ไทยเข้าร่วมการประชุมมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างสมัยพิเศษว่าด้วยการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 10, 2015 16:39 —กระทรวงการต่างประเทศ

การประชุมมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างสมัยพิเศษว่าด้วยการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน (Extraordinary Friends of the Lower Mekong Sub-Cabinet Level Meeting on Mekong Sustainability) ได้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒ - ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ เมืองปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ในประเด็นท้าทายของภูมิภาคในปัจจุบัน ได้แก่ ประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงานซึ่งมีความคาบเกี่ยวกัน (Nexus of Food, Water and Energy Security) โดยมีหัวข้อการหารือ อาทิ การบูรณาการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การวางแผนและการบริหารจัดการภายใต้บริบทการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ตลอดจนมาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายนภดล เทพพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวย้ำความคาบเกี่ยวของสามประเด็นข้างต้น และเห็นว่าช่วงเวลาการจัดประชุมเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ทั้งนี้ ประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) โดยยกตัวอย่างแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังย้ำถึงบทบาทของไทยที่พร้อมจะให้ความร่วมมือในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และเห็นว่าข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ (Eminent and Expert Persons Group - EEPG) ในการประชุม Regional Working Group ภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เมื่อวันที่ ๒๙ - ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ที่กรุงเทพฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการประชุมในครั้งนี้ นอกจากนี้ มิตรประเทศลุ่มน้ำโขงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคาบเกี่ยวของอาหาร น้ำ และพลังงาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปีในสหรัฐอเมริกา แม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบในยุโรป ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่า การพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศซึ่งมีพรมแดนติดกับแม่น้ำโขงและต้องได้รับการสนับสนุนผ่านการทำการเกษตรที่มีนวัตกรรม การบริหารจัดการน้ำและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องมีมาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมยังเห็นความสำคัญในการมีระบบส่งไฟฟ้าในภูมิภาค ตลอดจนการสนับสนุนประเทศลุ่มน้ำโขงด้านเทคนิค จากมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) นอกจากนี้ ที่ประชุมยินดีต่อข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างด้วย

การประชุมมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เป็นเวทีและกลไกที่จะเสริมสร้างการประสานงานระหว่างประเทศผู้ให้ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารโลกและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) ร่วมกับสหรัฐฯ ภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ