การเสนอรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 12, 2016 13:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ คณะผู้แทนไทยนำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้นำเสนอรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕ ที่นครเจนีวา

ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวถ้อยแถลงมีใจความสำคัญว่า ประเทศไทยยึดมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้นำข้อเสนอแนะของประเทศต่าง ๆ จากการนำเสนอรายงาน UPR รอบแรกเมื่อปี ๒๕๕๔ ไปปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์และมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการเข้าเป็นภาคีและการถอนข้อสงวนที่มีต่อตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ เช่น การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร สิทธิเด็ก การขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรี สิทธิคนพิการ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตราและปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ กองทุนยุติธรรม การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง การคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศผ่านสื่อลามกอนาจาร การต่อต้านการทุจริตและการค้ามนุษย์ ตลอดจนการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ อีกทั้งอยู่ระหว่างการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศยิ่งขึ้น

คณะผู้แทนไทยได้รับฟังข้อเสนอแนะและตอบชี้แจงคำถามจากประเทศต่าง ๆ รวม ๑๐๒ ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย อาทิ การปราบปรามการค้ามนุษย์ สิทธิแรงงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สตรี คนชรา คนต่างด้าว การบังคับใช้กฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุม สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม การจัดการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ประเทศต่าง ๆ ได้แสดงความชื่นชมต่อพัฒนาการของการส่งเสริมสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของไทยซึ่งส่งผลเป็นรูปธรรม อาทิ สิทธิของกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ มาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ การประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเท่าเทียมระหว่างเพศ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ การปฏิรูปกฎหมาย และการให้สัตยาบันและการถอนข้อสงวนที่มีต่อตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีข้อห่วงกังวลที่สำคัญ คือ เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม การพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร การกักตัวตามอำเภอใจ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติโดยที่ควรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนความเห็นได้อย่างเสรี

คณะผู้แทนไทยจะพิจารณาแจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบถึงข้อเสนอแนะของประเทศต่างๆ ที่ไทยพร้อมตอบรับทันทีในวันศุกร์ที่ ๑๓ พ.ค. ๕๙ และจะนำข้อเสนอแนะอื่นๆ ไปพิจารณาเพิ่มเติมโดยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ไทยสามารถแจ้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทราบถึงข้อเสนอแนะที่ตอบรับเพิ่มเติมดังกล่าวได้ก่อนเดือน ก.ย. ๕๙

กลไก UPR เป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เน้นการส่งเสริมให้แต่ละประเทศสามารถให้ข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนกับประเทศอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์และเท่าเทียม ในลักษณะของเพื่อนแนะนำเพื่อน โดยข้อเสนอแนะต่างๆ ขยายรวมไปถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างทุกภาคส่วนของสังคม และระหว่างประเทศ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ