การเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๒ (The 72nd Session of the United Nations General Assembly – UNGA 72)

ข่าวต่างประเทศ Friday September 15, 2017 13:37 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๒ (UNGA72) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๔ กันยายน ๒๕๖๐

การประชุม UNGA 72 มีนายมีโรสลัฟ ไลชัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐสโลวัก เป็นประธาน และมีหัวข้อหลักคือ “ประชาชนคือศูนย์กลาง: มุ่งมั่นสร้างสันติภาพและชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนบนโลกที่ยั่งยืน” (Focusing on people: striving for peace and a decent life for all on a sustainable planet) สะท้อนความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างสันติภาพและการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคนเป็นศูนย์กลาง และสอดคล้องกับลำดับความสำคัญด้านนโยบายของนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน

การประชุม UNGA 72 จะเป็นเวทีสานต่อบทบาทของไทยในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ เมื่อปี ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยเฉพาะการประสานท่าทีระหว่างกลุ่ม ๗๗ กับกลุ่มประเทศอื่นๆ และการผลักดันวาระที่เป็นผลประโยชน์ของไทยและของกลุ่ม ๗๗ อาทิ การจัดการภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ไทยริเริ่มและผลักดันนโยบาย SEP for SDGs Partnership เพื่อเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับสูง และกิจกรรมคู่ขนานต่าง ๆ อาทิ

(๑) การกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป แสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการต่อยอดผลงานและความสำเร็จ (success stories) ในช่วงที่เป็นประธานกลุ่ม ๗๗ และขับเคลื่อนการอนุวัติ SDGs ภายใต้แนวคิด “Think Globally, Act Locally. Think SDGs, Act SEP” ในทั้งสามเสาหลักของสหประชาชาติ ย้ำความสำคัญของความร่วมมือ

ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความร่วมมือใต้ – ใต้ การสร้างหุ้นส่วนทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ส่งเสริมการปฏิรูปด้านโครงสร้างและการบริหารจัดการของสหประชาชาติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ระบบสหประชาชาติ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

(๒) การเป็นเจ้าภาพร่วมและการรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของกิจกรรมระดับสูงว่าด้วยการปฏิรูปสหประชาชาติ (Political Declaration for UN Reform High Level Event) ตามคำเชิญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนเลขาธิการสหประชาชาติในการปฏิรูปสหประชาชาติ และส่งเสริมบทบาทของไทยที่ร่วมปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในกระบวนการปฏิรูปสหประชาชาติ

(๓) การเข้าร่วมพิธีลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐ เห็นชอบการลงนาม และการให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ โดยไทยจะเป็น ๑ ใน ๕๐ ประเทศแรกที่ให้สัตยาบัน ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีไทยในฐานะรัฐผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the South East Asia Nuclear-Weapon-Free Zone - SEANWFZ) ด้วย

(๔) การเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นจัดกิจกรรมคู่ขนานเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยประสบความสำเร็จและมีความเชี่ยวชาญ และมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ UHC เป็นวาระระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ให้แนวปฏิบัติที่ดีแก่ประเทศอื่นๆ ที่สนใจสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย โดยในปี ๒๕๖๐ ไทยทำหน้าที่ประธาน Foreign Policy and Global Health (FPGH) ซึ่งมีสมาชิก ๗ ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และไทย โดยวาระที่ไทยผลักดันในฐานะประธานกลุ่มในปีนี้ ได้แก่ การแก้ปัญหาสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน

(๕) การเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานระดับสูงเรื่อง “การสร้างหุ้นส่วนเพื่อการสนับสนุนด้านการเงินกลไกติดตามและการอนุวัติ SDGs: การแบ่งปันนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือใต้ – ใต้ และไตรภาคี” (Partnering for SDGs Implementation, Financing and Monitoring; Sharing Innovations of South – South and Triangular Cooperation) เพื่อย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้ เพื่อสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา ผ่านการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือในลักษณะทวิภาคี ไตรภาคี และผ่านกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค และผลักดันให้การอนุวัติ SDGs ในระดับภูมิภาคเชื่อมโยงกับระดับโลก ทั้งนี้ ไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของ United Nations Office for South-South Cooperation (UNOSSC) และกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงาน UNOSSC เป็นเวลา ๑ ปีด้วย

(๖) การประชุม Asia Cooperation Dialogue (ACD) Ministerial Meeting ซึ่งเป็นกรอบที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งเพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และทำหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงาน โดยล่าสุดไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙

(๗) การประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ ครั้งที่ ๔๑ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “บทบาทของกลุ่ม ๗๗ ในการส่งเสริมวาระเพื่อการพัฒนา” ซึ่งจะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มในช่วงการเป็นประธานกลุ่ม ๗๗

(๘) การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting - IAMM) ซึ่งจะเป็นโอกาสในการหารือแนวทางการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติในมิติต่างๆ

อนึ่ง ในช่วงการประชุม UNGA 72 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะพบหารือทวิภาคีกับประเทศพันธมิตรสำคัญหลายประเทศเพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ