In Focusโค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐ "ไบเดน" ยังเป็นต่อ "ทรัมป์" รอลุ้นผล 3 พ.ย.นี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 28, 2020 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ ที่ชาวอเมริกันจะเดินเข้าคูหาเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 46 ผู้จะมากำหนดเส้นทางอนาคตของสหรัฐอเมริกาในอีก 4 ปีถัดจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กับนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ซึ่งเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยนายบารัค โอบามา และคร่ำหวอดในแวดวงการเมืองของสหรัฐมายาวนาน In Focus สัปดาห์นี้จะพาไปเกาะติดสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อนับถอยหลังสู่วันเปิดคูหาไปพร้อมๆ กัน

*เทียบนโยบายหมัดต่อหมัด

ในขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที สิ่งสำคัญที่ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ให้ความสนใจและกำลังพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจย่อมหนีไม่พ้นนโยบายของผู้สมัครแต่ละราย ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีได้ทำการเปรียบเทียบและสรุปนโยบายด้านต่างๆ ของผู้เข้าชิงทั้งสองเอาไว้ ดังนี้

โคโรนาไวรัส - ทรัมป์ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังโคโรนาไวรัสของทำเนียบขาวขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า เขาจะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการทำงานไปสู่ "ความปลอดภัยและการเปิดประเทศของเรา" นอกจากนี้ เขายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิธีการรักษาและวัคซีนป้องกันไวรัส โดยทุ่มเงินมากกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับโครงการนี้ ขณะที่ไบเดนต้องการให้มีการจัดตั้งโครงการตรวจหาการติดเชื้อแห่งชาติขึ้น โดยตั้งศูนย์ตรวจหาเชื้อโรคอย่างน้อย 10 จุดในทุกรัฐทั่วประเทศ และให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังแสดงการสนับสนุนการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

นโยบายสภาพอากาศ - ทรัมป์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขามีความกังขาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และต้องการที่จะขยายการใช้พลังงานสิ้นเปลือง โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มการขุดเจาะหาน้ำมันและก๊าซ ทั้งยังได้ผ่อนคลายนโยบายการปกป้องสภาพแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็ยืนกรานที่จะถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสหรัฐมีกำหนดจะออกจากการเป็นประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ ส่วนไบเดนได้ออกมาให้คำมั่นในเรื่องนี้ว่า ทันทีที่เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี เขาจะเข้าร่วมในความตกลงปารีสอีกครั้ง โดยต้องการให้สหรัฐมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 พร้อมประกาศยกเลิกสัญญาการเจาะหาน้ำมันและก๊าซในที่ดินสาธารณะ และจะทุ่มเงินมากกว่าสองพันล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับการใช้พลังงานสีเขียว

นโยบายเศรษฐกิจ - ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะสร้างงานมากกว่า 10 ล้านตำแหน่งภายใน 10 เดือน และสร้างธุรกิจขนาดเล็กหน้าใหม่มากกว่าหนึ่งล้านธุรกิจ รวมถึงการลดภาษีเงินได้ และลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเหล่านั้นรักษาตำแหน่งงานในสหรัฐเอาไว้ ขณะที่ไบเดนต้องการเพิ่มภาษีจากผู้ที่มีรายได้สูง เพื่อนำมาใช้ในด้านบริการสาธารณะ โดยการเพิ่มภาษีนี้จะส่งผลต่อบุคคลที่ทำเงินได้มากกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในขณะเดียวกันเขาก็ยังสนับสนุนให้เพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง มาเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง

นโยบายสุขภาพ - ทรัมป์ต้องการยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ (Affordable Care Act) หรือที่รู้จักกันในชื่อ โอบามาแคร์ (Obamacare) ที่ถูกนำมาใช้ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเพิ่มระเบียบของรัฐบาลกลางเข้าไปในระบบประกันสุขภาพของเอกชน รวมทั้งประกาศว่า การปฏิเสธไม่ให้การดูแลประชาชนที่มีโรคมาก่อนนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยเขาอ้างว่าต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ระบบนี้ดีขึ้น ขณะที่ไบเดนต้องการปกป้องและขยายการใช้กฎหมายประกันสุขภาพ และลดอายุของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงเมดิแคร์ (Medicare) ซึ่งเป็นนโยบายที่สนับสนุนโดยรัฐบาลกลางสหรัฐ จากเดิมที่ระบุไว้ว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ต้องมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มาเป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ เขายังต้องการให้ชาวอเมริกันทุกคนมีทางเลือกในการสมัครแผนประกันสุขภาพที่มีความคล้ายคลึงกับเมดิแคร์ด้วย

นโยบายต่างประเทศ - ทรัมป์ยังคงเน้นย้ำความตั้งใจที่จะลดระดับกองกำลังของสหรัฐที่ประจำการอยู่ในประเทศต่างๆ ลง และจะทุ่มเงินงบประมาณให้กับกองทัพ พร้อมยืนหยัดที่จะท้าทายแม้กับประเทศพันธมิตร รวมทั้งใช้นโยบายภาษีการค้ากับประเทศจีนต่อไป ขณะที่ไบเดนให้สัญญาว่าเขาจะทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรของสหรัฐ รวมถึงจะยกเลิกภาษีแต่ฝ่ายเดียวที่เก็บจากกับประเทศจีนและทำให้จีนกลายมาเป็นแนวร่วมระหว่างประเทศ

นโยบายด้านเชื้อชาติและระบบตำรวจ - ทรัมป์กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าการเหยียดเชื้อชาตินั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่ในกองกำลังตำรวจสหรัฐ พร้อมแสดงจุดยืนว่าเป็นผู้สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย แม้จะไม่เห็นด้วยกับการล็อกคอ และเสนอที่จะทุ่มงบประมาณเพื่อการฝึกฝนให้ดีขึ้น ส่วนไบเดนชี้ว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และนโยบายของตำรวจก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคทางเชื้อชาติที่อยู่ในระบบยุติธรรม ในขณะเดียวกัน ไบเดนปฏิเสธที่จะตัดงบหรือยุบหน่วยงานตำรวจ

นโยบายอาวุธปืน - ทรัมป์ได้ตีความอย่างกว้างๆ สำหรับรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิอันชอบธรรมในการครอบครองอาวุธ แต่เขาก็เสนอให้มีการตรวจสอบประวัติย้อนหลังของผู้ที่ต้องการซื้อปืน หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงเมื่อปี 2562 แม้จะยังไม่มีการดำเนินการที่ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ขณะที่ไบเดนเสนอจะประกาศห้ามไม่ให้มีการใช้อาวุธที่มีกำลังทำลายล้างสูง และต้องการให้มีการตรวจสอบประวัติบุคคล จำกัดจำนวนการครอบครองอาวุธ และแก้ไขกฎหมายให้มีขั้นตอนการฟ้องร้องผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายปืนที่ละเลยกฎหมายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เขายังจะสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อป้องกันความรุนแรงจากการใช้ปืนด้วย

การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ทรัมป์ยืนยันว่าเขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะแต่งตั้งผู้พิพากษาที่เป็นตำแหน่งว่างในระหว่างการเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกของเขา และได้เสนอชื่อเอมี โคนีย์ แบร์เรตต์ ผู้พิพากษาฝั่งอนุรักษ์นิยมเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาคนใหม่ ซึ่งถูกมองว่าอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นหลังจากนี้ในประเด็นเรื่องสิทธิการทำแท้งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์และผู้พิพากษาบาร์เรตต์ไม่เห็นด้วย ขณะที่ไบเดนต้องการให้การเสนอชื่อผู้พากษาศาลฎีกาคนใหม่เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง โดยเขาระบุว่า หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาจะทำงานเพื่อผ่านร่างกฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้ง

*ชาวอเมริกันมอง "ไบเดน" เหนือกว่า "ทรัมป์" ในการดีเบตทั้งสองครั้ง

ไฮไลท์ที่ถูกจับตาทุกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐก็คือการโต้เวที หรือดีเบต ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จะต้องออกมาแสดงวิสัยทัศน์ในด้านต่างๆ ต่อชาวอเมริกัน โดยจากสถิติพบว่าการดีเบตมักจะมีผลทำให้คะแนนนิยมของผู้สมัครสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ในเวลาชั่วข้ามคืน

การดีเบตยกแรกระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน และ นายโจ ไบเดน คู่ชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครต ได้ถูกจัดขึ้นรัฐโอไฮโอในวันอังคารที่ 29 ก.ย.นี้ เวลา 21.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับวันพุธที่ 30 ก.ย.เวลา 08.00 น.ตามเวลาไทย โดยมี คริส วอลเลส ผู้สื่อข่าวจากสถานีฟ็อกซ์นิวส์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และใช้เวลาในการดีเบตไปทั้งสิ้น 90 นาที

ทั้งนี้ การดีเบตครั้งแรกเป็นไปในบรรยากาศที่เผ็ดร้อน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายใช้ต่างก็ถ้อยคำที่รุนแรง และพูดแทรกกันไปมาเกือบตลอดเวลา จนทำให้ผู้ดำเนินรายการ ต้องเตือนให้ทั้งสองคนอยู่ในความสงบและไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป เพราะเป็นการถ่ายทอดสดซึ่งมีประชาชนทั่วโลกกำลังรับชมอยู่

หลังเสร็จสิ้นการดีเบต สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดีเบตรอบนี้ พบว่า 6 ใน 10 ของผู้รับชมการดีเบตมองว่า ไบเดนอภิปรายได้ดีที่สุด และมีเพียง 28% เท่านั้นที่มองว่า ทรัมป์อภิปรายได้ดีที่สุด ซึ่งคล้ายคลึงกับเมื่อครั้งที่มีการดีเบตในปี 2559 ระหว่างทรัมป์ และนางคลินตัน ซึ่งผลปรากฏว่า 62% ของผู้รับชมการดีเบตมองว่า นางฮิลลารีทำผลงานได้ดีที่สุดในการดีเบต และมีเพียง 27% เท่านั้นที่มองว่าทรัมป์อภิปรายได้ดีที่สุด

ส่วนการดีเบตรอบสอง จากเดิมซึ่งมีกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 15 ต.ค. ที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ได้ถูกยกเลิกไป หลังจากที่คณะกรรมการจัดการอภิปรายของผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐขอปรับเปลี่ยรูปแบบการดีเบตมาเป็นออนไลน์ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของทรัมป์ ซึ่งถูกตรวจพบว่าติดโควิด-19 และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรักษาตัว แต่ทรัมป์ได้ปฏิเสธได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการดีเบตแบบในรูปแบบดังกล่าว

ขณะที่การดีเบตรอบสุดท้ายระหว่างทรัมป์และไบเดนได้ถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเบลมอนต์ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 22 ต.ค. (21.00 น.) ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเช้าวันศุกร์ที่ 23 ต.ค. (8.00 น.) ตามเวลาไทย โดยมีคริสเทน เวลเกอร์ ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี และผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว รับหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินการ

สำหรับการดีเบตรอบสุดท้ายนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาเล็กน้อย เนื่องจากในการดีเบตรอบแรกทรัมป์ได้ใช้วิธีการพูดสอดแทรกเพื่อขัดจังหวะการพูดของไบเดน ซึ่งแม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็สร้างความเบื่อหน่ายต่อชาวอเมริกันโดยทั่วไป ทำให้คณะกรรมการจัดการดีเบตตัดสินใจให้อำนาจพิธีกรในการปิดเสียงของผู้เข้าร่วมดีเบต ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกำลังพูดอยู่ จึงส่งผลให้การดีเบตครั้งนี้ค่อนข้างจะราบรื่นกว่ารอบแรก โดยทรัมป์มีท่าทีที่ดูสุภาพเรียบร้อยมากขึ้น และไม่ค่อยมีการพูดแทรกเหมือนรอบแรก ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ใช้เวลาพูดรวม 41 นาที ขณะที่ไบเดนได้พูดเกือบ 38 นาที ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากรอบแรกที่ทรัมป์พูดขัดจังหวะไบเดนแทบจะทุก 1 นาที

หลังเสร็จสิ้นการดีเบต CNN Instant Poll ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ชม ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่มองว่า ไบเดนแสดงวิสัยทัศน์ได้ดีกว่าทรัมป์ โดยผู้ชมการดีเบต 53% ระบุว่า ไบเดนชนะการดีเบตในครั้งนี้ ขณะที่ 39% ระบุว่าทรัมป์ชนะ อย่างไรก็ตาม ผลการดีเบตครั้งนี้นับว่าดีขึ้นสำหรับทรัมป์ เพราะในการดีเบตรอบแรกนั้น มีผู้ชมเพียง 28% ที่คิดว่าทรัมป์เป็นผู้ชนะในการดีเบต

*ผลสำรวจล่าสุดชี้ "ทรัมป์" มีคะแนนนิยมตามหลัง "ไบเดน" แต่ยังต้องจับตา Swing State

ณ นาทีนี้ โพลทุกสำนักต่างก็ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า โจ ไบเดน จะเป็นผู้คว้าชัยในการเลือกตั้งประธาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นโพลล่าสุดของบีบีซีที่ให้ไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์อยู่ที่ 51% ต่อ 43% หรือแม้แต่โพลของเดอะการ์เดียน ซึ่งระบุว่า คะแนนนิยมของไบเดน อยู่ที่ 51.8% สูงกว่าคะแนนนิยมของทรัมป์ซึ่งอยู่ที่ 42.3%

อย่างไรก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศนั้น ยังคงไม่สามารถชี้วัดได้ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อคราวเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2559 ซึ่งผลการสำรวจในขณะนั้นระบุว่า นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนเสียงมากกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เกือบ 3 ล้านเสียง แต่ปรากฏว่านางฮิลลารีกลับเป็นผู้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐใช้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (electoral college) โดยแต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของรัฐนั้นๆ ซึ่งผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งได้นั้นต้องได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐต่างๆ รวมกันอย่างน้อย 270 เสียง จากจำนวนทั้งสิ้น 538 เสียง

ในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ผู้สมัครจากทั้งพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันต่างก็มีรัฐที่เป็นฐานเสียงของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Safe State ซึ่งสามารถคาดเดาได้ว่าจะคว้าคะแนนเสียงจากรัฐดังกล่าวมาครองอย่างแน่นอน แต่ยังมีบางรัฐที่ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Swing State หรือ "Battleground State" ที่แปลตรงตัวได้ว่า เป็นสนามรบของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งโดยส่วนใหญ่ รัฐเหล่านี้จะเป็นรัฐที่ประชากรมีความคิดทางการเมืองแตกต่างกันในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ที่ผ่านมาทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันคว้าคะแนนจากรัฐเหล่านี้ได้มากน้อยสลับกันไปมา จึงถูกมองว่า เป็นรัฐที่มีความสำคัญต่อการชี้วัดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมาตลอด

สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ เดอะการ์เดียน ได้ทำการสำรวจคะแนนนิยมของไบเดนและทรัมป์ ในรัฐที่เป็น Swing State แห่งสำคัญ ซึ่งมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งรวมกันถึง 125 เสียง ได้แก่ ฟลอริดา (29 เสียง) เพนซิลวาเนีย (20 เสียง) โอไฮโอ (18 เสียง) มิชิแกน (16 เสียง) นอร์ทแคโรไลนา (15 เสียง) แอริโซนา (11 เสียง) วิสคอนซิน (10 เสียง) และไอโอวา (6 เสียง)

ผลการสำรวจพบว่า ไบเดนมีคะแนนนิยมนำทรัมป์ในรัฐต่างๆ ดังนี้ ฟลอริดา 1.7% (ไบเดน 48.8% ทรัมป์ 47.1%) เพนซิลวาเนีย 5.5% (ไบเดน 50.3% ทรัมป์ 44.8%) มิชิแกน 7.4% (ไบเดน 50.2% ทรัมป์ 42.8%) นอร์ทแคโรไลนา 2.7% (ไบเดน 49.3% ทรัมป์ 46.6%) แอริโซนา 3.7% (ไบเดน 48.9% ทรัมป์ 45.2%) และวิสคอนซิน (ไบเดน 50.7% ทรัมป์ 44.0%) ส่วนทรัมป์มีคะแนนนิยมนำไบเดนในรัฐโอไฮโอ 1.8% (ทรัมป์ 48.4% ไบเดน 46.6%) และรัฐไอโอวา ซึ่งทั้งสองมีคะแนนสูสีห่างกันเพียง 0.1% โดยทรัมป์มีคะแนนนิยม 47.3% ขณะที่ไบเดนมีคะแนนนิยม 47.2%

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังพิเศษไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้วิธีการลงคะแนนเสียงล่วงหน้า โดยล่าสุดมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้วกว่า 70 ล้านคน ซึ่งมากกว่าสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 58 ล้านคน และมีการคาดการณ์กันว่า ปีนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ส่วนผลการเลือกตั้งจะออกมาจะเป็นอย่างไร ใครจะได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ มาลุ้นไปพร้อมๆ กันในวันที่ 3 พ.ย.ที่จะถึงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ