ความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2560

ข่าวต่างประเทศ Monday April 3, 2017 13:37 —กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2560 ฉบับภาษาอังกฤษ (Progress Report) ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเผยแพร่ให้ต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ โดยนำเสนอความต่อเนื่องในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จากรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย ปี 2559 (ฉบับภาษาอังกฤษ) ใน 5 มิติ (5P) ได้แก่

ด้านนโยบาย (Policy) นำเสนอความคืบหน้าของการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพิ่มโทษผู้กระทำผิด และชดเชยคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้ดีขึ้น ตลอดจนส่งเสริมบูรณาการการทำงานและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลคดีค้ามนุษย์ ระหว่างตำรวจ DSI อัยการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านการค้ามนุษย์

ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) นำเสนอผลความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ (1) การลดจำนวนคดีปี 2558 ที่ยังค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลให้หมดไปในปี 2560 (2) ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีข้อหาเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จำนวน 6 คน (3) คดีค้ามนุษย์ที่ภูเรือซึ่งเป็นตัวอย่างของบูรณาการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วยกันและกับ NGO การใช้แนวปฏิบัติแบบใหม่ในการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ การช่วยเหลือเหยื่อแบบครบวงจร และการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์

ด้านการคุ้มครอง (Protection) นำเสนอพัฒนาการในเรื่องการช่วยเหลือดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ อาทิ (1) ความคืบหน้าของมาตรการให้เหยื่อและพยานคดีค้ามนุษย์อยู่ในไทยได้ 2 ปี (2) การจัดหางานให้เหยื่อค้ามนุษย์ที่พักอยู่สถานพักพิง โดยอนุญาตให้ทำงานได้ทุกประเภทงาน และให้เงินช่วยเหลือรายวัน วันละ 300 บาท ในระหว่างรอทำงานหรือฝึกงาน

ด้านการป้องกัน (Protection) นำเสนอความก้าวหน้าของการจัดระเบียบแรงงานในภาคประมงที่รัดกุมขึ้น อาทิ (1) การออกสมุดประจำตัวลูกเรือประมงชาวต่างชาติ (Seabook) ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครขอรับสมุดประจำตัวฯ แล้วประมาณ 43,000 คน (2) การจัดทำฐานข้อมูลลูกเรือ (3) การนำระบบติดตามเรือ VMS Generation 2 มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (4) มาตรการป้องปรามด้าน Sex Tourism และการค้าประเวณีเด็ก และการจัดการปัญหาขอทาน

ด้านความร่วมมือ (Partnership) นำเสนอ (1) การเริ่มมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญาต่อต้านการค้ามนุษย์ของอาเซียน (ACTIP) (2) บทบาทนำของไทยในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างครบวงจรตั้งแต่ประเทศต้นทาง และ (3) ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุด เมื่อมีนาคม 2560 มีการลงนามความตกลง CyberTipline Remote Access Policy ระหว่าง TICAC ของไทยกับ NCMEC ของสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการละเมิดทางเพศทางไซเบอร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยมุ่งมั่นแก้ไขและขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาสากลและสั่งสมมายาวนาน เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งชาวไทยและแรงงานต่างชาติ โดยการดำเนินการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลที่มุ่งสร้างสรรค์ประเทศไทยให้มีความมั่นคง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน เสริมสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม และปรับปรุงระบบบริหารราชการของภาครัฐ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ