รายงานล่าสุดวันนี้ระบุว่า ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดภาคเช้าบวก 74.26 จุด หรือ 0.35% แตะที่ 21,156.99 จุด ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าบวก 32.74 จุด หรือ 0.12% แตะที่ 26,317.56 จุด ส่วนดัชนีตลาดหุ้นอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็เปิดตลาดในแดนบวก

อย่างไรก็ดี ภาพรวมของตลาดหุ้นเอเชียในช่วงเช้านี้ยังคงผันผวน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้นอีก 119 ราย เป็น 80,270 ราย ขณะที่ยอดติดเชื้อในเกาหลีใต้พุ่งขึ้น 516 ราย เป็น 5,328 ราย และยอดผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,000 รายแล้วในขณะนี้

  • จับตาท่าที G7 หลังออกแถลงการณ์พร้อมรับมือโควิด-19 แต่ไร้มาตรการชัดเจน

สถานการณ์ที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนในช่วง 2-3 วันนี้ก็คือ ท่าทีของกลุ่ม G7 หลังจากรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G7 จัดประชุมทางไกลเมื่อวานนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการรับมือผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยการประชุมในครั้งนี้ นำทีมโดยนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงคลังสหรัฐ และนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด

ที่ประชุม G7 ออกแถลงการณ์ระบุว่า "เมื่อพิจารณาผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เราขอยืนยันความมุ่งมั่นของเราที่จะใช้เครื่องมือด้านนโยบายทุกอย่างที่เหมาะสมในการบรรลุการขยายตัวที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง และป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลง ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของ G7 พร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังที่เหมาะสมเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพยุงเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ของ G7 จะสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพของราคา และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรักษาความยืดหยุ่นของระบบการเงิน"

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า แถลงการณ์ของ G7 ไม่ได้ระบุถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

... และสิ่งที่น่าจับตาในขณะนี้คือ ทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในวันนี้ โดยล่าสุด ณ เวลา 11.39 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ ดีดตัวขึ้น 300 จุด หรือ 1.16% แตะที่ 26,180 จุด ซึ่งบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังจากที่ทรุดลงไปกว่า 700 จุดเมื่อคืนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ