พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ พ.ศ. ๒๕๔๑ _____________ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นปีที่ ๕๓ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ พ.ศ. ๒๕๔๑ " มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖ ทวิ แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ "มาตรา ๖ ทวิ ในกรณีที่กองทุนได้ประกันหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะได้ดำเนินการก่อนหรือหลังคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ ให้ถือว่ากองทุนเป็นเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการนั้น มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาใช้บังคับแก่การที่กองทุนขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง" ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ________________________________________ หมายเหต : - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างรุนแรง จึงได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจในขณะนี้หลายประการ ซึ่งมาตรการแก้ไข ประการหนึ่งคือการให้ความช่วยเหลือและการจัดการทางการเงินแก่กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสภาพความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่กองทุน และลดภาระทางการเงินที่รัฐจะต้องช่วยเหลือกองทุน และในขณะเดียวกันให้มีความโปร่งใส เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนในประเทศต่อไปแต่ในระยะเวลาที่ผ่านมากองทุนได้ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ในรูปการประกันและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเป็นจำนวนมาก เพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเงินในขณะนั้น ฉะนั้น เพื่อมิให้กองทุนต้องได้รับความเสียหายจากการดำเนินการช่วยเหลือ ดังกล่าวประกอบกับกองทุนจำเป็นต้องสละหลักประกันที่ได้มาจากสถาบันการเงินเหล่านั้นตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่น ๆ จึงอาจเกิดปัญหาทำให้กองทุนไม่ได้รับชำระหนี้คืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูฐานะของกองทุนตามมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองและให้มีหลักประกันที่กองทุนจะได้รับเงินที่ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว คืนมาในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินนั้นเสียตั้งแต่ในขณะนี้ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในการที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้