หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: จากไทยสู่โลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 21, 2016 13:23 —กระทรวงการต่างประเทศ

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: จากไทยสู่โลก

ดอน ปรมัตถ์วินัย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในวันที่ 23 กันยายน 2559 นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ที่มีสมาชิกเป็นประเทศกำลังพัฒนากว่า 134 ประเทศ จะกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ริเริ่มไว้เมื่อปี 2558

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในยุคปัจจุบันนั้น มีปัญหาและความท้าทายทั้งเก่าและใหม่เกิดขึ้นมาบนโลกอย่างต่อเนื่อง และปัญหาที่ถือเป็นต้นเหตุสำคัญของความท้าทายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ปัญหาผู้พลัดถิ่น โรคติดต่อร้ายแรง ภัยธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติและการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาความยากจนและความมั่นคงทางอาหาร ยังรุมเร้าประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก และทำให้ประชาคมระหว่างประเทศต่างใฝ่หาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนย่อมนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนในระยะยาว

อย่างไรก็ดี หนึ่งปีที่ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกลุ่ม 77 นั้น ประเทศไทยได้แสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน แต่สามารถปฏิบัติได้จริงและมีตัวอย่างให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในประเทศไทยมาอย่างช้านานไม่ว่าจะเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แก้ปัญหาความยากจน เช่น โครงการหลวงที่ดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์ ขุนวาง และโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งทำให้พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความยากจนจนต้องพึ่งพาการปลูกสิ่งเสพติด กลายเป็นแหล่งผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและสินค้าพื้นบ้านทั้งสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ประเทศไทยก็มีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่กว่า 40 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้ผู้หญิงไทยทั้งในพื้นที่ทุรกันดารและชาวเขาได้รับการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์ศิลปะพื้นบ้านของไทย ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า สร้างรายได้และพัฒนาบทบาทของสตรีในครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยที่ตั้งของประเทศไทยที่เผชิญกับความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะทั้งมรสุมและความแห้งแล้งในแต่ละฤดูกาล ซึ่งประเทศไทยก็มีการเดินทางแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างโครงการแก้มลิง การสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ และเขื่อนเพื่อรองรับปัญหาอุทกภัย ซึ่งไม่เพียงแต่ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ แต่ยังเป็นการพัฒนาการกระจายทรัพยากรน้ำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้นอีกด้วย

อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมทั้งเมืองใหญ่และชนบท คือการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ละเลยข้อนี้ และได้ทุ่มเทกับการดำเนินการตามแผนแม่บทอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นสากลเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุน และการเพิ่มพูนการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนสู่ประชาชน ล้วนทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในพื้นที่ห่างไกล สร้างอาชีพและการศึกษาซึ่งจะเป็นการพัฒนาการเคลื่อนย้ายทางสังคมไทยอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางอาหาร ด้วยการลดการพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืช และการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ตรงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชทดแทน และการเกษตรแบบผสมผสาน รวมทั้งมีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเกษตรกรโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อให้ความรู้ในการนำหลักการมาใช้ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้ประเทศอื่น ๆ ที่สนใจ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและแอฟริกา

นอกจากนี้ ด้านการสาธารณสุขซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานและขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ประชาชนกว่า 1 ใน 3 ของประเทศที่แต่เดิมไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม สามารถเข้ารับการรักษาในราคาที่ย่อมเยา อีกทั้งในปัจจุบัน รัฐบาลได้จัดตั้งระบบบริการสุขภาพชุมชน ที่ส่งเสริมการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลประจำพื้นที่ชุมชน ช่วยให้ประชาชนไม่ว่าใกล้และไกลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานได้

ตลอดหนึ่งปีในฐานะประธานกลุ่ม 77 ประเทศไทยได้มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์เป็นโครงการและนโยบายที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนซึ่งในการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 71 ที่จะถึงนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนา เพื่อสร้างอนาคตที่เข้มแข็งสำหรับประชาคมโลกต่อไป

*****

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ