ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดของกิจกรรมคู่ขนานระดับสูง หัวข้อ "Catalysing Implementation and Achievement of the Water Related SDGs"

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 29, 2015 13:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี

ในพิธีเปิดของกิจกรรมคู่ขนานระดับสูง

หัวข้อ "Catalysing Implementation and Achievement of the Water Related SDGs"

ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘

ท่านประธานาธิบดี

ท่านรัฐมนตรี

ท่านประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๐

ท่านรองเลขาธิการสหประชาชาติ

ท่านผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

๑. ประเทศไทยมีความยินดีที่ได้ร่วมจัดกิจกรรมคู่ขนานระดับสูงครั้งนี้กับสาธารณรัฐทาจิกิสถาน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และประเทศสมาชิก Steering Committee of the Group of Friends of Water

๒. ในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้ช่วยให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงน้ำและมีการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น และได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านน้ำ

๓. วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี พ.ศ. ๒๕๗๓ ที่ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ให้การรับรองเมื่อสองวันก่อน จะช่วยสานต่อการดำเนินการ และขับเคลื่อนความพยายามของประชาคมโลกในการดำเนินการด้านน้ำที่ครอบคลุมมากขึ้น ดังที่สะท้อนในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ ๖ ซึ่งนอกจากจะกล่าวถึงการมีน้ำดื่มที่ปลอดภัยและการสุขาภิบาลที่พอเพียงแล้ว ยังเน้นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพน้ำและการบริหารจัดการน้ำเสีย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีบูรณาการ และการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวกับน้ำ

๔. ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการดำรงชีพเสมอมา อย่างไรก็ตาม โดยคำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและครอบคลุม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีความต่อเนื่องในการดำเนินการ พร้อมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาดำเนินการ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน กับการรักษาสิ่งแวดล้อม

๕. ในปีนี้ รัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๑๒ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๙) ซึ่งมียุทธศาสตร์ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อวางกรอบการดำเนินการอย่างเป็นระบบครบวงจร เน้นการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของภาคประชาชนในแต่ละท้องถิ่น และอยู่ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติน้ำ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ในทุกมิติ

๖. ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ ไทยจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรใน ๓ ระดับ ได้แก่

(๑) การจัดการแหล่งน้ำ เน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน ซึ่งมีส่วนในการรักษาระบบนิเวศและสร้างสมดุลทางธรรมชาติ อีกทั้ง มีแผนการผันน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากักเก็บไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับประเทศ

(๒) การใช้น้ำ ตั้งเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านกว่า ๗,๐๐๐ หมู่บ้านทั่วประเทศมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพของประชาชนโดยที่ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของประชาชนในชนบทของไทย จึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงของน้ำสำหรับภาคการผลิต โดยจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษา และบริหารจัดการความต้องการในการใช้น้ำให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างการอุปโภคบริโภค ในภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโดยปรับปรุงฐานข้อมูลด้านน้ำและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีเอกภาพมากขึ้น

(๒) การบริหารจัดการน้ำเสีย โดยการลดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด และเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งควบคุมการรุกตัวของน้ำเค็ม

๗. นอกจากการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรแล้ว รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ ผ่านการใช้มาตรการเชิงรุก อาทิ การพัฒนาพื้นที่รับน้ำนอง ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่าโครงการ “แก้มลิง” สำหรับชะลอน้ำหลากเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้งได้อีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยขุดลอกคูคลองและหลีกเลี่ยงการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนขวางทางน้ำไหล

๘. น้ำไม่สามารถรับรู้ถึงพรมแดนที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องน้ำในทุกระดับจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น นอกจากการบริหารจัดการน้ำภายในประเทศแล้ว ไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนเสมอมา และได้ดำเนินการผ่านกรอบระดับอนุภูมิภาค เช่นคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของน้ำในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านปฏิญญาเชียงใหม่

๙. น้ำคือชีวิต น้ำคือความอยู่รอดของมนุษยชาติ น้ำเกี่ยวข้องกับทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และทุกคนในการบริหารจัดการน้ำ และเราควรใช้ทุกโอกาสเพื่อผลักดันให้น้ำเป็นกลไกสร้างความร่วมมือ เพื่อความกินดีอยู่ดี การเติบโตของเศรษฐกิจ ตลอดจนความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

๑๐. ขอบคุณครับ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ