การประชุม Asia-Pacific Regional Meeting on AIDS, Tuberculosis and Universal Health Coverage: Country Experiences, Challenges and Solutions

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 11, 2018 13:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๑ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (Joint United Nations Programme on HIV/AIDS – UNAIDS) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency – JICA) โครงการความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพโลก และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) จัดการประชุม “Asia-Pacific Regional Meeting on AIDS, Tuberculosis and Universal Health Coverage: Country Experiences, Challenges and Solutions” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ

ในการประชุมดังกล่าว นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และนาย Shigeki Miyake ผู้แทนอาวุโส องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ร่วมกล่าวเปิดงาน จากนั้น นาย Eamonn Murphy ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNAIDS ได้กล่าวปาฐกถา

ในช่วงเช้าของการประชุมเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับการดำเนินการและนโยบายด้านโรคเอดส์ วัณโรค และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage – UHC) จากผู้แทนประเทศในภูมิภาค ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย ร่วมกับผู้แทนภาคประชาสังคม WHO และ JICA โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๕๐ คน จากหน่วยงานภาครัฐ สถานเอกอัครราชทูต องค์การระหว่างประเทศภาคประชาสังคม และภาควิชาการ จากนั้นในช่วงบ่าย ได้นำผู้อภิปรายและผู้สนใจไปศึกษาดูงานที่สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีแนวปฏิบัติที่ดีในการให้บริการรักษาโรคเอดส์และวัณโรคภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมความร่วมมือในด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ในภูมิภาค หลังจากที่ไทยได้ผลักดันให้วันที่ ๑๒ ธันวาคม เป็นวันสุขภาพถ้วนหน้าสากลได้สำเร็จในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ โดย JICA UNAIDS WHO ล้วนชื่นชมระบบ UHC ของไทย และความร่วมมือระหว่างไทยกับ JICA เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของไทยต่อต่างประเทศ

ผลของการประชุมจะเป็นประโยชน์ต่อการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ ๗๓ เรื่องการต่อสู้กับวัณโรคในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ และการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่อง UHC ในปีหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากข้อมติที่ไทยและกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative (FPGH) เสนอ

อนึ่ง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๕๘ วัณโรคเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ ๑ ของโรคติดเชื้อซึ่งสูงกว่าโรคเอดส์ โดย ๒ ใน ๓ ของผู้ป่วยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมักพบการติดเชื้อร่วมกันระหว่างสองโรคนี้ ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ ๔๕๐,๐๐๐ ราย และติดเชื้อใหม่ปีละประมาณ ๖,๐๐๐ ราย ส่วนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ราย ซึ่งไทยถือเป็น ๑ ใน ๑๔ ประเทศที่มีภาวะวัณโรคสูง ทั้งนี้ ไทยได้ตั้งเป้ายุติปัญหาเอดส์ในปี ๒๕๗๓ และลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่เหลือ ๑๐ รายต่อประชากรแสนคนในปี ๒๕๗๘

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ