การบรรยายพิเศษ และการเสวนาเกี่ยวกับการศึกษาโบราณคดีบ้านเชียง ฉลอง 185 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - สหรัฐฯ

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 20, 2018 15:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับสถาบันโบราณคดีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Institute for Southeast Asian Archaeology - ISEAA) ของสหรัฐฯ จะจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และมุมมองใหม่ ของการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในปัจจุบัน ในโอกาสการฉลองครบรอบ 185 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี โดยได้เชิญผู้แทนส่วนราชการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาจารย์และนักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว และสื่อมวลชน

กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญ ดร. Joyce White ผู้อำนวยการ ISEAA และหนึ่งในคณะขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงร่วมไทย - สหรัฐฯ เมื่อปี 2517 พร้อมด้วย ดร. Marie-Claude Boileau ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องปั้นดินเผา และนักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เดินทางมาประเทศไทยระหว่างวันที่ 17 - 23 กันยายน 2561 ในฐานะวิทยากรพิเศษ เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมในการศึกษา วิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง โดยเฉพาะการใช้แนวทางพหุสาขา (multidisciplinary approach) อาทิ โบราณโลหะวิทยา พฤกษศาสตร์โบราณคดี เพื่อช่วยเพิ่มมิติการเรียนรู้เข้าใจที่กว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่บ้านเชียงและบริเวณใกล้เคียงกันในยุคก่อนประวัติศาสตร์

กิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้น ได้แก่ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ“บทเรียนจากบ้านเชียงในการแก้ไขปัญหาโลก” โดย ดร. Joyce White ในวันที่ 19 กันยายน 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และการสัมมนาวิชาการ ระหว่างวันที่ ๒๐ - 21 กันยายน 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

ความร่วมมือไทย - สหรัฐฯ เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงดำเนินมากว่า 50 ปี นับจากที่นายสตีเฟ่น ยัง บุตรชายอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้พบกลุ่มหม้อไหโบราณที่ทับถมกันอยู่ในพื้นที่ของตำบล บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โดยบังเอิญ นำไปสู่การร่วมขุดสำรวจพื้นที่และศึกษาวิจัยระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ทำให้ค้นพบแหล่งอารยธรรมในช่วงยุคหินใหม่ที่มีอายุประมาณ 5,000 ปีก่อนประวัติศาสตร์ ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการยอมรับจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกแห่งที่ ๔ ของไทยเมื่อปี 2535

ความร่วมมือไทย - สหรัฐฯ ส่งผลสำเร็จก้าวหน้าเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินตามพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งเสด็จพระราชดำเนินยังพื้นที่ขุดสำรวจเมื่อปี 2515 ซึ่งทรงย้ำความสำคัญของการร่วมศึกษาวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ระหว่างหน่วยงานไทยกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการและเผยแพร่ข้อมูลพร้อมจิตสำนึกอนุรักษ์ให้ชาวบ้านในพื้นที่และผู้มาเยี่ยมชม สายสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่ผูกโยงผ่านเรื่องโบราณคดีบ้านเชียงจึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนว่าภาคประชาชนสามารถเป็นได้ทั้งจุดเริ่มต้น ปัจจัยขับเคลื่อน และปลายทางของความร่วมมือที่ส่งผลสนองประโยชน์ รวมทั้งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะร่วมอนุรักษ์มรดกโลกแห่งนี้สืบไป

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ