นักวิทย์จีนพบต้นกำเนิดทางพันธุกรรมที่ทำให้แพนด้าบางตัวมีขนสีน้ำตาล

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 6, 2024 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิทย์จีนพบต้นกำเนิดทางพันธุกรรมที่ทำให้แพนด้าบางตัวมีขนสีน้ำตาล

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมนักสัตววิทยาของจีนได้ระบุต้นกำเนิดทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลให้แพนด้ายักษ์บางตัวมีขนสีน้ำตาลและสีขาวผิดปกติ

แพนด้ายักษ์สีน้ำตาลตัวแรกของโลกถูกพบเมื่อปี 2528 บริเวณเทือกเขาฉินหลิ่ง ขณะภาพถ่ายแพนด้าป่าสีน้ำตาลทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งตัวที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของมนุษย์ล่าสุด คือชีไจ่ แพนด้ายักษ์ขนสีน้ำตาลและสีขาว เพศผู้ เกิดเมื่อปี 2552

คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสัตววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้จัดลำดับข้อมูลทางพันธุกรรมของแพนด้า 3 วงศ์ที่มีความเชื่อมโยงกับชีไจ่ รวมถึงแพนด้าอีก 29 ตัวที่มีสีดำและสีขาว

การวิจัยที่แพร่ในวารสารวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (PNAS) ระบุเมื่อวันจันทร์ (4 มี.ค.) ว่า การกลายพันธุ์ในยีนบีเอซีอี2 (Bace2) ซึ่งผลิตเอนไซม์ของโปรตีนตั้งต้น อาจเป็นต้นกำเนิดทางพันธุกรรมอันเป็นสาเหตุให้เกิดขนสีน้ำตาลและสีขาว

การวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมเพิ่มเติมจากแพนด้าเลี้ยงสีขาวดำ จำนวน 192 ตัว ชี้ให้เห็นว่าไม่มีแพนด้าตัวใดที่มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าว นอกจากนี้แบบจำลองหนู (mouse model) ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมด้วยยีนกลายพันธุ์ชนิดนี้ส่งผลให้ขนของหนูมีสีอ่อนด้วย

คณะนักวิจัยกล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกแบบพิเศษเกี่ยวกับพื้นฐานทางพันธุกรรมของการเปลี่ยนแปลงสีขนของสัตว์ป่า และจะปูทางไปสู่การเพาะพันธุ์แพนด้าสีน้ำตาลหายากทางวิทยาศาสตร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ