คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสภายุโรปชื่นชมความก้าวหน้าด้านแรงงานในภาคประมงของไทย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 25, 2018 13:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ คณะผู้แทนคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสภายุโรป (DROI) นำโดยนาย Pier Antonio Panzeri ประธาน DROI ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องสถานการณ์แรงงานในประเทศไทย การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว การส่งเสริมมาตรฐานแรงงานของไทย และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจ้งให้คณะทราบถึงความคืบหน้าในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ ซึ่งแล้วเสร็จกว่า ๑.๑๘ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๙๐ ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันจากการถูกเอาเปรียบหรือการใช้แรงงานบังคับจากนายจ้าง และจะได้รับการดูแลการจ่ายค่าจ้างให้เป็นไปตามสัญญา โดยเฉพาะแรงงานประมงที่กฎหมายระบุให้ต้องได้รับค่าจ้างผ่านธนาคาร นอกจากนี้ ไทยยังได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจแรงงานอย่างเข้มข้นทั้งที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) และในทะเลโดยสหวิชาชีพ โดยหากพบการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี หรือการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจะแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจทันที โดยมีโทษจำคุกการใช้แรงงานเด็กในภาคประมงไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ต่อ ๑ คน และในการค้ามนุษย์จะมีโทษยึดทรัพย์และจำคุกสูงกว่า ๑๐ ปี ด้วย

คณะฯ ยินดีต่อรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทยว่า พบการใช้แรงงานเด็กในภาคประมงน้อยกว่าร้อยละ ๑ ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์แรงงานในภาคประมงนั้นปรับตัวดีขึ้น และสนับสนุนให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำว่าไทยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อให้การปฏิรูปด้านแรงงานของไทยก้าวหน้าขึ้นไปอีก

คณะฯ ยังได้เดินทางไปเยือนศูนย์ PIPO จังหวัดสมุทรสาคร โดยได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบเรือและลูกเรือประมงของศูนย์ PIPO โดยจะมีการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด อาทิ สัญญาจ้าง ทะเบียนลูกจ้าง หลักฐานการจ่ายค่าจ้างผ่านธนาคาร และหลักฐานเวลาพัก การตรวจสอบความเป็นอยู่และสภาพการทำงาน การสังเกตและตรวจจับการถูกละเมิดสิทธิ การทำร้ายร่างกาย การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ โดยเจ้าหน้าที่ได้รับการอบรมมาเฉพาะทาง นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานจริงของพนักงานตรวจแรงงานที่บริเวณท่าเรือและบนเรือ ตามระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่าด้วยการตรวจแรงงานและการดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิดที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นต้นมา ซึ่งมีการระบุขั้นตอนการตรวจและการดำเนินคดีที่ชัดเจนหากพบการกระทำความผิด ซึ่งจะส่งผลให้การตรวจแรงงานเป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น คณะฯ ยังได้ชมขั้นตอนการตรวจอัตลักษณ์จากเครื่องสแกนใบหน้า และการสุ่มสัมภาษณ์ลูกเรือในห้องที่แยกเฉพาะด้วย

คณะฯ แจ้งว่าไทยมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงและการทำประมงผิดกฎหมาย โดยทราบดีถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์จากการลงตรวจพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครของนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับองค์การ ILO ประจำประเทศไทย การให้สัตยาบันพิธีสารของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ รวมทั้งการเตรียมการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ตลอดจนการชี้แจงตอบโต้รายงานของ Human Rights Watch ของทางการไทย คณะฯ ยังได้สนใจสอบถามรายละเอียดการตรวจแรงงานในบางด้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ตอบข้อซักถามและอธิบายขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไทยได้นำมาตรการต่าง ๆ มาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ