กฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday October 11, 2007 14:34 —พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

                              กฎกระทรวง
ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๕๐)
ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
___________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๙๐ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” ระหว่างบทนิยามคำว่า “บริษัทเงินทุน” และคำว่า “ธนาคารพาณิชย์” ในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
““บริษัทเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์”
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๒ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับกับการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทดังต่อไปนี้
(๑) บริษัทซึ่งเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันระหว่างบริษัทหลักทรัพย์
(๒) บริษัทซึ่งเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันระหว่างสถาบันการเงิน หรือบริษัทซึ่งเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์หรือธนาคารพาณิชย์
(๓) บริษัทลูก
(๔) บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์อื่น
(๕) บริษัทซึ่งรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์จากสถาบันการเงิน”
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๑๐ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๑๐ เมื่อบรรดาสถาบันการเงินประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน หรือสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์หรือธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน และได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบต่อผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการควบสถาบันการเงิน
เข้ากันตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินนั้นแล้วแต่กรณีแล้ว หากประสงค์จะให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันดังกล่าวประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทที่บรรดาสถาบันการเงินนั้นมีอยู่ในขณะยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัท
เข้ากันต่อไป ให้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบการควบบริษัทเข้ากัน และคำขอให้บริษัทซึ่งจะเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวงนี้”
ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๔/๑ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทซึ่งรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์จากสถาบันการเงิน ข้อ ๒๑/๑ และข้อ ๒๑/๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติ
หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
“หมวด ๔/๑
การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทซึ่งรับโอน
สินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์จากสถาบันการเงิน
__________________
ข้อ ๒๑/๑ เมื่อบรรดาสถาบันการเงินประสงค์จะโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างกัน หรือสถาบันการเงินและบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์หรือธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างกัน เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และการโอนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้ว หากประสงค์จะให้บริษัทซึ่งจะรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินนั้นประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทที่บรรดาสถาบันการเงินผู้โอนสินทรัพย์และหนี้สินนั้นมีอยู่ในขณะได้รับความเห็นชอบ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ให้แก่บริษัทซึ่งจะรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าว และให้สถาบันการเงินผู้โอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มาพร้อมกัน
การอนุญาตตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอแสดงได้ถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินที่ประสงค์จะโอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์มีมติเห็นชอบให้บริษัทขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้ โดยต้องไม่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านมติดังกล่าวเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(๒) บริษัทซึ่งรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินได้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอรับใบอนุญาตรวมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของสินทรัพย์และหนี้สินที่อาจโอนกันได้ และ
(๓) บริษัทซึ่งรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอรับใบอนุญาตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. และประกาศสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้น
ข้อ ๒๑/๒ เมื่อสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์ประสงค์จะโอนสินทรัพย์และหนี้สินให้กับบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แล้วหากประสงค์จะให้บริษัทซึ่งจะรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินนั้นประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทที่สถาบันการเงินผู้โอนสินทรัพย์และหนี้สินมีอยู่ในขณะได้รับความเห็นชอบ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทซึ่งจะรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าว และให้สถาบันการเงินผู้โอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจหลักทรัพย์มาพร้อมกัน
การอนุญาตตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอแสดงได้ถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) บริษัทซึ่งจะรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินได้รับใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์แล้ว
(๒) บริษัทซึ่งรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินได้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอรับใบอนุญาตรวมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของสินทรัพย์และหนี้สินที่อาจโอนกันได้ และ
(๓) บริษัทซึ่งรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินจากสถาบันการเงินจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอรับใบอนุญาตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. และประกาศสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนั้น”
ข้อ ๕ ให้ยกเลิกข้อ ๒๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐
ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมถึงบริษัทซึ่งเกิดจากการควบบริษัทเข้ากันระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทซึ่งรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์จากสถาบันการเงิน ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่สถาบันการเงินที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน หรือเข้าซื้อกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ หรือรับโอนสินทรัพย์และหนี้สินในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์จากสถาบันการเงิน สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มเติม ตลอดจนยกเลิกค่าธรรมเนียมตามที่ได้กำหนดไว้จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ