รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยี่ยมชมโครงการบูรณะแม่น้ำของสาธารณรัฐเกาหลีระหว่างการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี

ข่าวต่างประเทศ Monday October 31, 2011 06:59 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK Foreign Ministers’ Meeting) ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๗ — ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ และเยี่ยมชมโครงการบูรณะแม่น้ำสายหลักในกรุงโซล

เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ หลังจากที่เดินทางถึงกรุงโซล รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ไปเยี่ยมชมโครงการบูรณะแม่น้ำสายหลัก ๔ สาย (The Four Major Rivers Restoration Project) ในเขตพื้นที่เมืองยอจู (Yeoju) จังหวัดคยองกีโด (Kyeonggi-Do) บริเวณแม่น้ำฮัน (Han) ซึ่งเป็นฝายเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยมี ดร. ชิม เมียง ฟิล (Shim Myung-Pil, Ph.D.) รัฐมนตรีประจำสำนักงานบูรณะแม่น้ำแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ โครงการบูรณะแม่น้ำดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ของรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อบูรณะแม่น้ำ ๔ สายหลักของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ แม่น้ำฮัน (Han River) แม่น้ำหนักตก (Nakdong River) แม่น้ำกึม (Geum River) และแม่น้ำยองซาม (Yeongsan River) โดยมีมูลค่าการลงทุนของโครงการโดยรวม ๑๘,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๕๕๐,๐๐๐ ล้านบาท) มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาทรัพยากรน้ำจากสภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ดำเนินระบบการควบคุมน้ำท่วมอย่างสมบูรณ์แบบ ปรับปรุงคุณภาพน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศของระบบแม่น้ำ สร้างพื้นที่สาธารณประโยชน์บริเวณแม่น้ำ และพัฒนาการบูรณะระบบแม่น้ำสายหลักและเศรษฐกิจชุมชุมในท้องถิ่น รวมถึงเสริมสร้างความเป็นผู้นำของโลกในด้านการบริหารจัดการน้ำ

หลังจากการเยี่ยมชม รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เดินทางมาเยี่ยมชมโครงการดังกล่าวซึ่งอาจจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ประเทศไทยได้ในระยะยาว เนื่องจากขณะนี้ รัฐบาลมีนโยบายที่จะศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ทั้งนี้ สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย บริษัท เค วอตอร์ ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งรับผิดชอบโครงการบูรณะแม่น้ำสายหลัก ๔ สาย ได้มีความร่วมมือร่วมกับกรมชลประทานของประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้น้ำระบายออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด และการสร้างเขื่อนในบริเวณแม่น้ำยม การขุดคลองเพิ่มเพื่อให้น้ำลงสู่อ่าวไทยโดยไม่ผ่านกรุงเทพฯ การขุดลอกพื้นใต้แม่น้ำให้ลึกขึ้น รวมถึงปรับขอบแนวตลิ่งให้มีความแข็งแรง เป็นต้น โดยรัฐมนตรีว่าการฯ เห็นว่าแนวทางดังกล่าวมีความน่าสนใจ และเห็นว่าประเทศไทยควรมีการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นหน่วยงานหลักแห่งเดียว ดังเช่นสำนักงานบูรณะแม่น้ำแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับการดูแลสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และองค์การระหว่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยในกรณีที่เกิดอุทกภัยรุนแรง นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้กรมพิธีการทูตเป็นหน่วยงานหลักในการติดต่อ ประสานงาน และให้คำแนะนำกับสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และองค์การระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งเตือน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ของกระทรวงฯ ศปภ. และกรุงเทพมหานครฯ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงภัยสูงได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส สำนักงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประจำประเทศไทย กระทรวงฯ ก็ได้ประสานให้กรุงเทพมหานครฯ ดูแลเป็นกรณีพิเศษแล้ว

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ ตนจะเข้าเยี่ยมคารวะนาย อี มยอง บัก (Lee Myung-bak) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อมอบหนังสือจากนายกรัฐมนตรี แสดงความสนใจในโครงการบูรณะแม่น้ำสายหลัก ๔ สาย เพื่อเป็นแนวทางการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในไทย เนื่องจากโครงการดังกล่าวสามารถช่วยแก้ไขจัดการปัญหาน้ำท่วมในสาธารณรัฐเกาหลีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้รับมอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศไทยจากนายคอน ซู ลี (Mr. Kun Soo Lee) ประธานบริษัท Dong Ah Elecomm Corp. ซึ่งเป็นบริษัทด้านระบบการสื่อสารชั้นน้ำของสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน ๑ แสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๓ ล้านบาท)

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ