In Focusวิกฤตน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ญี่ปุ่น จุดชนวนสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้านร้าวฉาน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 21, 2021 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ก็ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะกว่า 1 ล้านตันลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกภายในอีก 2 ปีข้างหน้า แม้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอีกหลายประเทศในเอเชีย จะออกมาคัดค้านกันตัวโก่งก็ตาม และยิ่งใกล้จะถึงวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ในวันที่ 22 เมษายนนี้ด้วยแล้ว เหล่านักอนุรักษ์นิยมโดยเฉพาะกลุ่มกรีนพีซก็ส่งเสียงต่อต้านการกระทำของญี่ปุ่นกันอย่างหูดับตับไหม้ โดยประณามว่าเป็นการละเลยสิทธิมนุษยชนและกฎหมายพาณิชยนาวีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังกล่าวหาว่าญี่ปุ่นเลือกวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายถูกที่สุด แทนที่จะใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อลดปริมาณสารกัมมันตรังสี

*ย้อนรอยที่มาน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีเจ้าปัญหา

น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ เป็นผลพวงของภัยพิบัติช็อคโลกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 12.45 น.ตามเวลาไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 9 แมกนิจูดทางชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น และจากนั้นได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหึมาซัดถล่มบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม และคร่าชีวิตประชาชนนับหมื่นคน แต่ที่หนักหนาสาหัสก็คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ได้ถูกคลื่นยักษ์ถล่มเข้าใส่จนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงและทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา ... หายนะที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะซึ่งบริหารโดยบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (TEPCO) ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งในญี่ปุ่นและประเทศข้างเคียง ห่วงโซ่อุปทานในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและหลายประเทศพังยับเยินในเวลานั้น ไม่เว้นแม้แต่สภาพจิตใจของประชาชนที่ได้รับความเจ็บปวดและหวาดผวาจนไม่อาจจะเยียวยาแม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม

สารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะได้กลายเป็นตราบาปที่ล้างไม่ออกของ TEPCO เพราะหลังจากเกิดหายนะได้ไม่นาน ก็มีการเปิดโปงรายงานบันลือโลกว่า TEPCO ยื่นข้อมูลเท็จต่อหน่วยงานของรัฐ จากที่เคยบอกว่าบริษัทมีการตรวจสอบอุปกรณ์ทุกอย่างของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างดีเสมอมา จนเมื่อถูกกระแสสังคมต้อนเข้ามุม จึงได้ออกมายอมรับว่า บริษัทไม่ได้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์กว่า 30 ชิ้นของเตาปฏิกรณ์ 6 เตาที่ฟูกุชิมะ และที่น่าตกใจก็คือคำสารภาพที่ว่า บอร์ดพลังงานซึ่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังวาล์วควบคุมอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์นั้น "ไม่เคยมีการตรวจสอบมานานถึง 11 ปี" ...รายงานอันเป็นเท็จของ TEPCO ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเสียหน้าอย่างแรง เพราะสะท้อนถึงความบกพร่องในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นรัฐบาลญี่ปุ่นมีความคิดที่จะโอนกิจการของ TEPCO มาอยู่ในความดูแลของรัฐ เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่รัฐบาลเองเป็นตัวตั้งตัวตีในการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ แต่กลับทำให้เกิดหายนะที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นนอกจากจะทำให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านสั่งระงับการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นในเวลานั้นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก จากที่เคยคาดหวังกันว่าจะเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่มาทดแทนเชื้อเพลิงชีวภาพที่กำลังเจอทางตัน เพราะความต้องการที่พุ่งพรวดทำให้อุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพเข้าไปแย่งวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพกลายเป็นโจทก์ของสังคมอยู่ในขณะนี้

กระแสความตื่นกลัวสารกัมมันตรังสีมีอานุภาพรุนแรงพอที่จะกระตุกรัฐบาลของชาติมหาอำนาจทั่วโลกให้หันมาทบทวนความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ฝรั่งเศส และเยอรมนี สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ไล่ตั้งแต่บริษัทโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หนาวๆร้อนๆไปกับการเตรียมถูกตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย ไปจนถึงบริษัทที่พยายามทำเรื่องขอกู้เงินเพื่อสร้างหรือขยายโรงไฟฟ้าที่ทำเอาธนาคารเจ้าหนี้ต้องเบรคแผนการปล่อยกู้กันจ้าละหวั่น

*อั้นไม่ไหว ยังไงก็ต้องปล่อยทิ้ง!

อันที่จริงรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะประกาศการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว หลังจากที่เลื่อนการตัดสินใจออกไปเนื่องจากมีการถกเถียงกันเป็นเวลานานกว่า 7 ปี ...แต่ในขณะนี้ รัฐบาลของนายซูงะไม่อาจเลื่อนแผนการปล่อยน้ำลงสู่ทะเลออกไปได้อีก เพราะหลังการถูกทำลายโดยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2554 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะต้องใช้น้ำในปริมาณมากเพื่อทำการหล่อเย็นเครื่องปฎิกรณ์เพื่อป้องกันการระเบิด โดยน้ำเหล่านี้เมื่อถูกใช้แล้วจะนำไปเก็บในพื้นที่รอบๆ โรงงาน จนถึงทุกวันนี้เป็นปริมาณมากกว่า 1 ล้านตัน และทางบริษัท TEPCO ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จะไม่มีสถานที่ในการกักเก็บน้ำดังกล่าวภายในปีหน้า TEPCO อ้างว่า น้ำที่จะถูกปล่อยลงสู่ทะเลในครั้งนี้จะผ่านการบำบัดโดยใช้ระบบแปรรูปของเหลวขั้นสูง หรือ ALPS (Advanced Liquid Processing System) แล้วเก็บไว้ในแทงก์น้ำกว่า 1 พันแทงก์ โดยกระบวนการบำบัดน้ำด้วยระบบ ALPS นี้จะช่วยกำจัดกัมมันตรังสีส่วนใหญ่รวมถึงสตรอนเทียม (Strontium) และซีเซียม (Caesium) เหลือเพียงไอโซโทปไฮโดรเจนที่ถูกเจือจางให้น้อยกว่า 1,500 เบกเคอเรล/ลิตร ซึ่งถือว่าน้อยกว่าความเข้มข้นตามมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่นถึง 40 เท่า และสอดคล้องกับมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และไม่สามารถเลื่อนเวลาได้อีกต่อไปเนื่องจากขาดแคลนสถานที่จัดเก็บ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังอ้างว่า การทิ้งน้ำปนเปื้อนในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เพียงเล็กน้อย และรัฐบาลจะออกคำชี้แจงโดยมีเหตุผลสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ต่อทุกฝ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

*ผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อน้ำปนเปื้อนบำบัดได้จริง หวั่นเป็นสารก่อมะเร็ง

แม้ญี่ปุ่นอ้างว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบ ALPS จะมีความปลอดภัยและปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเลได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ากระบวนการบำบัดน้ำด้วยระบบ ALPS นั้น แม้จะเอากัมมันตรังสีปนเปื้อนออกไปได้บางส่วน แต่เทคโนโลยีชนิดนี้ยังไม่สามารถขจัดสารกัมมันตรังสีทริเทียม (Tritium) ที่หลงเหลืออยู่ให้หมดไปได้

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐระบุว่า ทริเทียม มีคุณสมบัติแบบเดียวกับไฮโดรเจนธรรมดา คือสามารถจับกับออกซิเจนจนกลายเป็นน้ำได้ ทำให้เกิดน้ำที่เป็นกัมมันตภาพรังสีเรียกว่า "ทริเทรต วอเตอร์ (Tritiated Water)" มีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกับน้ำธรรมดา ที่สำคัญคือทริเทียมไม่สามารถกรองออกจากน้ำได้ และมีข้อมูลบางส่วนที่สนับสนุนว่า ทริเทียมเป็นสารที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก

ทางด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) แนะนำว่า ญี่ปุ่นควรเจือจางน้ำปนเปื้อนเหล่านั้นเสียก่อน ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทร แต่ถึงกระนั้นก็ตาม IAEA ได้แสดงความกังวลถึงปริมาณน้ำปนเปื้อนที่มีมากกว่า 1 ล้านตัน เพราะไม่ได้ถูกระบายมาเป็นเวลานานถึง 10 ปี

ผู้เชี่ยวชาญขององค์กรอื่นๆ พากันตั้งข้อสังเกตว่า ญี่ปุ่นเลือกทางที่ง่ายที่สุดและต้นทุนต่ำที่สุดด้วยการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล ทั้งๆที่มีอีกหลายทางเลือก ซึ่งรวมถึงการฝังลงใต้ดินและการทำให้ระเหยกลายเป็นไอ โดยญี่ปุ่นมองว่ากระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลและต้องใช้เวลานาน อีกทั้งยังต้องได้รับการรับรองเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมาย โดยเฉพาะกรรมวิธีการทำให้ระเหยกลายเป็นไอ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ยากจะควบคุม

  • ส่องปฏิกริยาประเทศเพื่อนบ้าน หลังญี่ปุ่นดึงดันปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล

แทบจะทันทีที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมาว่าจะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนก็ออกมาโจมตีอย่างไม่รอช้า โดยกล่าวว่าญี่ปุ่นไม่มีจิตสำนึกและขาดความรับผิดชอบ และเมื่อญี่ปุ่นเอาสีข้างเข้าแถด้วยการกล่าวอ้างถึงความปลอดภัยของน้ำด้วยแล้ว นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ไม่ขอทนอีกต่อไป จึงนำไปสู่วาทะกรรมอันลือลั่นที่ว่า "If treated radioactive water from Fukushima is safe, please drink it (ถ้าคุณบอกว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ถูกบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะมีความปลอดภัยละก็ งั้นก็ดื่มให้ดูหน่อยสิ!)" ...แถมยังหยอดท้ายอย่างเจ็บแสบว่า "The ocean is not Japan?s trash can (มหาสมุทรไม่ใช่ถังขยะของญี่ปุ่นนะจ๊ะ)

นายจ้าวประณามญี่ปุ่นว่าโง่เขลาในด้านนิเวศวิทยา และยังออกโรงท้าทายให้นายทาโร อาโสะ รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ดื่มน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี หลังจากที่นายอาโสะกล่าวว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำมาดื่มได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ นายจ้าวยืนยันว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ควรทิ้งน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลโดยไม่ได้รับการยินยอมจากชาติอื่น รวมถึงความเห็นชอบจาก IAEA

นายจ้าวยังได้เตือนสติรัฐบาลญี่ปุ่นว่าไม่ควรลืม "โรคมินามาตะ" และความเจ็บปวดของเหยื่อก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา โดยโรคมินามาตะเกิดจากการที่โรงงานผลิตสารเคมีของบริษัทชิสโซะของญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำในเมืองมินามาตะ ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆของจังหวัดคุมาโมโตะบนเกาะคิวชูทางตอนใต้ของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1930 ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวมีอาการอัมพาต เนื่องจากเนื้อสมองถูกทำลาย นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีปัญหาในระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์

นอกจากนี้ จีนยังเล่นหนักถึงขั้นขยายผลของปมขัดแย้งในครั้งนี้ไปสู่ประเด็นทางการทูต โดยได้เรียกตัวนายทารูมิ ฮิเดโอะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศจีนเข้าพบ เพื่อตำหนิรัฐบาลญี่ปุ่นที่ตัดสินใจทิ้งน้ำปนเปื้อนลงทะเลโดยไม่ฟังเสียงทัดทานของเพื่อนบ้าน

ทางด้านเกาหลีใต้ประกาศว่าจะยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ โดยจะขอให้ศาลมีคำสั่งระงับญี่ปุ่นไม่ให้ดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเล ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการในเกาหลีใต้ก็ขอร่วมวงต่อต้านญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน โดยซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในกรุงโซลได้จัดวางป้ายและติดโปสเตอร์บอยคอตต์สินค้าญี่ปุ่น

กระแสต่อต้านญี่ปุ่นยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงชาวเกาหลีเหนือ ฟิลิปปินส์ และไตัหวัน ที่ต่างลุกฮือประณามญี่ปุ่นว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลถือเป็นการก่ออาชญากรรมที่ไร้ยางอาย เป็นภัยต่อมนุษยชาติ และไม่อาจให้อภัยได้

  • จับตาท่าทีสหรัฐ หลังโดดอุ้มมหามิตรปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล

สหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นและยาวนานของญี่ปุ่น ได้ออกมาแสดงความเข้าอกเข้าใจและยืนเคียงข้างญี่ปุ่นทันทีที่ประกาศปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐสนับสนุนการตัดสินใจของญี่ปุ่น และเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นได้ทำการทดสอบทางเลือกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดน้ำแล้ว นอกจากนี้ สหรัฐยังมองว่า การตัดสินใจของญี่ปุ่นถือเป็นการแสดงออกที่โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ปฏิบัติกันทั่วโลก

เท่านั้นยังไม่พอ นายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐถึงกับโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ว่า "We thank Japan for its transparent efforts in its decision to dispose of the treated water from the Fukushima Daiichi site. We look forward to the Government of Japan's continued coordination with the @iaeaorg (เราขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความพยายามอันโปร่งใสของท่านในการตัดสินใจที่จะทิ้งน้ำที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ ไดอิจิ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะยังคงติดต่อประสานงานร่วมกับ @iaeaorg (สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล-IAEA)

การอวยชาติมหามิตรของนายบลินเคนถือเป็นการเรียกแขกชาวโซเชียลให้เข้ามารุ่มถล่มจนทวิตเตอร์แทบล่ม บ้างก็เชิญชวนให้นายบลินเคนทดลองดื่มน้ำปนเปื้อนก่อนเป็นคนแรก บางคนเล่นแรงถึงขั้นด่ากราดว่าขาดความรู้และไล่ให้รัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ลาออกไปเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน

สิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจในเวลานี้ก็คือ บรรดาประเทศเพื่อนบ้านจะประสบความสำเร็จในการกดดันให้ญี่ปุ่นล้มเลิกความตั้งใจที่จะทิ้งน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้หรือไม่ และหากทำไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้นกับท้องทะเลมหาสมุทรแปซิกที่จีนตอกหน้าญี่ปุ่นไว้อย่างเจ็บแสบว่า ที่นี่ไม่ใช่ถังขยะของญี่ปุ่น!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ