คณะกรรมการการประมงของสภายุโรปชื่นชมความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาประมง IUU ของไทย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 31, 2018 13:34 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าพบหารือกับคณะกรรมการการประมงแห่งสภายุโรป (European Parliament's Committee on Fisheries: PECH) ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม โดยมีนางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และผู้แทนจากกรมเจ้าท่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ประจำประเทศไทยเข้าร่วมด้วย

ฝ่ายไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการปฏิรูปภาคประมงทั้งระบบ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศปลอดจากการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยไทยได้วางมาตรการและกลไกแก้ไขปัญหาในทุกด้านไว้อย่างครบถ้วนแล้ว และกำลังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลไกเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยกลไกที่สำคัญ ได้แก่ (๑) ด้านกฎหมาย พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และอนุบัญญัติอีกกว่า ๑๐๐ ฉบับ ได้เปลี่ยนโฉมการประมงของไทยจากที่เคยทำได้อย่างอิสระมาสู่การประมงแบบควบคุมที่มีความสมดุลปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ (๒) ด้านการจัดการประมง ซึ่งมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมปัญหาการทำประมงเกินขนาด ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมเครื่องมือประมง การควบคุมวันทำประมง และการออกใบอนุญาตทำประมงที่สอดคล้องกับปริมาณสัตว์น้ำ (๓) ด้านการจัดการกองเรือ ซึ่งไทยสามารถลดจำนวนเรือประมงพาณิชย์จนเหลือ ๑๐,๖๑๒ ลำ และได้วางมาตรการไม่ให้เรือผิดกฎหมายกลับเข้ามาในระบบ (๔) ด้านการควบคุมและเฝ้าระวัง ผ่านอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System: VMS) บนเรือ การตรวจสอบของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (Port-in Port-out Control Center: PIPO) การตรวจกลางทะเล และการตรวจ

ปลาที่หน้าท่า โดยมีศูนย์เฝ้าระวังการทำประมงเป็นกลไกประสานการทำงานของระบบควบคุมทุกส่วน (๕) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดกว่า ๔,๔๔๘ คดี มีการปรับค่าปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า ๔๐๐ ล้านบาท รวมถึงออกมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และ (๖) ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งไทยได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำทั้งจากในและนอกประเทศตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเลแล้ว

นอกจากนี้ ไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาแรงงานภาคประมงในหลายด้านควบคู่ไปด้วย ซึ่งทำให้สถานการณ์แรงงานประมงดีขึ้นตามลำดับ โดยมีสถิติการใช้แรงงานเด็กและการทำร้ายร่างกายแรงงานประมงลดลงไปอย่างมาก ความก้าวหน้าเหล่านี้เป็นผลสำเร็จของความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยไทยพร้อมที่จะเป็นแบบอย่างให้กับภูมิภาคอาเซียน และการเป็นหุ้นส่วนในการรักษาธรรมาภิบาลมหาสมุทรโลก

สมาชิก PECH ได้แสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาประมง IUU ของไทย ซึ่งเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง ๓ ปี และยอมรับถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดของไทยในการพลิกสถานการณ์ประมง IUU และแรงงานประมงผิดกฎหมาย ไปสู่การประมงที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่ง PECH ได้ติดตามการทำงานของไทยมาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้น และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีตามลำดับ และสนับสนุนให้ไทยแก้ไขปัญหาที่ยังเหลืออยู่ให้ลุล่วงต่อไป และแสดงความหวังว่าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือของสหภาพยุโรปในการต่อต้านการทำประมง IUU ในระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต ซึ่งฝ่ายไทยได้กล่าวขอบคุณ PECH ที่สนับสนุนและให้คำแนะนำต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์และกำลังใจอย่างมากต่อหน่วยงานไทยที่ทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาตลอดช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ