การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 9, 2018 16:50 —กระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร (Thailand – United Kingdom Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๑ โดยมีนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายมาร์ค ฟิลด์ (Mark Field) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งรับผิดชอบด้านเอเชียและแปซิฟิก (Minister of State for Asia and the Pacific at the Foreign and Commonwealth Office) เป็นประธานร่วม

ที่ประชุมได้หารือถึงโอกาสการลงทุนในประเทศไทยภายใต้นโยบายประเทศไทย ๔.๐ และโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่ต้องกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าของทั้งสองฝ่ายภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยฝ่ายไทยได้หยิบยกความห่วงกังวลเรื่องโควตาการนำเข้าไก่ของสหราชอาณาจักร และได้ขอให้ฝ่ายสหราชอาณาจักรพิจารณาการคงโควต้าเดิม หรือเพิ่มโควตาให้สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกไก่ของไทยไปยังสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน

ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายที่จะฝึกอบรมครูภาษาอังกฤษอีกเป็นจำนวนถึง ๑๓,๐๐๐ ราย ภายใต้โครงการ STEM and Entrepreneurship Education และโครงการ Boot Camps เป็นรูปแบบการฝึกอบรมวิทยากร (Train the Trainers) ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ยั่งยืนสามารถต่อยอดได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายสหราชอาณาจักรพิจารณาถึงโอกาสการลงทุนด้านการศึกษาภายใต้โครงการ EEC

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมนโยบายประเทศไทย ๔.๐ และโครงการ EEC ได้แก่ (๑) ด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology – FinTech) (๒) ด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน (Aerospace) และ (๓) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation – STI) ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความหวังที่จะขยายความร่วมมือภายใต้โครงการนิวตัน (Newton UK – Thailand Research and Innovation Partnership) ซึ่งปัจจุบันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างองค์กรการวิจัยของทั้งสองประเทศ

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองในสหราชอาณาจักรและในประเทศไทย โดยฝ่ายสหราชอาณาจักรชื่นชมพัฒนาการไปสู่การเลือกตั้งของไทย และทั้งสองฝ่ายแสดงความหวังว่า จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันในอนาคต ในบริบทที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกข้อมติเมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ในเรื่องการปรับความสัมพันธ์กับประเทศไทย โดยให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ

ทั้งสองฝ่ายได้ทบทวนพัฒนาการความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงในช่วงปี ๒๕๖๐ ซึ่งมีการพบหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่าย และมีการลงนามใน MOU ว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งนำไปสู่การวางแนวทางความร่วมมือในด้านดังกล่าวที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในการนี้ที่ประชุมได้ชื่นชมความสำเร็จของการฝึกอบรมร่วมภายใต้โครงการ Panther Gold ครั้งที่ ๑ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐

ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและในประเด็นภูมิภาค ได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ปัญหาการค้ามนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้หยิบยกอุปสรรคในเรื่องการตรวจลงตราสำหรับพ่อครัวกับแม่ครัวไทย และการตรวจลงตราสำหรับนักเรียนไทย ซึ่งฝ่ายสหราชอาณาจักรรับที่จะหาแนวทางในบรรเทาปัญหาดังกล่าวต่อไป ภายหลังจากการหารือเชิงยุทธศาสตร์ฯ ไทยจะเป็นเจ้าภาพในการหารือด้านการกงสุล (Consular Dialogue) ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

อนึ่ง ก่อนการหารือฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการการเมืองของไทยตาม Roadmap ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะโครงการ EEC ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านการศึกษา

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ