รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการในกรอบคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๕

ข่าวต่างประเทศ Friday July 1, 2011 10:54 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกรณีที่ไทยแสดงเจตนารมย์ถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (WHC) ครั้งที่ ๓๕ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. คณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุม WHC ดำเนินการตามแนวนโยบายและท่าทีที่ได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยได้มีการหารือกันในกรอบของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน อีกทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีเข้าร่วมในคณะกรรมการฯ ด้วย โดยได้มีการพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ และทางเลือกหนึ่งก็คือการถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก หากการประชุมไม่ดำเนินไปตามจุดประสงค์และอาจกระทบต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของไทย โดยได้เสนอทางเลือกท่าทีเหล่านี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นท่าทีที่ต่อเนื่องจากการประชุม WHC เมื่อปี ๒๕๕๓ ที่ประเทศบราซิล ทั้งนี้ เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมประชาธิปไตยที่ในการปรึกษาหารือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ จะมีความคิดเห็นหลากหลาย แต่เมื่อได้เป็นข้อสรุปร่วมกันและเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ก็ถือเป็นท่าทีของประเทศไทย จึงขอเรียนยืนยันว่า รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยดำเนินการใด ๆ โดยไม่มีการปรึกษาหารือกัน และรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการประจำที่จะให้ข้อคิดเห็น แนวทาง และข้อเท็จจริง ทั้งด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสหประชาชาติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม (ยูเนสโก) รวมทั้ง WHC

๒. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการประสานงานและพบปะหารือกับทางยูเนสโกโดยตลอด โดยล่าสุด นายโคอิชิโร มัตสึอุระ ผู้แทนพิเศษของยูเนสโกได้เดินทางมาเยือนไทยและกัมพูชาเพื่อหาทางออกให้กับท่าทีที่ยังขัดแย้งกันอยู่ระหว่างไทยกับกัมพูชา นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ยังได้พูดคุยกับผู้แทนของประเทศต่าง ๆ ทุกครั้งที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมในกรอบของ WHC ขณะที่รัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก WHC เพื่อชี้แจงท่าทีของไทยในเรื่องนี้ รวมทั้งได้ใช้โอกาสต่าง ๆ ทั้งการประชุมในกรอบของอาเซียนและสหประชาชาติในการชี้แจงแก่นานาประเทศว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชาฝ่ายเดียวและการเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารของกัมพูชาได้นำไปสู่ประเด็นความตึงเครียดและการปะทะกันบริเวณชายแดน ทั้ง ๆ ที่การดำเนินการด้านเขตแดนมีกลไกที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี ๒๕๔๓ (MOU ปี ๒๕๔๓) ซึ่งท่าทีของไทยในเรื่องนี้มีความสม่ำเสมอมาโดยตลอดที่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีผ่านกลไกการเจรจาทวิภาคีที่มีอยู่

๓. เมื่อวันที่ ๒๕-๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ในการหารือนอกรอบระหว่างไทย กัมพูชา และยูเนสโก ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกได้เสนอร่างข้อตัดสินใจซึ่งมีประเด็นหลัก ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของไทย (๒) เน้นย้ำว่ายูเนสโกและ WHC มีหน้าที่ในการปกป้องรักษาและทำนุบำรุงโบราณสถาน และ (๓) ในอนาคต อยากให้มีการขึ้นทะเบียนในลักษณะ transboundary nomination เพราะเห็นว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกได้ปรึกษาหารือกันและมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี โดยที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในขณะนั้น จึงต้องนำมาพิจารณาต่อระหว่างการประชุม WHC ครั้งที่ ๓๕ ที่ผ่านมา

๔. เป็นที่เข้าใจร่วมกันมาโดยตลอดว่าจะต้องมีการตกลงกันในเรื่องร่างข้อตัดสินใจเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชานอกห้องประชุมโดยมียูเนสโกเป็นตัวกลางก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้และกำลังเจรจากันอยู่ ได้มีการนำเสนอร่างข้อตัดสินใจที่ไทยและกัมพูชายังไม่ได้ตกลงกันเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม โดยมีทั้งร่างข้อเสนอของทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยคู่กัน และผู้แทนของบาร์เบโดส ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม WHC แทน ได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาทีละย่อหน้า แทนที่จะรอให้มีร่างข้อตัดสินใจที่ทั้งสองฝ่ายสามารถประนีประนอมกันได้แล้วก่อน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวขัดกับความเข้าใจที่ได้หารือกันมาและขัดกับเจตนารมย์ที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ อีกทั้งยังเป็นการขัดเจตนารมณ์ของไทยที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในที่ประชุม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็มีกำหนดการที่จะโทรศัพท์หารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกซึ่งไม่ได้อยู่ในที่ประชุมอยู่แล้วในขณะนั้น และผู้แทนของไทยได้ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาวาระดังกล่าวออกไปก่อน แต่ที่ประชุมกลับเดินหน้าพิจารณาต่อไป ผู้แทนฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องเดินออกจากที่ประชุมและแสดงเจตนารมย์ที่จะถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เนื่องจากหากมีการพิจารณาร่างข้อมติดังกล่าวและสุดท้ายแล้วมีความเกี่ยวโยงกับแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารของกัมพูชา อาจจะกระทบต่ออธิปไตยของไทยและการเจรจาด้านเขตแดนในกรอบของ JBC

๕. ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีช่องทางที่จะพูดจากันอยู่ และฝ่ายไทยก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับยูเนสโกต่อไป สำหรับการดำเนินการเพื่อถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกนั้นให้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะพิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ จะได้ทำบันทึกมอบงานให้กับรัฐมนตรีที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อไป และแม้ว่าฝ่ายบริหารจะสามารถตัดสินใจในเชิงนโยบายได้ แต่หากการดำเนินการในเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับอธิปไตยเหนือดินแดน การตัดสินใจสุดท้ายก็ต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๙๐ และต้องเสนอให้ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป

๖. รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า การดำเนินการของผู้แทนไทยไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แต่เป็นไปตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ส่วนการแสดงเจตนารมย์ว่าจะถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกจะกระทบต่อการตีความคดีปราสาทพระวิหารและการออกมาตรการชั่วคราวของศาลโลกหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ไทยได้ให้ข้อมูลแก่ศาลโลกหมดแล้วเมื่อวันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ ก็ได้ส่งเอกสารตอบคำถามเพิ่มเติมของผู้พิพากษาศาลโลกคนหนึ่งเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชนกรณีเหตุการณ์ปะทะบริเวณปราสาทตาเมือนและตาควาย รวมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็นต่อข้อมูลของฝ่ายกัมพูชาแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ ทั้งนี้ ศาลโลกจะพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการในกรอบของศาลโลกที่แยกออกจากกรอบการประชุม WHC และยูเนสโก

๗. สำหรับผลกระทบต่อสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่เคยมีความประสงค์ที่จะมีประเด็นปัญหากับกัมพูชาและไม่เคยคิดที่จะรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยมีแต่ความปรารถนาดีและความจริงใจที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา และมีความพร้อมเสมอที่จะเจรจาแก้ไขปัญหากันโดยอาศัยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ทั้งหมด อาทิ กลไก JBC ซึ่งสามารถเดินหน้าได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนไทยในบริเวณชายแดน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ