Media Talk: กูรูแวดวงกีฬาเผย 5 เทรนด์ Sport Marketing ที่น่าจับตา

ข่าวทั่วไป Friday August 30, 2019 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กีฬาถือเป็นอีกไลฟ์สไตล์หนึ่งที่อยู่รอบๆตัวเรามาโดยตลอด แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของ Sport Marketing หรือ Digital Sport Marketing และ ทั้ง 2 เรื่องนี้ยังไม่เข้ามามีอิทธิพลกับคนไทยอย่างเต็มที่เท่าไรนัก ถ้าเรามองไปที่ตลาดในต่างประเทศ การแข่งขันกีฬาแต่ละครั้งมักจะมีมากกว่าการประกาศผลรางวัล โดยเฉพาะการเล่าถึงเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของนักกีฬา เช่นกัน เราสามารถทำเรื่องราวเหล่านี้ได้ในไทย และยิ่งไปกว่านั้นในไทยอาจจะทำได้มากกว่าในต่างประเทศเนื่องจากมีข้อจำกัดที่น้อยกว่า

หากพูดถึงตลาดกีฬาในบ้านเรา รายได้ในอุตสาหกรรมกีฬาบ้านเราอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท ซึ่งมียอดการเติบโต 5-6 % ต่อปี และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองไปถึงจำนวนผู้เล่นกีฬาแล้ว ผลสำรวจพบว่าคนไทยที่ออกกกำลังกายเป็นประจำมีอยู่ประมาณ 16 ล้านคน ส่วนกลุ่มคนที่ชื่นชอบกีฬาแต่ไม่ออกกำลังกายอยู่ที่จำนวนประมาณ 35 ล้านคน เมี่อมองในมุมของนักการตลาดแล้ว นี่คือกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่มาก

เมื่อมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา แน่นอนว่ามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนโลกของ Sport Marketing และโลกกีฬาของเราไปอย่างสิ้นเชิง เช่นพฤติกรรมคนดู ในสมัยก่อนจะต้องดูกีฬาแบบชิดขอบสนาม นักการตลาดจึงต้องทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่สนามฟุตบอล ยุคถัดมามีการถ่ายทอดสดฟุตบอลในทีวีซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการมีการถ่ายทอดสดในบางสถานที่ นักการตลาดจึงต้องย้ายมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายตามสถานที่ที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลในช่วงกลางคืน แต่วันนี้ เราสามารถดูการแข่งขันฟุตบอลได้ทุกที่ ซึ่งแน่นอนว่านักการตลาดต้องทำการบ้านในเรื่องช่องทางการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น โดยตัวอย่างของช่องทางส่งเสริมการขายที่เกิดขึ้นนั้น มีทั้งการไทน์อินสินค้า หรืออาหารระหว่างการพากย์ฟุตบอล ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากการที่โลกดิจิทัลได้เข้ามามีอิทธพลต่อกลุ่มคนดูกีฬา

แล้วถ้าจะดึงเรื่องราวของ"กีฬา"มาทำตลาดหรือแคมเปญในยุคดิจิทัลจะทำอย่างไร Media Talk จะพาไปส่อง 5 เทรนด์ในสายตาของกูรู Sport Marketing กัน

5 เทรนด์ Sport Marketing ทั่วโลก

1.Women In Sports

ทุกวันนี้มีแฟนบอลที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งด้วยเหตุผลความชื่นชอบส่วนตัว หรือเพื่อเข้าสังคม พูดคุยกับเพื่อนฝูงก็แล้วแต่ นอกจากนั้นจากการสำรวจกลุ่มคนดูกีฬาในอเมริกาพบว่า 84 % มีความสนใจดูการแข่งขันกีฬาที่มีนักกีฬาเพศหญิง โดยเฉพาะกีฬาที่มีความน่าสนใจ และสนุก เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ วอลเล่ย์บอล ดังนั้นการทำการตลาดในกลุ่มผู้หญิงจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าจับตามองสำหรับนักการตลาดในยุคนี้

2.Social Good หรือการทำ CSR

การทำ CSR หลายๆท่านทราบอยู่แล้วว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ทำให้คนสนใจ ชื่นชอบแบรนด์นั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มทำ CSR ผ่านทางกีฬามากขึ้น เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ และแน่นอนการทำ CSR ในไทยที่เราพบเห็นกันนั่นก็คือ "กีฬาวิ่ง" นั่นเอง

3.Social Channels

Social media เป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อสื่อสารในยุคนี้ เมื่อพูดถึงในมุมของกีฬา Social media มีอิทธิพลอย่างมากในเรื่องการแชร์ข้อมูลข่าวสาร พูดคุยกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำคอนเทนต์ที่เครียดจนเกินไป เช่น การทำช่อง Youtube เกี่ยวกับกีฬา เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าคนไทยทำได้อย่างแน่นอน

4.Technology In Sports

ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามา ย่อมมีผลต่อวงการกีฬาเช่นกัน และยังทำให้เกิดกีฬาใหม่ๆ เช่นการแข่งบินโดรน หรือการนำเทคโนโลยี AR เข้ามามีส่วนร่วมในการดูกีฬาฟุตบอล ทำให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับเมืองไทย ภายในปีนี้จะได้เห็นโทคโนโลยี Bullet Time Slow Motion 360 องศา ในเวทีมวยบ้านเราอย่างแน่นอน

5.E Sports

คุณไชยชนก ชิดชอบ รองผู้อำนวยการการตลาด สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พูดถึง E Sport ว่า หลายๆคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า E Sport ย่อมาจาก Electronic Sport ซึ่งทุกคนจะตีความไปว่าเกมทุกเกมในแอปพลิเคชั่น หรือในคอมพิวเตอร์ คือ E Sport แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เราจะเรียกว่าเป็นกีฬาได้จะต้องมีการแข่งขันอย่างยุติธรรม วัดกันด้วยศักยภาพของผู้แข่ง โดยไม่มีองค์ประกอบอื่นเข้ามีผลต่อความได้เปรียบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเกมสมัยนี้มักจะมีการเติมเงินเข้าเกมเพื่อซื้อไอเทมช่วยในเรื่องความได้เปรียบด้านต่างๆของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง เกมเหล่านี้ไม่สามารถนับว่าเป็น E Sport ได้ เพราะไม่ใช่การแข่งขันกีฬาด้วยศักยภาพอย่างแท้จริง ดังนั้นเกมทุกเกมไม่ใช่ E Sport เสมอไป พร้อมกับยกตัวอย่างเกมที่เป็น E Sport เช่น ROV PUB G เนื่องจากการเติมเงินไม่มีผลต่อศักยภาพของผู้เล่น

คุณไชยชนก ยังได้พูดถึงที่มาของการทำทีม E Sport ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จุดมุ่งหมายคือการพัฒนาแวดวงกีฬา อยากเห็นทีมไทยไปเวทีบอลโลก เมื่อผ่านไป 10 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมฟุตบอลเติบโตอย่างว่องไว แต่ก็ยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ได้ สิ่งที่เราได้รวบรวมจากประสบการณ์ตลอด 10 ปี พบว่าอุปสรรคหลักอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการบรรลุเป้าหมายคือ สรีระร่างกายของคนเอเชีย ซึ่งเป็นจุดที่เราต้องยอมรับว่าไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ แต่เราก็ยังอยากเห็นทีมไทยไปสู่บอลโลก ซึ่งเราโชคดีที่ในยุคที่ E Sport กำลังมาแรง เราจึงเห็นช่องทางที่จะทำให้คนไทยไปบอลโลกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และนี่คือเรื่องราวเหตุผลที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก้าวเข้ามาสู่ E Sport

ทำไมการทำการตลาดใน E Sport ถึงน่าสนใจ?

ไชยชนก ชิดชอบ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่บุรีรัม ยูไนเต็ด ทำคอนเท็นต์ทีมฟุตบอลลงในโซเชียลมีเดีย ต่อเมื่อลงคลิปเกี่ยวกับ E Sport พบว่ามีผู้ให้การตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะเป็นเทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจอย่างมาก E Sport ในมุมมองของสื่อ

คุณโรจน์ พุทธคุณ ผู้บริหารจาก Mainstand กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อกีฬามุ่งเน้นในเรื่องผลการแข่งขันเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่เรามองต่างออกมาก็คือ การที่เราจะให้คนทั่วไปเข้าใจบริบทของกีฬามากขึ้น Mainstand มุ่งหวังถ่ายทอดบริบทของสังคมผ่านคอนเทนต์ทางกีฬา เช่น พูดถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการสร้างทีมฟุตบอล เพื่อให้ผู้คนเข้าใจบริบทของกีฬา และสังคมได้ง่ายขึ้น และอีกประเด็นสำคัญที่เราอยากถ่ายทอดออกมาคือการทำคอนเทนต์ให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้าใจกีฬามากขึ้นแม้จะไม่รู้จักกีฬาเลยก็ตาม เช่น การเล่าเรื่องราวของนักเตะหนึ่งคนก่อนจะมาเป็นนักเตะ และกรอบความคิดของเขา พยายามทำคอนเทนต์ให้เทียบเท่าต่างประเทศ ซึ่งมีรูปแบบหลากหลาย และน่าสนใจ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย เช่น การใช้แอนิเมชั่นเข้ามาช่วย ใช้การสแนปช็อต ในรายการกีฬา เมื่อเราสามารถทำคอนเทนต์กีฬาให้เข้าถึงได้ง่ายแล้ว ทุกคนจะเข้าใจบริบทกีฬาได้มากขึ้นแน่นอน


แท็ก marketing   sport  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ