คำกล่าวเปิดงานวันอาเซียน โดยนายมนัสวี ศรีโสดาพล รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ณ โถงวิเทศสโมสร

ข่าวต่างประเทศ Friday August 8, 2014 13:34 —กระทรวงการต่างประเทศ

คณะทูตานุทูตอาเซียนในประเทศไทย

แขกผู้มีเกียรติ

คณาจารย์ และนักเรียนทุกท่าน

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านที่ได้มาร่วมกิจกรรม “งานวันอาเซียน (ASEAN Day)” ที่กระทรวงการต่างประเทศในวันนี้

วันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการก่อตั้งอาเซียน เป็นโอกาสที่เราจะได้รำลึกถึงคนรุ่นก่อนที่ได้ริเริ่มและวางรากฐานของอาเซียนไว้ในอดีต รวมทั้งเป็นโอกาส

ที่เราจะได้ทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจและกำหนดทิศทางในอนาคตต่อไป

ฯพณฯ พันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน

เพียงท่านเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีอายุครบ 100 ปี ในปีนี้ คือผู้เสนอความคิดและผลักดัน

ให้อาเซียนกำเนิดขึ้น เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเลือกทางเดินของตัวเอง และพึ่งพากันเองได้ ท่ามกลางสถานการณ์ในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในยุคสงครามเย็น

ความฝันของท่านถนัดฯ ในการก่อตั้งอาเซียน คือการเห็นทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมเป็นหนึ่งเดียว

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ อาเซียนได้ผ่านความท้าทายในหลายรูปแบบ จนในที่สุด ความฝันของท่านถนัดฯ ก็กลายเป็นจริง เมื่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ โดยไทยคือผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความฝันนี้ ไทยได้เชิญผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศมาประชุมพร้อมกัน

ที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2538 (SEA-10 Summit) ซึ่งนำไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ เวียดนามในปี 2538 สปป. ลาวและเมียนมาร์ในปี 2540 และกัมพูชาในปี 2542 ตามลำดับ

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อาเซียนมี “DNA” ของไทยอยู่อย่างชัดเจน

(ไทยกับอาเซียน)

บนพื้นฐานของความสำเร็จในอดีต เรากำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปีหน้า ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม เราจะเป็นประชาคมแห่งความมั่นคง ประชาคมแห่งความมั่งคั่ง ประชาคมที่มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

แต่ก่อนจะก้าวไปสู่อนาคต เราจำเป็นต้องถามตัวเราเองก่อนว่า วันนี้ เราพร้อมหรือยัง?

เราได้เห็นความพยายามในทุกระดับเพื่อก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

ดังจะให้เห็นได้จากเอกสารผลลัพธ์การประชุมมากมาย แต่ความฝันที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยทุกประเทศสมาชิกจะต้องก้าวไปพร้อมกัน ไม่ปล่อยให้ใครตามอยู่ข้างหลัง

อาเซียนคือคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย นักท่องเที่ยวจากอาเซียนคือนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางมาไทย และอาเซียนก็เป็นทั้งประเทศผู้ลงทุนและเป้าหมายการลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ดังนั้น ความเจริญก้าวหน้าทั้งของไทยและอาเซียนจึงยึดโยงเกี่ยวเนื่องกัน

อย่างแยกไม่ขาด และโดยที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มและสานต่อความฝันของท่านถนัดฯ

จนอาเซียนมีสมาชิกครบทั้ง 10 ประเทศ อาเซียนจึงเป็นทั้งผลประโยชน์และความรับผิดชอบของไทยที่จะต้องผลักดันให้มีความก้าวหน้าต่อไป

(การเตรียมความพร้อมของไทย)

การเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศ

การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม คือสิ่งที่ไทยต้องดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาเซียน แต่เป้าหมายในการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 เป็นเหมือนแรงกระตุ้นที่ทำให้เราต้องเร่งดำเนินการและใช้ความพยายามยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แม้ประชาคมอาเซียนจะประกอบด้วยสามเสาหลัก การดำเนินการเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในแต่ละเสาก็ไม่อาจแยกจากกันได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและก้าวไปพร้อม ๆ กัน เปรียบเหมือนการสร้างบ้านที่เสาทุกต้นช่วยกันค้ำจุนให้บ้านมั่นคงแข็งแรง

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เห็นความสำคัญของการเตรียม

ความพร้อมของประเทศไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงได้ตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานร่วมคู่กับกระทรวงกลาโหมในคณะอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนในส่วนของเสาการเมืองและความมั่นคง

ในการขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ผมเห็นว่าสิ่งที่เราจะต้องเร่งดำเนินการมีด้วยกัน 3 ประการ

ประการแรกคือ การปรับกฎหมาย โครงสร้าง และกลไกการทำงานของหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชนให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเกิดขึ้นตลอดเวลาได้ โดยเราต้องทำให้มากกว่าแค่การปฏิบัติตามพันธกรณีในกรอบอาเซียน หากเราต้องการจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในระดับภูมิภาค แต่ก้าวไปสู่ระดับสากล

ประการที่สองคือ การสร้าง “อัตลักษณ์อาเซียน” และการสร้าง “จิตสำนึก” ของความเป็นประชาคมเดียวกัน การไม่มองประเทศสมาชิกอื่น ๆ ว่าเป็นคู่แข่ง แต่เป็น partners ที่จะเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กัน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ไม่ได้อาศัยแค่การเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอาเซียน ดำเนินการมาโดยตลอด แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนกรอบการคิด (mindset) ของทุกฝ่าย ให้มองไปให้ไกลกว่าผลประโยชน์ของประเทศ แต่รวมถึงผลประโยชน์ของทั้งภูมิภาคด้วย

ประการสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุดในการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนคือ การเปิดให้ประชาชนในทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประชาคมอาเซียนในอนาคต เราจำเป็นต้องเปิดกว้างเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป เพื่อให้สิ่งที่เรากำลังจะดำเนินการเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และสิ่งที่เราจะดำเนินการต่อไปหลังจากปี 2558 สะท้อนผลประโยชน์ ความต้องการ และค่านิยมของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ แต่รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน

(สรุป)

ในที่สุด การทำให้ไทยมีความพร้อมอย่างแท้จริงคงต้องอาศัยความร่วมมือจาก

ทุกภาคส่วน รวมถึงเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของทั้งไทยและอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศจัดให้มีการแข่งขันตอบปัญหาอาเซียนในช่วงเช้าวันนี้ ก็เพราะเล็งเห็นบทบาทและความสำคัญดังกล่าวของเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ของชาติ

บัดนี้ ได้เวลาอันควรแล้ว ผมขอเปิดงานวันอาเซียนประจำปี 2557 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราทุกคนจะช่วยกันสร้างประชาคมอาเซียนที่สามารถนำมาซึ่งความสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศและภูมิภาคของเรา และช่วยกันทำให้ความฝันที่ท่านถนัดฯ

ได้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มไว้เป็นความจริง และเกิดผลสำเร็จตามความคาดหวังของทุกฝ่ายในทุก ๆ ด้าน

ขอบคุณครับ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ