การแสดงปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” ครั้งที่ ๕ ในหัวข้อเรื่อง “The International Criminal Court : an Indispensable Mechanism for Prosecution of Violations of International Humanitarian Law”

ข่าวต่างประเทศ Friday June 24, 2011 13:10 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสภากาชาดไทย ได้จัดการแสดงปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” ครั้งที่ ๕ เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานฯ นายริชาร์ด โจเซฟ โกลด์สโตน ผู้พิพากษาชาวแอฟริกาใต้ เป็นผู้แสดงปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “ศาลอาญาระหว่างประเทศ: กลไกที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการดำเนินคดีต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” โดยมีแขกผู้มีเกียรติ จำนวน ๓๐๐ คน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ผู้แทนองค์กรอิสระ สมาชิกรัฐสภา คณะทูตานุทูต ข้าราชการ นักวิชาการ นักเรียนจากโรงเรียนทหาร ๓ เหล่าทัพ นิสิต นักศึกษาและสื่อมวลชน ร่วมรับฟังปาฐกถาครั้งนี้

นายโกลด์สโตน ในฐานะผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการนำมาสู่การก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) ได้กล่าวว่า ICC เป็นวิวัฒนาการสูงสุดทางกฎหมายอาญาระหว่างประเทศนับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งศาลทหารนูเรมเบิร์ก เพราะเป็นศาลที่มีลักษณะถาวรขึ้นมาทดแทนศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจ โดยมีเขตอำนาจศาลรวมถึงการกระทำผิดอันเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. ๑๙๔๙ ทั้งสี่ฉบับ ซึ่งเป็นอนุสัญญาฯ ที่มีการให้สัตยาบันอย่างเป็นสากล และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายอาญาระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่ปัจเจกชนต้องรับผิดต่อการกระทำของตน ซึ่งเดิมเคยเป็นเรื่องการรับผิดของรัฐ รวมทั้งกำหนดหลักความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในการสั่งการหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดดังกล่าว ทั้งนี้ โดยที่ ICC มีลักษณะเป็นศาลเสริมเขตอำนาจศาลภายในของรัฐ รัฐภาคีจึงมีพันธกรณีที่จะต้องนำผู้ต้องสงสัยว่าละเมิดอนุสัญญาฯ ขึ้นดำเนินคดีในศาลภายในของตน หากรัฐนั้นไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะกระทำเช่นนั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงจะมีเขตอำนาจที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ดังนั้น ICC จึงมีบทบาทสำคัญในการยับยั้งการก่ออาชญากรรมร้ายแรงและควรสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย พิจารณาเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล

นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ได้มีการเสวนาโต๊ะกลมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้แสดงปาฐกถาฯ และผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และองค์การระหว่างประเทศในหัวข้อดังกล่าว โดยผู้เข้าร่วมได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านกับการดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยเฉพาะความเกี่ยวโยงระหว่างความยุติธรรมและสันติภาพ โดยนายโกลด์สโตนได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์โดยตรงในการต่อสู้กับระบบแบ่งแยกสีผิวในประเทศของตน และจากการเป็นหัวหน้าอัยการคนแรกของศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวียและรวันดา นอกจากนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศของไทยถึงข้อดีและข้อเสียรวมทั้งประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลของไทยในการเข้าเป็นภาคีฯ ได้แก่ ข้อ ๒๗ เรื่องการไม่สามารถอ้างสถานะความเป็นประมุขของรัฐเพื่อปฏิเสธความรับผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและจำเป็นต้องมีการศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบก่อนการให้สัตยาบัน

การแสดงปาฐกถา “สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร” ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมและเผยแพร่การศึกษาและวิจัยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นเวทีที่ผู้ทรงคุณวุฒิระดับระหว่างประเทศได้แสดงทัศนะ ตลอดจนข้อพิจารณาต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในกฎหมายดังกล่าวแก่สาธารณชน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ