การสัมมนาวิชาการและการประชุมระดมสมองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ครั้งที่ ๒ ในหัวข้อ Mobilising STI for SDGs: Partnerships for Sustainable Development

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 22, 2018 13:27 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ จัดงานสัมมนาวิชาการและการประชุมระดมสมองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ครั้งที่ ๒ ในหัวข้อ Mobilizing STI for SDGs: Partnerships for Sustainable Development ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation – STI) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพื่อผลักดันการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในภาควิชาการและภาคส่วนอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวต้อนรับและเปิดงานสัมมนา โดยย้ำบทบาทสำคัญของภาควิชาการในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและความสำคัญของการทูตวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) ในการเป็นเครื่องมือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งการใช้กลไกความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคีมาส่งเสริมขีดความสามารถของไทย และการแบ่งปันองค์ความรู้ของไทยสู่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Balance of SDGs and STI for Thailand 4.0” โดยกล่าวว่า โลกในศตวรรษที่ ๒๑ มีลักษณะ ๓ ประการ คือ เป็นยุคที่มีความสุดโต่ง (The Age of Extremity) ทั้งด้านธรรมชาติ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ เป็นยุคที่มีความย้อนแย้ง (The Age of Paradox) เช่น เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalisation) แต่ต้องคำนึงถึงบริบทในพื้นที่ (Localisation) เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน (The Age of Disruption) จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยโลกในปัจจุบันมีความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับเทคโนโลยี ดังนั้น การดำเนินการสู่การบรรลุ SDGs ของโลก คือ การเปลี่ยนจากความไม่สมดุล (imbalance) เป็นการสร้างความสมดุล (re-balance) สำหรับไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ซึ่งคือการสร้างความสมดุล มาปฏิบัติ ในขณะที่ STI เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อน SDGs และสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรจากภาควิชาการที่ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ได้แก่ Prof. Dr. Harro von Blottnitz จากมหาวิทยาลัย Cape Town สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ บรรยายพิเศษเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ต่อชุมชนและสังคม ผศ.ดร. ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บรรยายเรื่องการสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม โดยเปลี่ยนสถาบันการศึกษาให้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม พร้อมยกตัวอย่างกรณีของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือที่เชียงใหม่ Dr. Choon Heng Leong จากศูนย์เจฟฟรีย์ แซคส์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัย Sunway มาเลเซีย ได้เล่าถึงขั้นตอนการจัดตั้งและดำเนินงานของเครือข่ายภาควิชาการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของมาเลเซีย (Sustainable Development Solutions Network – SDSN Malaysia) พร้อมกล่าวสนับสนุนให้ไทยจัดตั้ง SDSN Thailand

กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อน SDGs เป้าหมายที่ 17 (SDG 17) เรื่อง หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships) มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยงานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เข้าร่วมจำนวนกว่า ๑๕๐ คน

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ