ไทยดำเนินคดีกับเรือไร้สัญชาติจำนวน ๗ ลำ

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 15, 2018 15:53 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องดำเนินคดีกับเรือไร้สัญชาติจำนวน ๗ ลำ ใน ๓ คดี ได้แก่ (๑) ความผิดเกี่ยวกับการนำเอกสารปลอมมาแจ้งการรายงานเข้า-ออกท่าเรือ และแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน (๒) ความผิดด้านแรงงาน โดยนำลูกเรือมาทำงานบนเรือในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และ (๓) ความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยได้มีการสอบสวนพยานซึ่งเป็นลูกเรือชาวอินโดนีเซีย ๙ คน และฟิลิปปินส์ ๖ คน รวม ๑๕ คน พบว่าถูกแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานบนเรือ และได้ขยายผลไปสู่การจับกุมดำเนินคดีนายหน้าผู้จัดหาลูกเรือในข้อหาค้ามนุษย์

เรือทั้ง ๗ ลำ ได้แก่ เรือ ABUNDANT 1 เรือ ABUNDANT 3 เรือ ABUNDANT 6 เรือ ABUNDANT 9 เรือ ABUNDANT 12 เรือ YUTUNA No. 13 และเรือ SHUN LAI ทั้งหมดเป็นเรือประมงเบ็ดราวทูน่า ได้เข้าเทียบท่าเรือที่ จ.ภูเก็ต โดยอ้างว่ามาจอดเพื่อซ่อมตัวเรือ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเรือเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ซึ่งพบความผิดปกติเกี่ยวกับทะเบียนเรือที่ระบุเป็นเรือสัญชาติโบลิเวีย สำนักงานเจ้าท่า จ.ภูเก็ต จึงได้ตรวจสอบไปยังประเทศโบลิเวีย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ได้รับการยืนยันจากทางการโบลิเวียว่าเรือประมงกลุ่มดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนสัญชาติโบลิเวีย หรือมีใบอนุญาตทำประมงโบลิเวีย เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับตัวแทนเจ้าของเรือจำนวน ๓ ราย

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับกัปตันเรือ และยึดเรือประมงทั้ง ๗ ลำเป็นของกลางในคดีอาญา เจ้าหน้าที่กรมประมงได้เข้าตรวจสอบสมุดบันทึกประจำเรือ และอุปกรณ์ติดตามเรือบนเรือ เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำแต่ไม่พบปลาบนเรือทั้ง ๗ ลำ ในขณะที่ ศปมผ. ได้ให้ความช่วยเหลือลูกเรือตามหลักมนุษยธรรม โดยหลังจากสอบปากคำลูกเรือประกอบการดำเนินคดี ก็ได้ส่งลูกเรือทั้งหมดกลับประเทศต้นทางไปเรียบร้อยแล้ว

เรือประมงทั้ง ๗ ลำ มีสถานะเป็นเรือประมงไร้สัญชาติ ซึ่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีบทบัญญัติรองรับฐานความผิดของเรือไร้สัญชาติ และเรือที่ปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนเครื่องหมายประจำเรือประมงหรือทะเบียนเรือประมง โดยให้อำนาจอธิบดีกรมประมงสั่งกักเรือประมงที่กระทำผิด ในกรณีที่มิใช่เรือประมงไทย และจะถูกจับและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

ปัจจุบันไทยได้มีการดำเนินการตามมาตรการของรัฐเจ้าของท่าเรือที่ไทยเป็นภาคีอย่างเคร่งครัด โดยจะมีการตรวจสอบเรือประมงและเรือขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำต่างชาติที่จะนำสัตว์น้ำมาขึ้นท่าที่ประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมกับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่นำเข้า ร่วมกับรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่า เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าที่ประเทศไทยไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย

กรณีเรือประมงไร้สัญชาติทั้ง ๗ ลำข้างต้น แม้ไม่พบปลาบนเรือและไม่ได้นำสัตว์น้ำมาขึ้นท่า แต่ก็ได้นำไปสู่การปรับแก้ไข พ.ร.ก. การประมง ฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งกำหนดไว้ว่า เรือประมงต่างชาติไม่ว่าจะมีสัตว์น้ำหรือไม่มีสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเพื่อขอเข้าท่าตามระยะเวลาที่ประกาศกรมประมงกำหนด ซึ่งเป็นการปิดช่องโหว่ของกฎหมายป้องกัน มิให้เรือประมงต่างชาติผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


แท็ก อัยการ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ