ผลการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 19, 2014 14:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๖ (6th Mekong –Japan Summit) เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ เนปิดอว์ เมียนมาร์

ที่ประชุมหารือความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ๓ ด้าน ตามยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๒ ได้แก่ (๑) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำโขง ซึ่งเน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและประชาชนเป็นศูนย์กลาง (๒) การพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งเน้นดำเนินการตาม “วิสัยทัศน์การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำโขง” เพื่อพัฒนาฐานการผลิตร่วมกัน โดยสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมและการอำนวยความสะดวกต่อกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศสมาชิก และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (๓) ความมั่นคงมนุษย์และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง

ที่ประชุมให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุนในลุ่มน้ำโขงเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างฐานการผลิตเดียวในภูมิภาค การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าบริเวณด่านชายแดน การเชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ และการพัฒนาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘

นอกจากนี้ สนับสนุนความร่วมมือภาครัฐและเอกชน การพัฒนา SME ตลอดจนความร่วมมือกับกรอบอนุภูมิภาคอื่น อาทิ Lower Mekong Initiative และ Friends of the Lower Mekong ริเริ่มโดยสหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรีไทยยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นเสริมสร้างฐานการผลิตในลุ่มน้ำโขง ผ่านการลงทุนในลักษณะบวกหนึ่ง เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งไทยพัฒนาเส้นทางถนนเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก และพร้อมร่วมมือพัฒนาถนนกอกะเร็ก-เมาะลำไย

ไทยมีข้อริเริ่มเพื่อรองรับการลงทุน อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามแนวชายแดน ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคในไทย และไทยเห็นความจำเป็นในการร่วมมือด้านการจัดการและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยยินดีเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นในการจัดประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ ๓ ที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ไทยยังเน้นย้ำการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร การวิจัย และฝึกอบรม และแสวงหาลู่ทางร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพด้านราคาและรายได้ของเกษตร

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ