ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙

ข่าวต่างประเทศ Monday November 21, 2011 11:52 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙ (19th ASEAN Summit) ที่ศูนย์ประชุม Bali Nusa Dua Conventional Centre (BNDCC) บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีประเด็นการหารือหลัก ได้แก่ การสร้างประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ การเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และประเด็นระดับภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Leaders’ Meeting with the ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ด้วย

ในการประชุมเต็มคณะของการประชุมสุดยอดฯ ผู้นำอาเซียนได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยหลายประเทศแสดงความเห็นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความผันผวนสูง ดังนั้น อาเซียนจึงจำเป็นต้องเร่งรัดการรวมตัวทางเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคมีความเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องว่า อาเซียนควรเร่งรัดการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนและช่วยสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนในด้านต่างๆ โดยอาเซียนควรพิจารณาแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องนี้

ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของการประชุมสุดยอดฯ ผู้นำอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ อาทิ ความมั่นคงทางทะเล และการบริหารจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการรักษาความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งจะมีสหรัฐฯ และรัสเซียเข้าร่วมเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนได้แสดงความยินดีต่อพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของเมียนมาร์ และสนับสนุนให้เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๕๗ โดยหวังว่า เมียนมาร์จะยังคงดำเนินการเพื่อรักษาพัฒนาการเชิงบวกนี้ต่อไป

ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งทำให้ไทยสามารถกลับมา มีบทบาทที่แข็งขันในอาเซียน รวมทั้งได้ให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฟื้นฟูประเทศภายหลังอุทกภัย และย้ำความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนที่อาเซียนจะต้องเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านอุทกภัยและ การบริหารจัดการน้ำ ในการนี้ ที่ประชุมได้รับรอง “แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในด้านการป้องกันอุทกภัย การลดผลกระทบ การบรรเทา การฟื้นฟู และการบูรณะ” ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย และทุกประเทศได้แสดงความชื่นชมต่อความคิดริเริ่มของไทยในเรื่องนี้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทที่แข็งขันขึ้นในเวทีโลก เพื่อรับมือผลกระทบต่างๆ จากความท้าทายระดับโลกต่างๆ โดยในเรื่องเศรษฐกิจ อาเซียนควรพึ่งพาการเจริญเติบโตจากภายในภูมิภาค ดังนั้นควรส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียนและสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศภายนอก นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้อาเซียนสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของไทย สำหรับวาระปี ๒๐๑๗ — ๒๐๑๘ รวมทั้งได้แสดงการสนับสนุนต่อการเป็นประธานอาเซียนของพม่าในปี ๒๕๕๗

ในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) ที่ประชุมได้แสดงความสนับสนุนการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในการระดมทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งเน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของ ABAC ในการร่วมสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ ABAC ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง ASEAN Trade and Investment Centre ในสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของ ABAC ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจอาเซียน โดยเฉพาะ SME เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่ออาเซียนของภูมิภาคอื่นๆ และเห็นว่า ABAC ควรมีบทบาทเชิงรุกในการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูประเทศหลังภัยพิบัติของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอาเซียนต่อเศรษฐกิจไทย

หลังจากการประชุมข้างต้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก รวมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ” และ “ปฏิญญาว่าด้วยเอกภาพของอาเซียนในความหลากหลายทางวัฒนธรรม: สู่ความมั่นคงของประชาคมอาเซียน” ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ