รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๓

ข่าวต่างประเทศ Friday September 21, 2018 14:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๓ (UNGA73) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๒๒ กันยายน – ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ มีหัวข้อหลักคือ “การทำให้สหประชาชาติมีความเชื่อมโยงกับประชาชน : การเป็นผู้นำระดับโลก และร่วมรับผิดชอบเพื่อสังคมที่สันติสุข มีความเท่าเทียม และมีความยั่งยืน” หรือMaking the United Nations Relevant to All People: Global Leadership and Shared Responsibilities for Peaceful, Equitable and Sustainable Societies

ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับสูง และกิจกรรมคู่ขนานต่าง ๆ อาทิ

๑. การกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑

๒. การเป็นเจ้าภาพร่วมในงาน The Global Call to Action on the World Drug Problem ตามคำเชิญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองระหว่างประเทศในการเสริมสร้างความร่วมมือและดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหายาเสพติด โดยมีประเทศอื่น ๆ ร่วมด้วย จำนวน ๒๗ ประเทศ

๓. พิธียื่นสัตยาบันสารของไทยต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty - CTBT) ซึ่งไทยได้ลงนาม เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ และมีบทบาทในกิจกรรมของ CTBT ต่อเนื่องมาโดยตลอด และให้ความสำคัญกับการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction - WMD) รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์

๔. การประชุม High-Level Event on “Youth 2030” to Launch the UN Youth Strategy and the Generation Unlimited Partnership ซึ่งเป็นการเปิดตัวยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนระบบสหประชาชาติให้ดำเนินงานส่งเสริมความสำคัญของเยาวชน และการเปิดตัว Generation Unlimited Partnership ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของ UNICEF เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมการศึกษา การสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการจ้างงาน และการเสริมพลังของเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนสตรี

๕. กิจกรรม High-Level Event on Action for Peacekeeping (A4P) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติ และร่วมรับรองปฏิญญาคำมั่นร่วมกันเกี่ยวกับปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (Declaration of Shared Commitments on UN Peacekeeping Operations) เพื่อเป็นคำมั่นร่วมกันระหว่างรัฐสมาชิกที่จะเสริมสร้างปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนสอดคล้องกับการพัฒนาและการทำให้สันติภาพมีความยั่งยืน

๖. การประชุม Asia Cooperation Dialogue (ACD) Ministerial Meeting ซึ่งเป็นกรอบที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งเพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และทำหน้าที่เป็นประเทศผู้ประสานงาน โดยล่าสุด ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙

๗. การประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มในช่วงการเป็นประธานกลุ่ม ๗๗

๘. การประชุมในกรอบอาเซียน อาทิ การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting - IAMM) การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Informal ASEAN - US Ministerial Meeting) และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประธานสมัชชาสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติ (ASEAN - UN Ministerial Meeting - AUMM) ซึ่งจะเป็นโอกาสในการหารือแนวทางส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ และคู่เจรจาในมิติต่าง ๆ

๙. การพบหารือทวิภาคีกับประเทศพันธมิตรสำคัญ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

การประชุม UNGA73 จะเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงบทบาทในวาระระดับโลกที่สำคัญและสอดคล้อง กับผลประโยชน์ของไทย เช่น การสร้างหุ้นส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณสุข การโยกย้ายถิ่นฐานโดยไม่ปกติและปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานลี้ภัย การลดอาวุธ การบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเป็นโอกาสรณรงค์ขอรับการสนับสนุนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council - ECOSOC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๐ – ๒๐๒๒ ของไทย ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ อีกด้วย

อนึ่ง ในช่วงการประชุม UNGA73 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุขจะเข้าร่วมการประชุมระดับสูงเรื่องวัณโรค การประชุมระดับสูงเรื่องโรคไม่ติดต่อ และกิจกรรมคู่ขนานเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงบทบาทที่แข็งขันในด้านสาธารณสุข เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงนโยบายในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ ๓ (การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) และผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ