การขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาในโครงการการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวต่างประเทศ Friday June 22, 2012 11:32 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Aeronautic and Space Administration — NASA) ขอดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Regional Study — SEAC4RS) ในประเทศไทย โดยขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ได้มีข้อห่วงกังวลและข้อสังเกตจากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ดังกล่าว

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นที่เป็นที่สนใจแก่สื่อมวลชน สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑. ภูมิหลังโครงการ SEAC4RS ของ NASA ในการศึกษาวิจัยสภาพอากาศในประเทศไทย ได้มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ NASA ได้มีแถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยความร่วมมือด้านกิจกรรมทางการบินและอวกาศ (Joint Statement of Intent for Cooperation in Civil Space and Aeronautics Activities) โดยได้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓

๒. ต่อมา เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานฝ่ายไทยและสหรัฐฯ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอโครงการศึกษาวิจัยของ NASA ที่จะเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยในปี ๒๕๕๕ ซึ่งในการประชุมร่วมดังกล่าวได้มีหน่วยงานฝ่ายไทย จำนวน ๑๘ หน่วยงานเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ๑) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๒) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๓) GISTDA ๔) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ๕) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ๖) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ๗) กรมอุตุนิยมวิทยา ๘) ศูนย์เตือนพิบัติแห่งชาติ ๙) สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ๑๐) กระทรวงกลาโหม ๑๑) กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ๑๒) กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ๑๓) กองทัพบก ๑๔) กองทัพเรือ ๑๕) กองทัพอากาศ ๑๖) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ๑๗) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ ๑๘) กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งหมดได้มีการประชุมหารืออย่างสม่ำเสมอ ได้รับทราบข้อมูลจากฝ่ายสหรัฐฯ และนักวิทยาศาสตร์ไทยอย่างรอบด้าน

๓. สำหรับข้อห่วงกังวลว่า โครงการนี้อาจสร้างความหวาดระแวงแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เครื่องบินของ NASA อาจบินผ่าน รวมถึงประเทศจีน เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๕ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายไทย ยืนยันภารกิจของ NASA ว่าเป็นภารกิจด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้แจ้งประเทศในภูมิภาคแล้ว และไม่มีประเทศใดคัดค้าน โดยเฉพาะสิงคโปร์และกัมพูชาได้ยินยอมให้เครื่องบินของ NASA บินผ่านน่านน้ำสากลที่แต่ละประเทศดูแล นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้มีหนังสือชี้แจงสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เข้าใจเรื่องนี้ด้วยแล้ว ซึ่งฝ่ายจีนไม่มีข้อห่วงกังวลในเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก NASA ได้เคยดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ประเทศญี่ปุ่น และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงมาแล้ว

๔. เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้นำเรื่องการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ การประชุมรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ศกนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และจะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

๕. ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยว่า NASA จำเป็นต้องยกเลิกโครงการนี้ หากฝ่ายไทยไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้ภายในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอที่จะดำเนินโครงการ อย่างไรก็ดี หากต้องยกเลิกโครงการดังกล่าวจริง ทาง NASA ก็มีความเข้าใจฝ่ายไทย เนื่องจากในขณะนี้ การขอใช้สนามบินอู่ตะเภากลายเป็นประเด็นทางการเมืองภายใน

สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการดำเนินโครงการฯ มีดังนี้

๑. การส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ

๒. โอกาสในการเสริมศักยภาพของหน่วยงานด้านการพยากรณ์สภาพอากาศ และการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นข้อมูลที่ไทยไม่เคยรับทราบมาก่อน และโดยที่การเลือกประเทศไทยในการดำเนินโครงการ เนื่องมาจากประเทศไทยอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม คือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ทางสหรัฐอเมริกายืนยันว่า ทุกเส้นทางที่ขึ้นบินต้องแจ้งกองทัพไทย อีกทั้งยังมีเครื่องบินของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ