ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการหารือรัฐมนตรีสาธารณสุขกลุ่ม FPGH ช่วงการประชุมสมัชชาอนามัยโลก

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 15, 2017 14:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการหารือช่วงอาหารเช้าระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุขกลุ่มประเทศสมาชิก Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH) ณ นครเจนีวา โดยการสนับสนุนของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา โดยมีนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนอร์เวย์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เอกอัครราชทูต รองผู้แทนถาวรบราซิลประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และผู้แทนจากคณะผู้แทนถาวรเซเนกัลประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เข้าร่วม

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้แก่ การจัดประชุม High – Level FPGH Retreat และการกล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่มในการประชุม 2nd Global Consultation on Migrant Health ที่กรุงโคลัมโบ ซึ่งผู้เข้าร่วมชื่นชมว่าการจัด Retreat ที่กรุงเทพฯ เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางดำเนินงานของกลุ่มในอนาคต จากนั้น ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี ๒๕๖๐ เช่น การปรับปรุง Oslo Ministerial Declaration ให้ทันสมัยในในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการจัดตั้งกลุ่ม การเสนอร่างข้อมติประจำปีต่อที่สมัชชาสหประชาชาติ รวมถึงการเสนอให้วันที่ ๑๒ ธันวาคม เป็น UHC Day ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือ

จากนั้น ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการทำงานของกลุ่ม FPGH กับ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกคนใหม่ เช่น (๑) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข โดยมีสาธารณสุขมูลฐานเป็นพื้นฐานในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) (๒) การจ้างงานบุคลากรด้านสาธารณสุข (๓) การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (๔) การเข้าถึงยาและการรักษาอย่างเท่าเทียม (๕) การจัดลำดับความสำคัญของประเด็น การจัดสรรงบประมาณและการสร้างความโปร่งใสและน่าเชื่อถือให้แก่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเสนอร่างข้อมติของกลุ่ม (Global Health and Foreign Policy - GHFP) ภายใต้หัวข้อ การแก้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มเปราะบางเพื่อสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน โดยที่ประชุมเห็นควรให้มีความยืดหยุ่นในการกล่าวถึงกลุ่มเปราะบางของประเทศต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ อาจใช้นิยามของกลุ่มเปราะบางตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (2030 Agenda for Sustainable Development)

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ