รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแลกเปลี่ยนความเห็นในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 10, 2012 11:15 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๕ รวมทั้งการหารือเต็มคณะและการหารืออย่างไม่เป็นทางการในระหว่างการประชุมดังกล่าว ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งภายหลังการประชุม นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. ที่ประชุมได้ติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ในการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ ตลอดจนได้หารือในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน

๒. ภายใต้ระเบียบวาระการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงวิกฤตยูโรโซน โดยได้แสดงความเห็นว่าแม้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แต่อาเซียนมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมรับมือผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว โดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องควรหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

๓. ในเรื่องเมียนมาร์ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ว่าประชาคมระหว่างประเทศควรที่จะตระหนักถึงบทบาทของประธานาธิบดีเมียนมาร์ในการผลักดันการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ประชาคมระหว่างประเทศจึงควรสนับสนุนความพยายามของประธานาธิบดีเมียนมาร์ รวมทั้งสนับสนุนให้นางออง ซาน ซูจี ทำงานร่วมกับประธานาธิบดีเมียนมาร์ เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ในการนี้ อาเซียนควรสนับสนุนเมียนมาร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม และเรียกร้องให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรต่างๆ ต่อไป

๔. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวยินดีกับการที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ โดยมองว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมเสถียรภาพ และความมั่งคั่งของภูมิภาค ทั้งนี้ ในการดำเนินความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ ควรเน้นความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน

๕. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งได้พัฒนาเป็นความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเจริญเติบโตและความมั่นคั่งของภูมิภาค อาเซียนและจีนจึงไม่ควรมองเรื่องทะเลจีนใต้ ในลักษณะความขัดแย้ง แต่ควรมองว่าจะนำไปสู่โอกาสสำหรับความร่วมมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย ในฐานะที่ไทยจะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน ไทยจะดำเนินการอย่างดีที่สุดเพื่อผลักดันการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) และดำเนินการเพื่อให้กระบวนการยกร่างแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) คำนึงถึงความเห็นและความสบายใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ