การสัมมนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา ในหัวข้อ “ไทยกับแอฟริกา: โอกาส มิตรภาพ และความร่วมมือ”

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 14, 2016 13:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เวลา ๙.๐๐-๑๙.๐๐ น. กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับแอฟริกา ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา และนายบาฮาร์ อิดรีส อาบู การ์ดา (Mr. Bahar Idris Abu Garda) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐซูดาน กล่าวปาถกฐาในงาน

การสัมมนาแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ

๑) การเสวนาในหัวข้อ “ไทยกับแอฟริกา: โอกาส มิตรภาพและความร่วมมือ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิภาคแอฟริกาในภาพรวมให้แก่สาธารณชนทั่วไป โดยมีนายจริยวัฒน์ สันตะบุตร อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี กรุงไคโร และกรุงเบอร์ลิน นายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และพันเอก ณัฐพล แสงจันทร์ ผู้อำนวยการกองการฝึกและศึกษา กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นวิทยากร และศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ วิทยากรได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแอฟริกาในมุมมองต่าง ๆ เช่น ความหลากหลายในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของทวีปแอฟริกา การให้ความช่วยเหลือด้าน การพัฒนาของไทยในแอฟริกา การปฏิบัติการรักษาสันติภาพของไทยในแอฟริกา นักศึกษาไทยมุสลิมในแอฟริกา การท่องเที่ยวในแอฟริกา และการเตรียมความพร้อมในการเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา เป็นต้น

๒) การเสวนาในหัวข้อ “โอกาสด้านการค้าและการลงทุนในแอฟริกา” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของไทยในแอฟริกาแก่ผู้ประกอบการของไทย โดยมีนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร้อยโท สรวุฒิ ปรีดีดิลก อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ปฏิบัติราชการที่กรมเอเชียใต้ฯ นายอรรจน์สิทธิ สร้อยทอง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และนายปรีชา ตรีสุวรรณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ บมจ. ซิม เทคโนโลยีและประธานสภาธุรกิจไทย-แทนซาเนีย เป็นวิทยากร และนายประสม แฟงทอง ผู้อำนวยการกองแอฟริกา เป็นผู้ดำเนินรายการ ในช่วงดังกล่าว วิทยากรได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดด้านการเมืองและเศรษฐกิจของแอฟริกา รวมทั้งโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของไทยในประเทศต่าง ๆ ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ วิทยากรยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในทวีปแอฟริกาให้กับผู้เข้าร่วมการเสวนาด้วย

๓) การเสวนาในหัวข้อ “โอกาสด้านการค้าและการลงทุนในสาธารณรัฐโมซัมบิก” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการของไทยรับทราบถึงโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของไทยในโมซัมบิก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต สาธารณรัฐโมซัมบิก เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากนางมาเรีย กุสตาวา (H.E. Mrs. Maria Gustava) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงจาการ์ตา นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐโมซัมบิกประจำประเทศไทย นายอรรจน์สิทธิ สร้อยทอง จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายต่อศักดิ์ โชติมงคล นายกสมาคมการค้าไทย-โมซัมบิก นางเดลฟินา ออกซิลโล มูอิโอชา (Mrs. Delfina Auxillo Muiocha) ผู้แทนกระทรวงประมง สาธารณรัฐโมซัมบิก นาง Paloma Rola ผู้แทนบริษัท Campanhia do Buzi (CB) สาธารณรัฐโมซัมบิก เป็นวิทยากร โดยมีนายรัศม์ ชาลีจันทร์ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในระหว่างการเสวนา ยังมีนาย Louren?o Samb อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotion Centre-CPI) สาธารณรัฐโมซัมบิก ร่วมพูดคุยและตอบคำถามกับผู้เข้าร่วมการเสวนา ผ่านระบบ video conference ด้วย ทั้งนี้ ผู้แทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของโมซัมบิกได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาส วิธีการและขั้นตอนการดำเนินธุรกิจในโมซัมบิกในหลายสาขา อาทิ การค้า การประมง การเกษตร อุตสาหกรรมอัญมณี และพลังงาน เป็นต้น ซึ่งรองอธิบดีกรมสารนิเทศได้แสดงความพร้อมของกระทรวงการต่างประเทศ ในการอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในโมซัมบิกด้วย

การสัมมนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ ๒๕๐ คน ประกอบด้วยนักศึกษา นักธุรกิจ ข้าราชการและประชาชน นอกจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะได้รับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังได้มีโอกาสระดมสมองร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับยุทธศาสตร์ของไทยต่อแอฟริกาให้เป็นปัจจุบัน อันเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย “การทูตประชารัฐ (inclusive diplomacy)” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของชาติที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ