In Focusลุ้น "ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ" สตรีไทยคนแรกที่อาจได้เป็นรองปธน.สหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 15, 2020 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อหลายสำนักของสหรัฐทั้ง CNN, The Washington Post และ Politico รายงานว่า นางลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ นักการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายไทย เป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า อาจจะได้ลงสมัครเลือกตั้งคู่กับนายโจ ไบเดน เพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐจากนายโดนัลด์ ทรัมป์และนายไมค์ เพนซ์ ในศึกเลือกตั้งวันที่ 3 พ.ย.นี้

นายไบเดนได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่า เขาจะเลือกสุภาพสตรีเข้ามาเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมกับเขาในศึกเลือกตั้งสหรัฐเดือนพ.ย.นี้ และถ้าโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ก็จะเป็นสตรีเชื้อสายไทยคนแรกที่ได้เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก และเป็นเกียรติอย่างยิ่งกับประเทศไทย

In Focus สัปดาห์นี้ เราจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเธอคนนี้ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เหตุใดเธอจึงได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐคู่กับนายไบเดน

*เปิดประวัติ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ

ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ปัจจุบันอายุ 52 ปี เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีของแฟรงก์ แอล. ดักเวิร์ธ กับ ละไม ดักเวิร์ธ (สกุลเดิม สมพรไพลิน) สตรีชาวไทยเชื้อสายจีน

ครอบครัวของลัดดาโยกย้ายไปในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามหน้าที่การงานของบิดาซึ่งเป็นทหาร และจากการที่เธอเคยพำนักอยู่หลายประเทศ ทำให้เธอสามารถใช้ภาษาไทย, อินโดนีเซีย และอังกฤษ

ครอบครัวของเธอได้ลงหลักปักฐานในฮาวายขณะที่เธอมีอายุได้ 16 ปี เธอเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนสิงคโปร์อเมริกัน และโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ, สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเพรสซิเดนต์ วิลเลียม แมกคินลีย์ ไฮสกูล, ระดับอุดมศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาวาย วิทยาเขตมานัว, ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์

ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ สมรสกับพันตรีไบรอัน ดับเบิลยู. โบล์สบีย์ เจ้าหน้าที่กองพลสื่อสาร และสหายผ่านศึกในสงครามอิรัก และมีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน

*บทบาทของวีรสตรีที่เสียสละเพื่อชาติ

พันโทหญิงลัดดาสมัครเข้าร่วมกองทัพสหรัฐในปี 2535 และเลือกที่จะเป็นนักบินขับเฮลิคอปเตอร์ โดยระหว่างที่เธอเข้าร่วมรบในสงครามอิรักเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2547 เฮลิคอปเตอร์ UH-60 แบล็คฮอว์คที่เธอเป็นนักบินผู้ช่วย ถูกยิงตก ซึ่งทำให้เธอต้องสูญเสียขาทั้งสองข้าง และแขนข้างขวาพิการ อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้ทำการต่อแขนข้างขวาให้กับเธอ แต่เธอต้องนั่งบนรถเข็น และใช้ขาเทียมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ถึงแม้จะได้รับเหรียญกล้าหาญระดับ Purple Heart แต่พันโทหญิงลัดดาก็จะพูดอยู่ตลอดเวลาว่า เหรียญนี้ควรจะเป็นของ แดน มิลเบิร์ก เพื่อนนักบิน รวมถึงคนอื่นๆ ที่ช่วยกันลากร่างของเธอออกมาจากซากเฮลิคอปเตอร์ พาไปยังที่ปลอดภัยจนเธอได้รับการรักษาพยาบาล และมีชีวิตรอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ปัจจุบันพันโทหญิงลัดดายังคงรับราชการเป็นทหารในสังกัดกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐอิลลินอยส์ เช่นเดียวกับสามีของเธอ

*บนเส้นทางการเมือง หนทางสู่ทำเนียบขาว

ปัจจุบัน พันโทหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เป็นนักการเมืองอเมริกันเชื้อสายไทยที่สังกัดพรรคเดโมแครต และปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิกแห่งรัฐอิลลินอยส์

เมื่อปี 2555 เธอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 8 ของรัฐอิลลินอยส์ โดยถือเป็นสตรีเชื้อสายไทยคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภาแห่งรัฐอิลลินอยส์

พันโทหญิงลัดดาไต่เต้าทางการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 สมัย และเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก่อนจะมาเป็นวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 4 ของสมัยแรก โดยเธอได้มาถึงจุดที่จะต้องก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งต่อไปแล้ว และได้รับการจับตาว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมอีกคนหนึ่งที่จะได้รับคัดเลือกให้ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐคู่กับนายไบเดน

*โอกาสของ ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ กับการเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ

แฟรงค์ บรูนี คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ออกมาเชียร์ให้ไบเดนเลือกพันโทหญิงลัดดาเป็นคู่หูในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเธอมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเอาชนะทรัมป์ได้

สตรีคนอื่นๆ ที่อาจได้รับเสนอชื่อชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับไบเดนนั้น เกือบทุกคนมีจุดอ่อนที่อาจถูกฝ่ายทรัมป์โจมตี แต่แฟรงค์ บรูนี กล่าวว่า พันโทหญิงลัดดาเหมาะสมที่สุด เพราะเธอจะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ทั้งเรื่องความนิ่ง, ความมุ่งมั่น, ความโดดเด่น ซึ่งทรัมป์ไม่สามารถหาเรื่องมาโจมตีเธอได้เหมือนคนอื่นๆ

พันโทหญิงลัดดาเป็นผู้ที่จะสร้างความขุ่นเคืองให้กับทรัมป์ได้มากกว่าผู้ที่ติดโผคนอื่นๆ โดยเธอเป็นผู้ที่ตั้งฉายาให้ทรัมป์ว่า "นักเรียนทหารกระดูกงอก" (Cadet Bone Spurs) ซึ่งเว็บไซต์ www.bustle.com ระบุว่า ฉายานี้มีที่มาจากการที่ทรัมป์ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการกระดูกงอกในปี 2511 ทำให้เขาได้รับการผัดผ่อนในการเข้าเป็นทหารรับใช้ชาติ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงของการทำสงครามเวียดนามพอดี

พันโทหญิงลัดดาได้ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ว่า "ดิฉันสามารถยันกับทรัมป์ได้ชนิดที่คนอื่นทำไม่ได้" นั่นหมายความว่า เธอมั่นใจว่าประวัติการทำงานของเธอในแวดวงการเมืองและการได้ทำศึกสงครามในสนามรบจริง ทำให้ทรัมป์ไม่อาจจะหาเรื่องดูถูกเหยียดหยันเธออย่างที่เขาทำกับคู่แข่งทางการเมืองคนอื่นๆ ได้ และทรัมป์เองก็ไม่เคยเป็นทหารรับใช้ชาติด้วย

เธอบอกกับบรูนีว่า ทรัมป์เป็นพวกที่ชอบรังแกคนอื่น และสมควรที่จะต้องได้ลิ้มลองรสชาติของสิ่งที่เขาทำกับคนอื่น

การโจมตีศัตรูทางการเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์ นับเป็นสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญและถนัดเป็นที่สุด และในกรณีของพันโทหญิงลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธนั้น ประเด็นใหญ่ๆ ที่ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะหยิบยกเอามาใช้เป็นอาวุธโจมตีคงจะเป็นประเด็นที่ว่า "เธอไม่ได้เกิดในสหรัฐอเมริกา" แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่กลับคิดว่า นั่นมิใช่เรื่องสลักสำคัญแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การโฆษณาโจมตีของประธานาธิบดีทรัมป์ถือเป็นการปลุกกระแสที่มีอิทธิพลมากทีเดียว และการที่วุฒิสมาชิกดักเวิร์ธเป็นหนึ่งใน 48 เสียง ที่ยกมือโหวตให้ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งนั้น คงจะทำให้ทรัมป์เคียดแค้นเธอไปอีกนาน และคงหวังที่จะเอาคืนตามแบบฉบับของทรัมป์อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกเช่นกันว่า ในขณะที่วุฒิสมาชิกดักเวิร์ธกำลังมาแรงแซงหน้านักการเมืองคนอื่นๆ ในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น บรรดาสมุนของทรัมป์ก็ได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสกัดกั้นเธอบ้างแล้ว โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "ทักเกอร์ คาร์ลสัน" พิธีกรรายการทีวีช่อง Fox News ก็ได้ออกมากล่าวโจมตีวุฒิสมาชิกดักเวิร์ธว่า "เป็นคนที่มีความเกลียดชังสหรัฐ"

แต่ก็ได้ถูกวุฒิสมาชิกดักเวิร์ธทวีตโต้กลับอย่างทันควันว่า "อยากให้ ทักเกอร์ คาร์ลสัน มาลองสวมขาเทียมทั้งสองข้างแล้วลองเดินสักหนึ่งไมล์ดู ก็จะรู้ว่า ดิฉันมีความรักและทำทุกอย่างเพื่อสหรัฐหรือไม่"

ด้านนายแฮร์รี เอ็ม รีด อดีตผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาของสหรัฐซึ่งติดต่อกับทีมหาเสียงของนายไบเดนโดยตรงเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้ที่จะมาลงเลือกตั้งคู่กับไบเดนได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้วุฒิสมาชิกดักเวิร์ธได้รับความสนใจอย่างมาก และเขายังเรียกเธอว่า "สตรีที่มีเกียรติอย่างสูง" ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียเปรียบของวุฒิสมาชิกดักเวิร์ธก็คือ เธอไม่ได้มาจากรัฐที่อาจจะกำหนดชะตากรรมของผู้สมัคร หรือที่เรียกว่า battleground state เพราะโดยปกติผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีจะเลือกนักการเมืองที่โดดเด่นจากรัฐที่อาจเทคะแนนไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อกำหนดชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ได้

นอกจากนี้ เธอยังไม่ใช่คนผิวดำซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่อาจจะมีส่วนช่วยระดมคะแนนเสียงในปีนี้ที่การเมืองเรื่องสีผิวเป็นประเด็นร้อนแรง หลังการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และได้จุดชนวนประท้วง ‘Black Lives Matter’ ทั่วสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของวุฒิสมาชิกดักเวิร์ธก็คือ ความชัดเจนในจุดยืนทางการเมืองในแนวเสรีนิยมแบบเดโมแครต โดยเธอเคยได้รับเลือกให้กล่าวคำปราศรัยในการประชุมใหญ่ของพรรค 3 ครั้งที่ผ่านมา และเธอมีผู้สนับสนุนในกลุ่มทหารผ่านศึกด้วย

วุฒิสมาชิกดักเวิร์ธเปิดเผยกับรายการ State of the Union ของสำนักข่าว CNN ว่า "ฉันจะทำงานหนักเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้ง เพราะประเทศต้องการสิ่งนี้ ไม่ว่าฉันจะอยู่ตรงไหนในทีมก็ตาม"

เราคนไทยก็ต้องมาช่วยกันลุ้นว่า ภายในเดือนส.ค.นี้ จะมีการประกาศชื่อสุภาพสตรีเชื้อสายไทยคนนี้เป็นผู้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับโจ ไบเดน เพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐหรือไม่ และหากเดโมแครตคว้าชัยชนะได้ วุฒิสมาชิกลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ก็จะได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ และเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่มีเชื้อสายไทยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ