In Focusส่องชะตาชีวิตหญิงอัฟกันที่พลิกผัน หลังตาลีบันไม่ทำตามสัญญา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 28, 2022 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อกลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจในอัฟกานิสถานในเดือนส.ค. 2564 ด้วยการเข้ายึดอำนาจอย่างรวดเร็วหลังจากกองทัพสหรัฐตัดสินใจถอนทหารออกไปนั้น ก็ดูเหมือนว่าตาลีบันจะพยายามเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองประเทศที่แตกต่างไปจากในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยแสดงบทบาทเป็นรัฐบาลสายกลางมากขึ้น พร้อมมุ่งมั่นที่จะดำเนินกระบวนการสันติภาพภายในประเทศ และในบรรดาคำมั่นสัญญาใหม่ ๆ นั้น ตาลีบันยืนยันที่จะเคารพสิทธิสตรีภายใต้บรรทัดฐานของกฎหมายอิสลามที่เรียกว่ากฎหมายชารีอะห์ (Sharia)

ซูฮาอิล ชาฮีน โฆษกของกลุ่มตาลีบันกล่าวในเวลานั้นว่า ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้สามารถศึกษาต่อจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการปลดเปลื้องสตรีจากข้อจำกัดเดิม ๆ ที่เข้มงวดภายใต้ระบอบการปกครองของตาลีบันในช่วงปี 2539-2544

แต่กระนั้นผู้คนทั้งในอัฟกานิสถานและในต่างประเทศต่างก็ไม่ค่อยแน่ใจกับคำสัญญาเกี่ยวกับท่าทีที่ผ่อนปรนของตาลีบัน ขณะที่มีรายงานว่า ชาวอัฟกันกว่า 1 ล้านคนได้หลบหนีออกจากประเทศนับตั้งแต่ตาลีบันกลับเข้ามากุมอำนาจบริหาร และราว 16 เดือนให้หลัง กลุ่มตาลีบันก็ดูเหมือนว่าได้กลืนน้ำลายตัวเอง สตรีและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญกับคำสั่งห้ามด้านการศึกษา หลังจากการประกาศคำสั่งหลายฉบับที่กัดกร่อนสิทธิของผู้หญิงอย่างต่อเนื่องในเกือบจะทุกด้านของชีวิต โดยได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยได้รับหลังจากที่ต่อสู้มาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

เพียงไม่กี่วันหลังจากยึดอำนาจ กลุ่มตาลีบันก็ได้คืนสถานะให้กับกระทรวงเพื่อการเผยแผ่คุณธรรมและการป้องกันความชั่วร้าย (Ministry for the Propagation of Virtue and the Prevention of Vice) ในฐานะหน่วยงานเฝ้าระวังด้านศีลธรรมสาธารณะที่ได้รับมอบหมายให้บังคับใช้กฎหมายอิสลามฉบับตาลีบัน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระทรวงฯ ดังกล่าวก็กลายเป็นศูนย์กลางในการลิดรอนสิทธิสตรีภายในประเทศอย่างเป็นระบบ

In Focus สัปดาห์นี้ จะบอกเล่าให้ผู้อ่านทราบว่า นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันกลับมาปกครองอัฟกานิสถาน พวกเขาไม่ได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้ แต่กลับเดินหน้าจำกัดสิทธิของผู้หญิงในด้านต่าง ๆ

*ตาลีบันควบคุมเข้มงวดเครื่องแต่งกายสตรี

ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ ฮิบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดของตาลีบันได้สั่งให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบ (Hijab) ซึ่งเป็นผ้าคลุมของสตรีมุสลิมเพื่อปกปิดร่างกายทั้งหมดรวมถึงใบหน้าในสถานที่สาธารณะ และออกคำสั่งที่ระบุว่า สตรีควรอยู่แต่ในบ้านหากเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการปฏิบัติตามกฎหมายชารีอะห์ของอิสลามซึ่งทำหน้าที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิต โดยชาวมุสลิมทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ก่อนหน้านี้ การสวมฮิญาบเป็นกฎข้อบังคับเฉพาะนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยและนักเรียนหญิงในโรงเรียนมัธยมเท่านั้น แต่การบังคับให้สตรีสวมฮิญาบมีขึ้นในทันทีหลังจากที่กลุ่มตาลีบันขึ้นครองอำนาจอีกครั้ง โดยรัฐบาลตาลีบันยุคใหม่ระบุว่า นักเรียนหญิง, ครูอาจารย์ และสตรีที่ทำงานต้องสวมฮิญาบ ซึ่งเป็นไปตามการตีความกฎหมายชารีอะห์ของกลุ่มตาลีบัน

กลุ่มตาลีบันยังสั่งให้นักข่าวทีวีเพศหญิงสวมใส่ผ้าคลุมปิดบังใบหน้าขณะที่ทำการรายงานข่าวด้วย

นอกจากนี้ นับตั้งแต่กลับมามีอำนาจ กลุ่มตาลีบันได้สั่งยุบกระทรวงกิจการสตรี ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรี และได้จัดตั้งกระทรวงเผยแพร่คุณธรรมฯ ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมือของกลุ่มตาลีบันในการเดินหน้าลิดรอนสิทธิสตรี

สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า ตาลีบันยังได้ยกเลิกกฎหมายที่จะขจัดความรุนแรงต่อสตรีซึ่งมีการลงนามในปี 2552 ซึ่งใช้ในการปกป้องสตรีจากการทารุณกรรม รวมถึงการบังคับแต่งงาน ซึ่งส่งผลให้บรรดาสตรีไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้

*ตาลีบันห้ามสตรีอัฟกันไปโรงเรียน-มหาวิทยาลัย

กลุ่มตาลีบันเคยประกาศเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 ว่า สตรีสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แต่ต้องแยกห้องเรียนกับผู้ชาย และต้องสวมใส่ฮิญาบ แต่ต่อมาในเดือนมี.ค. 2565 รัฐบาลตาลีบันได้สั่งห้ามเด็กหญิงไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยม และสั่งปิดโรงเรียนมัธยมหญิงล้วน ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายความฝันของนักเรียนและครอบครัวที่อยากให้ลูกสาวของพวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นแพทย์ เป็นครู หรือวิศวกรหญิง

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตาลีบันได้ประกาศระงับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาสตรีทุกคนในประเทศ โดยจดหมายที่เผยแพร่โดยกระทรวงศึกษาธิการอัฟกานิสถานระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในทันที

*สตรีอัฟกันไม่สามารถเข้าใช้สถานที่สาธารณะ

ผู้หญิงในอัฟกานิสถานถูกห้ามเดินทางเข้าไปยังสถานที่สาธารณะภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 สตรีอัฟกันได้ถูกห้ามเข้าไปยังสวนสาธารณะทุกแห่งในกรุงคาบูลซึ่งเป็นเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน หลังจากที่ก่อนหน้านั้น ผู้หญิงเคยได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าไปยังสวนสาธารณะได้ 3 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้ชายเข้าสวนสาธารณะได้ 4 วันต่อสัปดาห์ แต่กฎเกณฑ์ใหม่ล่าสุดนั้นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปยังสวนสาธารณะทั้งหมดได้อีกต่อไป แม้ว่าจะเดินทางไปกับญาติที่เป็นผู้ชายก็ตาม

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตาลีบันในกรุงคาบูลยังประกาศว่า ห้ามผู้หญิงเข้าใช้โรงยิมทั่วประเทศด้วย โดยโฆษกของกระทรวงคุณธรรมฯ ระบุว่า คำสั่งห้ามดังกล่าวมีขึ้น เนื่องจากประชาชนเพิกเฉยกับคำสั่งให้แยกเพศหญิง-ชายในการใช้โรงยิม และเพราะสตรีไม่ยอมสวมฮิญาบ

*ตาลีบันห้ามสตรีทำงานในองค์กรธุรกิจ หรือแม้แต่ใน NGOs

สตรีในอัฟกานิสถานไม่สามารถทำงานในองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ได้อีกต่อไป โดยตาลีบันสั่งให้ผู้หญิงทำงานอยู่แต่ในบ้านหลังจากที่เข้ายึดอำนาจในเดือนส.ค. 2564 โดยอ้างว่า พวกเธออาจจะไม่ปลอดภัยหากพบเจอกับทหารของกลุ่มตาลีบัน

ล่าสุดรัฐบาลตาลีบันออกคำสั่งห้ามหญิงอัฟกันไม่ให้ทำงานกับองค์กรนอกภาครัฐ หรือ NGO โดยคำสั่งห้ามดังกล่าวในจดหมายจากกระทรวงเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานระบุว่า สตรีอัฟกันไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับ NGO อีกต่อไปจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม เนื่องจากพบว่า ผู้หญิงบางคนแต่งกายไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และหากตาลีบันพบว่า องค์กร NGO ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตการดำเนินงานในอัฟกานิสถาน

*สตรีอัฟกันถูกห้ามเดินทางโดยลำพังทั้งในและต่างประเทศ

แม้แต่สิทธิของสตรีที่จะเดินทางภายในอัฟกานิสถานและเดินทางไปยังต่างประเทศนั้นยังถูกจำกัดด้วย โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ตาลีบันประกาศว่า ผู้หญิงไม่สามารถเดินทางโดยลำพังเมื่อต้องการเดินทางไกลภายในประเทศ โดยผู้หญิงที่ต้องการเดินทางระยะไกลกว่า 75 กิโลเมตรนั้น จะต้องมีผู้ติดตามที่เป็นเพศชายร่วมเดินทางไปด้วย

โมฮัมหมัด ซาดิก ฮากิฟ มาฮาเยอร์ โฆษกของกระทรวงคุณธรรมฯ เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในเวลานั้นว่า กฎหมายใหม่นั้นมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้หญิงไม่ให้ได้รับอันตรายหรือถูกรบกวน และกฎเกณฑ์ใหม่นั้นยังรวมถึงคำสั่งที่ห้ามผู้หญิงขึ้นรถสาธารณะ หากไม่ยอมสวมฮิญาบด้วย

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สายการบินต่าง ๆ ของอัฟกานิสถานได้ห้ามสตรีโดยสารเครื่องบินโดยลำพัง หากไม่มีผู้ติดตามที่เป็นเพศชายร่วมเดินทางไปด้วย

*เสียงวิพากษ์ของนานาชาติต่อการจำกัดสิทธิสตรีอัฟกัน

การเดินหน้าจำกัดสิทธิสตรีในด้านต่าง ๆ โดยกลุ่มตาลีบันนั้น ได้สร้างความวิตกให้กับนานาประเทศ และมีแนวโน้มที่จะทำการโดดเดี่ยวอัฟกานิสถานในเวทีโลก

นายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐแสดงความเห็นหลังตาลีบันตัดสินใจสั่งห้ามผู้หญิงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ตาลีบันยังคงถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกต่อไป และถูกปฏิเสธความชอบธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มตาลีบันแสวงหา

นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐโพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เขามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ของสตรีในอัฟกานิสถาน พร้อมระบุเสริมว่า ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมทั่วโลก

นายโรเบิร์ต วูด เอกอัครราชทูตสหรัฐกล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า "ตาลีบันไม่สามารถคาดหวังว่าจะได้เป็นสมาชิกที่ชอบธรรมของประชาคมโลกได้ จนกว่าพวกเขาจะเคารพสิทธิของชาวอัฟกันทั้งหมด โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสตรีและเด็กหญิง

การออกมาตรการจำกัดใหม่ ๆ อาจกระตุ้นให้เกิดความไม่สงบเพิ่มขึ้นภายในประเทศ โดยหลังจากการประกาศห้ามสตรีเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนั้น บรรดาสตรีได้ออกมารวมตัวกันตามถนนสายต่าง ๆ ของกรุงคาบูลเพื่อประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาลตาลีบัน ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กลุ่มตาลีบันได้ทำการจับกุมตัวสตรีที่เข้าร่วมในการประท้วง

"พวกเขาทำลายสะพานเส้นเดียวที่เชื่อมโยงดิฉันกับอนาคต ดิฉันจะสามารถตอบโต้ได้อย่างไร ดิฉันเชื่อว่าจะสามารถศึกษาและเปลี่ยนแปลงอนาคต หรือนำแสงสว่างมาสู่ชีวิตของตนเองได้ แต่พวกเขากลับทำลายมันจนหมดสิ้น" นักศึกษาสตรีของมหาวิทยาลัยคาบูลรายหนึ่งกล่าวกับบีบีซี

อ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่า พวกเราโชคดีแค่ไหนแล้วที่ได้เกิดมาเป็นประชาชนของประเทศที่ยังเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตของผู้หญิง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ