In Focusยุติธรรมหรือกีดกันทางเพศ? กรณีห้ามนักกีฬาว่ายน้ำข้ามเพศลงแข่งประเภทหญิง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 22, 2022 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากที่เราได้นำเสนอเรื่องความเป็นมาของ "ไพรด์มันท์" (Pride Month) ไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ข่าวเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) กลายมาเป็นประเด็นเด็ดเผ็ดร้อนในรอบสัปดาห์อีกครั้ง เมื่อสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (FINA) ออกนโยบายใหม่ ห้ามนักกีฬาข้ามเพศเข้าแข่งขันว่ายน้ำประเภทหญิง

หลังมีนโยบายใหม่ออกมา ก็เกิดข้อถกเถียงขึ้นทันทีว่า การแบนนักกีฬาข้ามเพศแบบนี้เป็นไปเพื่อความยุติธรรมของผู้หญิง หรือจริง ๆ เป็นการกีดกันทางเพศ แล้วอะไรเป็นชนวนเหตุให้ FINA ต้องออกกฎเช่นนี้ วันนี้ In Focus จึงขอพาไปสำรวจนโยบายใหม่ของ FINA รวมถึงกระแสตอบรับในเรื่องนี้ และที่มาแห่งปมความขัดแย้ง เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณาว่าเรื่องนี้ยุติธรรมหรือไม่เท่าเทียมกันแน่

*FINA ออกกฎ ห้ามนักว่ายน้ำข้ามเพศลงแข่งกับผู้หญิง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย.) FINA ลงมติห้ามนักว่ายน้ำข้ามเพศ (จากชายเป็นหญิง) เข้าแข่งขันในประเภทหญิงและจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมจัดการแข่งขันประเภท "เปิด" เพื่อให้นักว่ายน้ำข้ามเพศลงแข่งได้ โดยออกเอกสารนโยบายฉบับใหม่ความยาว 34 หน้า กำหนดว่า นักกีฬาข้ามเพศจากชายเป็นหญิงจะไม่มีสิทธิลงแข่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเริ่มระงับการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายก่อนเข้าช่วงวัยแตกเนื้อหนุ่มที่ระดับ Tanner Stage 2 หรือก่อนอายุ 12 ปี

มติของ FINA ซึ่งถือว่าเข้มงวดที่สุดในบรรดาองค์กรกีฬาโอลิมปิก มีขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยวิสามัญ ณ สนามกีฬาปุชกาช อารีนา ในช่วงการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำชิงแชมป์โลกในกรุงบูดาเปสต์ หลังจากที่ชาติสมาชิกได้รับรายงานจากคณะกรรมการเฉพาะกิจ อันประกอบด้วยคนข้ามเพศระดับชั้นนำจากแวดวงการแพทย์ กฎหมาย และกีฬา ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวผ่านมติเสียงส่วนใหญ่ที่ราว ๆ 71% จากชาติสมาชิกทั้งหมด 152 รายที่มีสิทธิ์โหวต

นายฮุสเซน อัล มุสซาลาม ประธาน FINA กล่าวว่า "เราต้องปกป้องสิทธิ์ของนักกีฬาในการแข่งขัน แต่เราก็ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขันของเราด้วย โดยเฉพาะในการแข่งขันของ FINA ประเภทหญิง"

"FINA ยินดีต้อนรับนักกีฬาทุกคนเสมอ การสร้างการแข่งขันประเภทเปิดจะหมายความว่า ทุกคนสามารถเข้าร่วมการแข่งขันในระดับสูงได้ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ดังนั้น FINA จึงต้องเป็นผู้นำในการนี้ ผมต้องการให้นักกีฬาทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาไอเดียในระหว่างกระบวนการนี้"

ทั้งนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ออก "กรอบการทำงาน" ในประเด็นดังกล่าว โดยปล่อยให้องค์กรกีฬาแต่ละแห่งตัดสินใจเอาเองว่าจะกำหนดคุณสมบัติของนักกีฬาที่มีสิทธิ์เข้าแข่งขันไว้อย่างไร และว่าจะปฏิบัติตามนโยบายของ FINA หรือไม่ แต่ IOC ระบุว่า "จนกว่าจะมีหลักฐานบ่งชี้เป็นอย่างอื่น ไม่ควรถือว่านักกีฬามีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมหรือได้เปรียบมากเกินสัดส่วน เนื่องจากความหลากหลายทางเพศ รูปกายภายนอก และ/หรือสถานะความเป็นคนข้ามเพศ"

*ฝั่งสนับสนุน: FINA ทำถูกต้อง เพื่อความยุติธรรมในการแข่งขัน

ชารอน เดวีส์ อดีตนักว่ายน้ำรางวัลเหรียญเงินโอลิมปิกในการแข่งขันปี 2523 ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่นักกีฬาข้ามเพศจะมาแข่งว่ายน้ำประเภทหญิงนั้น เปิดเผยกับทางบีบีซี สปอร์ต ว่ารู้สึกภูมิใจกับ FINA อย่างยิ่ง

"ฉันรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งต่อกีฬาของฉัน ต่อ FINA และประธาน FINA ที่ดำเนินการตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยสอบถามความเห็นจากนักกีฬา/โค้ช แล้วยืนหยัดสนับสนุนให้กีฬาของผู้หญิงมีความยุติธรรม การว่ายน้ำยินดีต้อนรับทุกคนเสมอไม่ว่าคุณจะระบุตัวเองว่าเป็นเพศอะไรก็ตาม แต่ความยุติธรรมคือเสาหลักของกีฬา"

"กีฬามีลักษณะกีดกันโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เราจะไม่เอาเด็กชายอายุ 15 ไปแข่งในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 เราจะไม่เอานักมวยรุ่นเฮฟวีเวทไปชกกับรุ่นแบนตัมเวท เหตุผลที่เรามีการจัดแบ่งเป็นหลาย ๆ ประเภทในพาราลิมปิกก็เพื่อเราจะได้สร้างโอกาสที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน"

"นั่นคือวัตถุประสงค์ของการจัดประเภทในกีฬา" เดวีส์กล่าว และหากไม่มีการจัดประเภทแล้ว "คนกลุ่มเดียวที่จะพ่ายแพ้ในเรื่องนี้ก็คือผู้หญิง ผู้หญิงจะเสียสิทธิ์ในการได้แข่งกีฬาอย่างยุติธรรม"

*ฝั่งคัดค้าน: นี่คือการกีดกันทางเพศ

อย่างไรก็ดี ทางกลุ่ม Athlete Ally (พันธมิตรนักกีฬา) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เรียกร้องสิทธิ์ให้กับนักกีฬา LGBTQIA+ ได้ออกมาประณามมติของ FINA ในครั้งนี้ โดยออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ athleteally.org ว่า กฎเกณฑ์ด้านคุณสมบัติฉบับใหม่ของ FINA สำหรับนักกีฬาข้ามเพศและนักกีฬาที่มีภาวะเพศกำกวมนั้น ถือเป็นกฎที่มีการกีดกันแบ่งแยกล้ำลึก เป็นอันตราย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และไม่เป็นไปตามหลักการของ IOC ในปี 2564

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า กฎเกณฑ์การเข้าแข่งขันประเภทหญิงตามที่ระบุไว้ในนโยบายนี้เป็นการคอยควบคุมร่างกายของผู้หญิงทุกคน และเมื่อบังคับใช้นโยบายแล้ว จะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของนักกีฬาที่ต้องการลงแข่งในประเภทหญิง

นอกจากนี้ อาเลฆันดรา การาบาโย อาจารย์จากโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด และผู้เชี่ยวชาญด้านประเด็นคนข้ามเพศ กล่าวกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า กฎของ FINA จะเป็นใบเบิกทางให้องค์กรกีฬาอื่น ๆ ออกกฎแบนในลักษณะเดียวกัน และยังเป็นการบังคับให้นักกีฬาต้องคอยตรวจเลือดและต้องผ่านการตรวจร่างกายในลักษณะล่วงล้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งเวชระเบียน และอาจจะต้องทำเช่นนี้นานไปอีก 10 ปี

"นี่เป็นนโยบายกีดกันแบ่งแยกอย่างเหลือเชื่อที่พยายามแก้ปัญหาที่ไม่มีอยู่จริง" การาบาโยกล่าว "นี่เป็นผลมาจากอาการตื่นตระหนกทางศีลธรรมจากกรณีของลีอา โธมัส"

*ลีอา โธมัส: ต้นเหตุประเด็นถกเถียง

สิทธิ์ของนักกีฬาข้ามเพศกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าจะหาจุดสมดุลอย่างไร ระหว่างการไม่กีดกันทางเพศกับความยุติธรรมในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดกรณีของลีอา โธมัส นักว่ายน้ำจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียที่กลายเป็นนักกีฬาข้ามเพศ (จากชายเป็นหญิง) คนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ NCAA Division I หลังชนะในการแข่งว่ายน้ำหญิงแบบฟรีสไตล์ 500 หลาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ชัยชนะของโธมัสเรียกเสียงโห่จากผู้ชมในสนามบางส่วน โดยมีผู้ชมรายหนึ่งตะโกนขณะที่โธมัสให้สัมภาษณ์ว่า "ไอ้ขี้โกง"

"ฉันพยายามมองข้าม (ความเห็นด้านลบ) ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ฉันพยายามโฟกัสอยู่กับการว่ายน้ำและเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องทำเพื่อเตรียมตัวลงแข่ง แล้วเลิกคิดถึงเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมด" โธมัสให้สัมภาษณ์กับ ESPN หลังจบการแข่งขัน

ก่อนหน้านี้ โธมัสเคยลงแข่งว่ายน้ำในทีมชายของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนมาลงแข่งในทีมหญิงแล้วคว้าชัยชนะในหลายรายการ โดยเธอเริ่มเป็นที่จับตามองของสาธารณชนหลังทำผลงานได้อย่างน่าทึ่งในรายการซิปปี อินวิเทชันนอล (Zippy Invitational) ในรัฐโอไฮโอเมื่อเดือนธ.ค.ปี 2564 โดยทำเวลาได้ดีที่สุดในฤดูกาลของ NCAA ในการแข่งว่ายน้ำแบบฟรีสไตล์ประเภท 200 หลา และประเภท 500 หลา และต่อมาในเดือนก.พ. 2565 ก็คว้าแชมป์ในการแข่งว่ายประเภทหญิงของไอวีลีกแบบฟรีสไตล์ 100 หลา, 200 หลา และ 500 หลา

ชัยชนะเหล่านี้มาพร้อมกับเสียงวิจารณ์ว่านักกีฬาข้ามเพศควรได้รับอนุญาตให้ลงแข่งในประเภทหญิงหรือไม่ โดยเฉพาะในสหรัฐที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นอาวุธใน "สงครามทางวัฒนธรรม" ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายหัวก้าวหน้า

นักการเมืองเองก็โดดร่วมวงถกเถียงในเรื่องนี้ด้วย โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค. หลังจบการแข่งว่ายน้ำ NCAA Division I ประเภทหญิง ที่โธมัสคว้าแชมป์ไปนั้น นายรอน เดซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาสังกัดพรรครีพับลิกัน แถลงออกสื่อโดยประกาศให้เอ็มมา เวยันต์ ซึ่งได้ที่ 2 เป็น "ผู้ชนะตัวจริง"

นอกจากนี้ เพื่อนร่วมทีมว่ายน้ำของโธมัสบางส่วนก็มีปัญหากับการเข้าร่วมของเธอ โดยเมื่อช่วงเดือนก.พ. เพื่อนร่วมทีมว่ายน้ำจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย 16 คนจากทั้งหมด 40 คน เขียนจดหมายโดยไม่ระบุชื่อ วิจารณ์ลีอา โธมัส ว่า "เอาเปรียบ" โดยกล่าวว่า พวกตนสนับสนุนการแปลงเพศของเธอ แต่ไม่ใช่กับเรื่องลงแข่งว่ายน้ำ

อย่างไรก็ดี นักกีฬาว่ายน้ำกว่า 300 ชีวิตทั้งอดีตและปัจจุบัน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับมืออาชีพ ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนสิทธิ์ในการเข้าแข่งขันของโธมัส โดยหนึ่งในผู้ลงนามคือเอริกา ซัลลิแวน ผู้ชนะอันดับ 3 ในการแข่งขันรายการเดียวกันกับโธมัส

"ฉันโชคดีมากที่ชุมชนว่ายน้ำอ้าแขนต้อนรับในตอนที่ฉันเปิดตัวว่าเป็นเกย์ (เลสเบี้ยน)" ซัลลิแวนระบุในแถลงการณ์ "เช่นเดียวกับประสบการณ์ดี ๆ ที่ฉันได้รับตอนเปิดตัว รวมถึงความรักและกำลังใจจากชุมชนว่ายน้ำ ฉันรู้สึกว่า [ลีอา] ก็สมควรได้รับอย่างเดียวกัน"

ทั้งนี้ ลีอา โธมัส แสดงความเห็นว่า เธอต้องการลงแข่งว่ายน้ำเพื่อชิงตำแหน่งไปแข่งในโอลิมปิกปี 2567 อย่างไรก็ดี กฎใหม่ของ FINA ฉบับนี้จะห้ามไม่ให้เธอเข้าร่วมการแข่งขันโดยปริยาย

*ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและข้อกังวลต่อจากนี้

ดร.ไมเคิล จอยเนอร์ นักสรีรวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสมรรถภาพของมนุษย์กล่าวว่า "เทสโทสเตอโรนในช่วงแตกเนื้อหนุ่มจะเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางสรีรวิทยาของสมรรถภาพของมนุษย์ และเป็นตัวอธิบายความแตกต่างระหว่างเพศในด้านสมรรถภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะในอายุ 12 ปีที่จะเริ่มเห็นได้ชัด ต่อให้ระงับเทสโทสเตอโรนไว้ก็ตาม แต่ผลการเพิ่มสมรรถภาพจากฮอร์โมนดังกล่าวก็ยังคงอยู่"

อีกด้านหนึ่ง โจแอนนา ฮาร์เปอร์ นักฟิสิกส์การแพทย์ผู้เขียนบทความเป็นจำนวนมากในเรื่องเพศสภาพและกีฬา และเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่องค์กรกีฬาระดับนานาชาติหลายแห่งรวมถึง IOC กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ FINA ออกกฎดังกล่าว ผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้กำลังเข้าครอบงำกีฬาหญิง และจะไม่ทำเช่นนั้นด้วย"

ฮาร์เปอร์แสดงข้อกังวลว่า หลังจากนี้ แม้กระทั่งองค์กรในท้องถิ่นก็อาจจะมีข้ออ้างในการแบนนักกีฬาข้ามเพศด้วย โดยกล่าวว่า ถ้าเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติก็พอจะสมเหตุสมผลอยู่บ้าง แต่ที่น่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ก็คือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในการแข่งว่ายน้ำระดับสันทนาการ "จะเอา FINA เป็นแบบอย่างแล้วออกกฎข้อบังคับนี้กับเด็กมัธยมต้นด้วย"


แท็ก In Focus:  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ