PR Interview: ฟรีแลนซ์คือสิ่งที่ใช่ ความสุขเล็กๆ ของพีอาร์พอเพียง ลูกหมู-อจลา ตะเภาพงษ์

ข่าวทั่วไป Friday December 16, 2016 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ถ้าคุณมองภาพพีอาร์ว่าต้องเป็นประเภทสาวลั้ลลา หรือหนุ่มช่างจ้อ หากได้พอกับ “ลูกหมู - อจลา ตะเภาพงษ์" ภาพเหล่านั้นของคุณเห็นทีจะถึงเวลาต้องเปลี่ยนไปซะแล้ว เพราะนอกจากจะไม่นิยมสังคมช่างเมาท์ พี่ลูกหมูยังออกแนวเป็นพีอาร์เศรษฐกิจพอเพียง ผู้ที่หันหลังให้งานพีอาร์ประจำ รับเงินเดือนเป็นก้อน มีรายได้ที่แน่นอนทุกเดือนไม่ต้องกดดันกระสับกระส่าย เพื่อจะมาใช้ชีวิตอิสระแต่รายได้ไม่คล่องตัวในฐานะ “พีอาร์ฟรีแลนซ์" ซึ่งเธอบอกว่า ถึงเงินจะน้อยแต่ความสุขที่ได้นั้นมีมากกว่า เธอได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังผันตัวเองมาเป็นพีอาร์อิสระ โดยที่เธอยังได้รับความรักและโอกาสจากพี่ชายแสนดีที่ชื่อ “ใบพัด - อธิษฐ์พัชร นิพิษฐาภัทร" อิมเมจเมกเกอร์คนสำคัญในแวดวงธุรกิจเมืองไทย ที่ทั้งช่วยผลักและดันรวมถึงอบรมบ่มเพาะประสบการณ์ให้เธอมาอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับคำว่า “เป๊ะ!!!" ในทุกๆ เรื่อง

สไตล์พีอาร์แบบพี่ลูกหมูอาจจะไม่หวือหวาเฟี้ยวฟ้าว แต่คุยกับเธอแล้วก็ได้อีกมุมมองที่ทำให้เรารู้สึกสงบหัวใจไปด้วย เพราะพีอาร์ไม่ได้ตีกรอบแค่ภาพลักษณ์ภายนอก แต่พีอาร์เป็นงานที่ต้องทำด้วย...หัวใจ!! เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายคือ...ความสำเร็จ!!

“สวัสดีค่ะ ชื่อลูกหมูนะคะ เป็นพีอาร์ได้ เหมือนตกกระไดพลอยโจนมากกว่า จากตอนแรกเป็นแอดมินอยู่บริษัทเอเจนซี่ งานก็จะประมาณรับโทรศัพท์ กึ่งเลขาเลย แต่ผู้ใหญ่ให้โอกาส ก็เลยได้มาเป็นพีอาร์ ดูแลลูกค้า มีแอคเคาท์เป็นของตัวเอง ทำพีอาร์กับบริษัทแรกอยู่ประมาณ 2 ปี ประสบการณ์ก็โชกโชนพอตัว เพราะบริษัทเป็นเอเจนซี่ขนาดเล็ก แต่มีลูกค้าเยอะ ก็เลยได้ประสบการณ์เยอะจากตรงนั้น พี่จะดูพวกกลุ่มค้าปลีก ก่อนจะย้ายบริษัทมาทำพีอาร์ที่ โอแฟงห์ และสุดท้ายก็เป็นฟรีแลนซ์"

เล่าถึงจุดที่ย้ายมาอยู่ โอแฟงห์?

ที่ย้ายจากบริษัทแรกเพราะงานค่อนข้างหนัก มันเริ่มโอเวอร์โหลดตัวเอง เราต้องดูลูกค้า 5 - 10 รายต่อคน ทำให้งานค่อนข้างกดดัน เป็นอุปสรรคกับมือใหม่อย่างเราเหมือนกัน รู้สึกว่าเราไม่ไหวก็เลยออก แล้วพอดี พี่ใบพัด เป็นอิมเมจเมกเกอร์ ดูภาพลักษณ์ให้กับสังคมไฮโซ นักธุรกิจทั่วไป แล้วแกเห็นเราทำพีอาร์ก็เลยชวนเรามาช่วยตรงนี้ เพราะแกยังขาดในส่วนของพีอาร์อยู่ เราก็เลยเข้ามาทำ ตอนแรกก็ทำประจำ แต่เราก็ติสท์นิดนึงอยากกลับบ้าน นู่นนี่ ก็เลยตัดสินใจว่าเหมือนเป็นฟรีแลนซ์กัน พี่อยู่กับพี่ใบพัดมาตลอด 2 ปีกว่า ก็แฮปปี้ ลูกค้าเป็นกึ่งเซเลบริตี้ ไฮโซเลยแหละ เท่ากับว่าสั่งสมประสบการณ์ในด้านพีอาร์มาทั้งหมดประมาณ 5 ปีได้

ชีวิตแตกต่างหรือเปลี่ยนไปอย่างไรจากพีอาร์ประจำสู่ฟรีแลนซ์?

แตกต่างแน่นอนเลย สิ่งแรกคือตัวเงิน มันไม่แน่นอน จะมีงานต่อเมื่อมีคนมาจ้างเท่านั้น แต่จะได้ความสบายใจกว่ามาก เพราะเราเลือกงานเองได้ ไม่ต้องกดดัน เอาตัวเองไปป่วยไข้กับสิ่งที่อาจจะไม่ได้ชอบในทุกๆ วัน ก็เลยตัดสินใจอย่างนี้

ทำไมเค้าถึงยอมปล่อยเราจากพีอาร์ประจำมาเป็นฟรีแลนซ์แล้วก็ยังให้ร่วมงาน ป้อนงานให้เราอยู่อีก?

แกเป็นคนใจดีมาก เขาเข้าใจลูกน้อง เข้าใจในเหตุผลของเรา เราก็เลยพูดคุยกันได้ เราจะคุยกันตรงๆ มีอะไรก็บอกกันตรงๆ ได้เลย จริงๆ ตอนนี้ก็มีคนติดต่อเข้ามาบ้าง แต่เราตัดสินใจแล้วว่าอยู่เป็นฟรีแลนซ์ดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ได้ดูแลครอบครัวด้วย ไม่ต้องฟุ้งเฟ้ออะไรมาก จำได้ว่าสมัยก่อนตอนเป็นพีอาร์ใหม่ๆ อยากได้นู่นอยากได้นี่ตลอดเลย เห็นกระเป๋าเห็นใครถืออะไรก็อยากได้ (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว ใครจะมีก็มีไปเหอะ พี่ก็พอเพียงของพี่ไป อยู่บ้าน ทำงานก็เป็นจ๊อบๆ ให้มันเสร็จออกมาแล้วดีที่สุดทั้งสองฝ่าย ทั้งนักข่าว ทั้งลูกค้า ก็พอแล้ว พี่ใบพัดอยู่กันได้เพราะความเข้าใจ ความเข้าใจของนายจ้างที่ให้เรามีโอกาสไปรับงานของคนอื่นได้ โดยที่ไม่ประจำกับเขา แต่ถ้าเขามีงาน เราก็ยังได้ช่วยเขาอยู่

ความคาดหวังจากการทำงานพีอาร์ของพี่คืออะไร?

พี่ชอบเห็นเวลาลูกค้าประสบความสำเร็จ เวลาได้ลงข่าว เวลาได้ฟังเขาเล่าเรื่องความสำเร็จของตัวเขาเองผ่านตัวหนังสือ พี่ชอบอย่างนี้มานานแล้ว พี่ชอบได้ยิน...เราไม่เคยรู้เรื่องอะไรลึกๆ เวลานักข่าวมาสัมภาษณ์ทีเราก็จะได้รู้ข้อมูลเชิงลึก บางทีลึกไปถึงเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเค้า ชีวิตรักอะไรอย่างนี้ ก็ทำให้เราเหมือนได้รู้จัก ได้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น พี่ก็เลยชอบงานพีอาร์

พีอาร์ไม่ใช่งานแค่ส่งข่าวแล้วข่าวลงก็จบนะ เป็นเหมือนกับอยู่กันไปยาวๆ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นความรู้สึกดีๆ ต่อกัน เราเหมือนอยากดูแลเขาไปเรื่อยๆ เรื่องได้นู่นได้นี่มันเป็นแค่แฟชั่นเริ่มแรก เพราะมันเป็นคอนเซ็ปต์ว่าอยากสวย มีบ้าน มีรถเหมือนคนทั่วไป แต่ในจุดนึงพี่ก็เข้าใจว่า การที่เรามีพออยู่พอกินพอแล้ว เราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ พี่เห็นพีอาร์หลายๆ คนที่มีงานเยอะๆ เงินเยอะๆ แต่เขาก็เหนื่อยมาก สุขภาพทรุดมากเหมือนกัน เราก็เลยรู้สึกว่าไม่มีความสุขไม่รู้จะหาไปเยอะๆ ทำไม พี่ว่าพอมีพอกิน พอหมุนไปได้ มันดูมีชีวิตชีวามากกว่า

จากที่ฟังความคาดหวังกับงานพีอาร์ตอนต้น อะไรทำให้เราคิดว่าทำพีอาร์แล้วจะเงินดี รวยเร็ว ชีวิตสบาย?

จากมุมพี่นะ มันดูเป็นมุมสวย ภาพมันดูสวย ดูใหญ่ มาเต็ม เค้าแต่งตัวสวย แต่งตัวดีๆ มาทำงาน เค้าคงได้ค่าตัวเยอะ ได้เงินเดือนเยอะเนอะ แต่พอมาประสบกับตัวเองแล้วมันไม่ใช่ไง ไม่ได้เยอะขนาดนั้น เป็นงานที่ทำให้ภูมิใจมากกว่า มีคุณค่า คุณค่าของตัวเองที่ถูกสร้างขึ้นเวลาได้ทำงานพีอาร์ มันดูมีคุณค่าเวลาเราได้ประสานงานให้คนๆ นึงได้ลงข่าว ข่าวชิ้นนึงมันเป็นผลตอบรับที่ทำให้ดูจากตัวเราในการประสานแล้วได้ลง พี่รู้สึกภูมิใจ

นอกจากความภูมิใจเราได้อะไรจากงานตรงนี้?

ได้คอนเนคชั่น ได้รู้ว่ามุมมองของแต่ละธุรกิจเขาต้องการจะสื่ออะไร เพราะเราได้ใกล้ชิด บางครั้งได้มีโอกาสสัมภาษณ์เอง เขียนข่าวเอง ก็เลยรู้สึกผูกพัน เข้าถึงในเนื้อหาที่เขาต้องการสื่อ แล้วเคยได้ร่วมช่วยเหลือแก้ข่าวด้านภาพลักษณ์ให้ลูกค้าตอนที่สินค้าของเขากำลังถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ดี ก็ทำให้เราได้รู้รสชาติว่าเวลางานเข้ามันเป็นยังไง แล้วเราต้องช่วยเหลือลูกค้ายังไง งานพีอาร์ที่พี่เคยทำมาก็มีสายการตลาด CSR ไลฟ์สไตล์ สัมภาษณ์บุคคล สังคม สตรี บันเทิงนิดหน่อย มากสุดจะเป็นการตลาด

โอแฟงห์เป็นบริษัทดูแลพีอาร์ แต่ว่าลูกค้าที่เข้ามาจะให้เขาดูแลด้านภาพลักษณ์ ด้วยความที่พี่ใบพัดมีความเชี่ยวชาญเพราะเขาเป็นอาจารย์ด้วย เขาก็เลยได้ลูกค้ากลุ่มเซเลบทั้งหมด งานเขาก็เลยจะเสี่ยง ไม่เหมือนงานเอเจนซี่ทั่วไป ที่ดูงานลูกค้าแล้วก็จบ แต่นี่ต้องดูตั้งแต่ภาพลักษณ์ผู้บริหารมาเลย จะเน้นให้เรารู้ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าว่าเขามีรสนิยมแบบไหน ชอบอะไรไม่ชอบอะไร เวลาเราทำงานกับพี่ใบพัด เราก็เหมือนเป็นพีอาร์หลัก คอยดูเขียนข่าวช่วยแก เพราะแกดูภาพลักษณ์ล้วนๆ

ฟีลงานต่างกันยังไงบริษัทอิมเมจเมกเกอร์ กับพีอาร์เอเจนซี่?

พีอาร์เอเจนซี่ บางครั้งเราก็ไม่ได้เข้าไปรับบรีฟ คีย์เวิร์ดอาจจะมีอยู่ 2-3 ข้อหลักๆ ต้องการขายของ ต้องการกระจายอะไรยังไง แต่ภาพลักษณ์เราต้องไปดูถึงบ้าน ไปดูบ้าน ไปดูไลฟ์สไตล์ ความเป็นอยู่ ของสะสม เพราะว่าสื่อจะต่างกันแล้ว

เป็นพีอาร์ต้องเขียนข่าวเป็นด้วย แต่เราก็ไม่ได้จบสายนี้มาโดยตรงหรือมีประสบการณ์มาก่อน เหนื่อย ท้อบ้างไหม?

ต้องเขียนค่ะ ปัญหามาเลย เขียนข่าวตอนแรกโดนว่า เขียนวนอะไรในอ่าง คือเราอะรู้คอนเซ็ปต์ ว่าใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร แค่นั้นแหละ แต่ทำไม่ได้ จนรู้สึกว่าเมื่อไหร่เราจะเขียนได้ ทำไมเราทำไม่ได้ แต่ก็มีหลายบริษัทนะที่พีอาร์ไม่ได้เขียนข่าวเอง ดังนั้นพีอาร์ก็จะไม่ค่อยรู้เนื้อหาและการเขียนอะไรเท่าไหร่ แต่พี่ว่าเราเขียนเองเป็นด้วย ได้มาสัมผัสเองดีกว่า พี่ชอบแบบนี้มากกว่า

แค่การเรียบเรียงเขียนให้เป็นข่าวสำหรับเราก็ว่ายากแล้ว และพอต้องมาแยกสายเศรษฐกิจ บันเทิง ก็จะมีศัพท์เฉพาะ และสไตล์การเขียนที่ต่างกันไปอีก เราแก้ไข หรือเรียนรู้อย่างไร?

ก็ต้องเรียนรู้ สำหรับพี่จะเน้นอ่านข่าวเยอะๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง ยังชื่นชอบสมัยที่หนังสือพิมพ์เยอะๆ อยู่ เราได้อ่านได้รู้อะไรเยอะ ได้อ่านวลีเด็ดๆ อย่างสายบันเทิงมันก็ต้องว้าว คุณแม่ขา!! อะไรอย่างนี้ พอมาสายตลาดก็ต้องมีตัวเลข ผลการดำเนินงาน ก็จะยาก แต่โดยรวมจะเขียนเองทั้งหมด แรกๆ จะไม่ค่อยถนัดสายสตรี บันเทิง เพราะเราแซวไม่ค่อยเป็น แต่หลังๆ ก็ได้แล้วล่ะ (จริงๆ สตรี บันเทิง น่าจะง่ายกว่าตลาดนะ?) นั่นสิ...มันดูเหมือนง่ายปะ อย่างพวกเศรษฐกิจ ตลาด ต้องมีศัพท์เฉพาะแล้วเราก็ไม่ได้เรียนด้านนี้มาด้วย (หัวเราะ) ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปค่ะ อ่านเองเรียนรู้เอง อ่านเยอะๆ ใช้เวลากว่าจะปรับตัวเข้าที่เข้าทางก็ประมาณ 6 เดือนได้ ส่วนที่ถนัดสายตลาดมากกว่าก็อาจจะเพราะหมูเกิดมากับการตลาด จะเขียนข่าวเกี่ยวกับตัวเลขอะไรมาโดยตลอด เพราะบริษัทเก่าจะเน้นมาทางนี้ มีค้าปลีกเยอะ ก็เลยจะเชี่ยวชาญเรื่องการตลาดมากกว่าสายอื่น

เคยท้อกับงานสายอาชีพนี้บ้างมั้ย?

มีๆ สมัยแรกๆ เคยท้อจนแบบว่า ไม่เอาแล้ว ไม่อยากเป็นพีอาร์แล้ว (แล้วตอนนั้นคิดว่าจะไปทำอะไรแทน?) เปลี่ยนอาชีพ เป็นเลขา เป็นอะไรเหมือนที่เคยทำมาก็ได้ ไม่เป็นละพีอาร์

ปัญหาที่เคยเจอมา และกลยุทธ์ในการทำพีอาร์ฉบับพี่ลูกหมู?

ในส่วนของปัญหาก็มีบ้างเล็กน้อย อย่างพวกเอาของมาไม่ครบ จริงๆ วิธีแก้ปัญหาก็ไม่ยาก แค่ส่งของตาม แค่นี้เอง แต่ช่วงแรกๆ เราแก้ปัญหาไม่เป็น ทำไงดี หน้าตื่น แต่หลังๆ ก็โอเค เดี๋ยวส่งตามได้ มันก็ไม่ได้มีปัญหายากเย็นอะไรขนาดนั้น ส่วนกลยุทธ์ในการทำพีอาร์ ความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญในอาชีพนี้ และอยู่แบบปิดทองหลังพระดีกว่า (ทำไมต้องปิดทองหลังพระ?) ทำความดี พรีเซ็นต์ตัวเอง เอาแต่พองาม เพราะเราก็ไม่รู้ เพื่อนร่วมอาชีพเราก็มีมากมาย พาวเวอร์หรือการโชว์ของเขามันก็มีมากมายหลายแบบ ก็เลยระลึกไว้ว่าเราก็ควรถ่อมตัวในหน้าที่การงานของเรา พี่เป็นประเภทไม่ชอบโชว์ว่าชั้นเป็นพีอาร์แบรนด์นี้แบรนด์นั้นแล้วเราต้องชูคออะไรงี้ จะเป็นแนวแบบนี้มากกว่า ไม่เยอะ (หัวเราะ)

วงการสื่อมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ทั้งสิ่งพิมพ์ที่ทยอยปิดตัว และออนไลน์ก็ไม่มั่นคงมาก เตรียมรับมืออย่างไร?

ต้องมุ่งดิจิตอล ศึกษาการลงข่าวด้านนี้เยอะหน่อย แต่พี่ก็ไม่ละทิ้งสิ่งพิมพ์เพราะพี่เชื่อว่าสิ่งพิมพ์มันขลังของมันมาตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแค่คนเราเอาโซเชียลมาเป็นหลัก ซึ่งจริงๆ มันไม่ดีนะ แต่ในเมื่อวิกฤติมันเกิดมาแบบนี้เราก็ต้องรับให้ได้ แม้ว่าการทำงานจะยากขึ้น แต่ถ้าเรามั่นใจในคอนเทนต์ เราว่ามันอาจจะไม่ต้องดีที่สุดก็ได้ แต่ถ้าเขียนมาแล้วคนอยากอ่าน มันก็อยู่ได้ ก็เป็นกำลังใจให้พี่ๆ น้องๆ สื่อมวลชนที่เจอวิกฤตินี้ด้วยค่ะ ส่วนเทคนิครุกสื่อออนไลน์ พี่ก็จะเน้นส่งข่าวออกหลังจากที่มีงานแถลงเลย พี่จะไม่รอ อีก 2-3 วันค่อยส่ง เราต้องโฟกัสในเรื่องความรวดเร็วด้วย

ตัวชี้วัดความสำเร็จของงานแต่ละครั้ง พี่ดูจากอะไร?

จำนวนคลิปปิ้งค่ะ ดูจากการประชุมของลูกค้า ฟีดแบคที่กลับมา ทั้งจากลูกค้าและนายจ้าง อันนี้สำคัญที่สุด ทำงานห้ามทิ้งงาน ห้ามรับเงินแล้วหนี...เด็ดขาด!! (อันนี้ดูมีอินเนอร์เป็นพิเศษ?) ก็มีเคยเจอมาบ้างค่ะ เราก็เลยได้มีโอกาสไปอยู่แผนกเช็ดล้างนิดหน่อย (หัวเราะ) คือมันเป็นสิ่งไม่ดีมากๆ สำหรับคนที่จะทำอาชีพพีอาร์ ถ้าหากรับงานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรับเงินมาแล้ว ก็ควรทำงานชิ้นนั้นให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่ทิ้งปัญหาภาระไว้ให้คนอื่นต้องมาช่วยเก็บกวาด และไม่ควรสร้างความเดือดร้อนให้ลูกค้าและคนที่เอางานมาป้อนให้เรา

การแข่งขันในวงการพีอาร์เป็นอย่างไรบ้าง?

สำหรับคนอื่นพี่ไม่รู้นะ แต่สำหรับพี่ พี่ไม่แข่งกับใคร จะแข่งกับตัวเองมากกว่า ว่างานเราดีพอหรือยัง วันนี้สื่อมาร่วมงานกับเราเท่าไหร่ สื่อเป็นอย่างไรบ้าง เราดูแลเขาดีไหม ข่าวลงมาเป็นยังไง มุมมองในการวิเคราะห์ของลูกค้าเป็นอย่างไร บวกมั้ย หรือเขามีข้อสงสัยประเด็นอะไรที่เราดูอยู่มั้ย

Special Thanks พี่ใบพัด - อธิษฐ์พัชร นิพิษฐาภัทร คนพิเศษที่พี่ลูกหมูบอกว่าไม่พูดถึงไม่ได้...

พี่ใบพัดเป็นผู้ให้ ให้ทั้งความรู้ ความดีงามต่างๆ ในหน้าที่การงาน พี่ใบพัดสอนเสมอว่าเราจะต้องเป๊ะ พี่ก็ติดมาตลอดว่าเราจะต้องเป๊ะ เป๊ะทุกอย่าง ทั้งเรื่องเวลา การเทคแคร์ ลงทุกรายละเอียด แกเป็นคนที่ปกป้องลูกน้อง ไม่เคยว่าลูกน้องฉีกหน้าต่อหน้าลูกค้าหรือนักข่าวเลย แต่ถ้าผิดแกก็ว่านะ แกจะอบรมสั่งสอนเหมือนเป็นพี่น้องกัน มาอบรมกันนอกรอบ พี่ใบพัดจะถือว่าถึงเป็นลูกค้าก็จะมาแตะต้องลูกน้องเค้าไม่ได้ ถ้ามีอะไรเดี๋ยวเขาเคลียร์เอง ไม่ใช่เรื่องที่ลูกค้าต้องมาว่า เขาว่าลูกน้องของเขาได้คนเดียว ประมาณนั้น พี่ใบพัดเป็นเหมือนพี่ เป็นผู้ให้ อย่างตอนไปขอเป็นฟรีแลนซ์เค้าก็ให้ เขาบอกว่าได้ ยังไงเราก็ได้กลับมาทำงานร่วมกันอยู่แล้ว น้อยคนมากที่จะเป็นแบบนี้ ให้เราไปรับงานคนอื่นได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ