รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

ข่าวต่างประเทศ Monday December 3, 2012 11:51 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการจัดทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ณ กระทรวงการต่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) สรุปสาระสำคัญดังนี้

๑. กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากรณีที่มีประชาชนยื่น เรื่องขอให้จัดทำคำประกาศยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court — ICC) โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าร่วมฯ

๒. ที่ประชุมฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ได้มีการบันทึกความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไว้ โดยที่ประชุมฯ เห็นควรให้นำเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจาก นพ.เหวง โตจิราการ และการหารือระหว่างนาง Fatou Bensouda อัยการ ศาลอาญาระหว่างประเทศกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๔๒ และยืนยันโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔

๓. คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงาน ๑๘ ราย อาทิ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นประธานคณะกรรมการ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในฐานะรองประธานกรรมการ พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น

๔. คณะกรรมการดังกล่าวถูกตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาการลงนามและการเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งไทยได้ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน เนื่องจากมีประเด็นพิจารณาที่ยังค้างอยู่ ในการนี้ ที่ประชุมฯ จึงเห็นควรให้นำเรื่อง (๑) กรณีที่ไทยจะเข้าเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบันธรรมนูญ กรุงโรมฯ และ (๒) กรณีข้อร้องเรียนจาก นพ.เหวง โตจิราการ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อขอความชัดเจนมาประกอบกับความเห็นของที่ประชุมฯ ต่อไป โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศได้ให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมายเชิญประชุมคณะกรรมการฯ ในโอกาสแรก

๕. คณะกรรมการดังกล่าวจะต้องหาข้อสรุปก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งหน่วยงานใดควรเป็นเจ้าของเรื่อง ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้อง

๖. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความเห็น/ข้อห่วงกังวลของหน่วยงานต่าง ๆ นั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า หลายหน่วยงานได้แสดงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่อาจต้องมีการแก้ไขในอนาคต อาทิ พรบ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. ๒๕๓๕ พรบ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๒๗ กฎหมายเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ตลอดจนการออกกฎหมายให้ครอบคลุมฐานความผิดทั้ง ๔ ประเภทของ ICC

๗. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่าเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา ๑๙๐ หรือไม่ นั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาโดยขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๘. ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนว่าการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลจะเกิดผลกระทบจากข้อ ๒๗ ของธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ต่อมาตราข้อ ๘ ของรัฐธรรมนูญไทย หรือไม่ นั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า คณะกรรมการดังกล่าวได้เคยประชุมและหารือประเด็นดังกล่าว เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการฯ ที่กำลังจะมีขึ้น ที่ประชุมจะได้หารือประเด็นนี้ด้วยเพื่อ หาข้อสรุปว่า การปกครองของไทยแตกต่างจากประเทศที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีอย่างไร ทั้งนี้ ไทยคงต้องแจ้งศาลอาญาระหว่างประเทศว่าประเด็นใดที่ไทยดำเนินการได้ และไม่ได้ แค่ไหนอย่างไร เพราะหลายประเทศ ในโลกได้เข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว

๙. ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถรับพิจารณาเฉพาะเรื่องได้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศเคยแจ้งตนว่า สามารถพิจารณาเป็นกรณี ๆ หรือจำกัดเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุได้ โดยระบุวันและเฉพาะเรื่อง ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาเมื่อเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ทำงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ